ไม่พบผลการค้นหา
ประชุมรัฐสภาถก ร่างแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง 6ฉบับ โดย ‘หัวหน้าเพื่อไทย’ ดันแก้มาตราเกี่ยวกับโทษยุบพรรค จากบุคคลภายนอกชี้แนะ หวั่นใช้เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ด้าน ‘ก้าวไกล’ ชงเลิกโทษยุบพรรค ให้ประชาชนตัดสินผ่านเลือกตั้ง

วันที่ 24 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ภายหลังที่ประชุมมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง 4 ฉบับ และได้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาแล้ว จึงได้พักการประชุม 5 นาที เมื่อเปิดประชุมต่อได้พิจารณาวาระด่วน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 6 ฉบับ ในวาระที่1 ขั้นรับหลักการต่อทันที ซึ่งประกอบด้วย

1.ร่างฉบับ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ 2.ร่างฉบับที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กับคณะ เป็นผู้เสนอ

3.ร่างฉบับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ     4.ร่างฉบับวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อกับคณะ เป็นผู้เสนอ

5.ร่างฉบับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ เป็นผู้เสนอ และ 6.ร่างฉบับ อนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ กับคณะ เป็นผู้เสนอ

ชลน่าน ประชุมรัฐสภา 4-0FD3431151D0.jpegชลน่าน เพื่อไทย -AF46-4F70-9C61-36847B6A2285.jpeg

‘เพื่อไทย' ดันแก้โทษยุบพรรค ปมบุคคลภายนอกชี้แนะ ย้ำเหตุให้ยุบ ต้อง 'ล้มล้างการปกครอง'

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง อภิปรายหลักการและเหตุผลว่า เนื่องด้วย พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มีบทบัญญัติบางประการที่เป็นอุปสรรคและจำกัดเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง และการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของบุคคล บางเรื่องเป็นภาระของพรรคการเมืองเกินสมควร ไปจนถึงการกำหนดเหตุของการยุบพรรคการเมืองที่มีมากเกินไป จึงอาจมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อยุบพรรคการเมืองได้โดยง่าย รวมไปถึงกฏหมายอื่นๆ ที่เห็นควรให้แก้ไข 

หนึ่งในเรื่องที่เสนอแก้ไขคือ มาตราที่ว่าด้วยคุณสมบัติในการรับสมัครสมาชิกพรรคการเมือง เพราะสิทธิการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การจำกัดด้วยเหตุของการถูกจับกุมคุมขังต่างๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เคร่งมากสำหรับการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. แต่นำมาใช้กับการสมัครสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้บุคคลจำนวนมากขาดโอกาส จึงขอให้ยกเลิกคุณสมบัตินี้ออกไป รวมทั้งการเก็บค่าบำรุงสมาชิกพรรคการเมือง อันถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง แม้ค่าบำรุงชั่วคราวหรือรายปี ปีละ 100 บาท สมาชิกถาวรคือ 2,000 บาท ดูเหมือนจะไม่มากแต่สร้างปัญหาให้ประชาชน และสุ่มเสี่ยงที่จะใช้เงื่อนไขนี้เป็นเหตุให้กระทำผิดตามกฎหมายเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองได้ จึงขอให้ยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว 

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่ 28-29 ซึ่งเป็นที่พูดถึงอย่างมาก พรรคเพื่อไทยถูกกล่าวหาว่า มีการยัดไส้แก้ไขมาตรานี้เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาครอบงำ ชี้นำ ควบคุมกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทยมองว่าหากปล่อยให้มาตรานี้มีการใช้ถ้อยคำที่ตีความได้อย่างมากมาย จะเป็นอันตรายต่อทุกพรรคการเมืองที่เป็นศัตรูของผู้มีอำนาจในขณะนั้น จึงขอเพิ่มเติมในวรรคที่สอง ว่า การกระทำในวรรคหนึ่งมิให้รวมถึงการชี้แนะ ให้คำปรึกษา ให้ข้อมูล พรรคการเมืองเพื่อประกอบกิจกรรมทางการเมือง ถือเป็นการขยายความให้ชัดเจนมากขึ้น และเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองทั่วโลกก็ทำกันอยู่แล้ว แต่พรรคการเมืองไทยไม่มีถ้อยคำเหล่านี้ไปรองรับเพื่อให้เกิดการตีความอย่างชัดแจ้ง รวมถึงเพื่อป้องกันการตีความเพื่อกลั่นแกล้งได้ด้วย 

นพ.ชลน่าน ระบุว่า หากจะนำมาตรานี้มาเป็นเงื่อนไข สิ่งที่ต้องคำนึงคือ พรรคการเมืองในยุคนี้เป็นพรรคการเมืองประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเท่านั้นที่จะมีส่วนร่วมได้ บุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะเสนอแนะให้ข้อมูลหรือคำปรึกษาก็สามารถกระทำได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน หากจะตีความตามนี้ การทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นเพื่อจัดทำนโยบายนั้น ก็อาจถูกกล่าวหาได้ว่าพรรคการเมืองยินยอมให้มีผู้ครอบงำชี้นำ ขาดความอิสระ และหาเรื่องยุบพรรคเพื่อไทยได้ 

"การยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองทุกพรรคหวั่นไหวมาก โดยเฉพาะพรรคที่อยู่ตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคฝ่ายค้าน เราต้องเขียนให้ชัดขึ้นว่าเหตุของการยุบพรรคการเมือง น่าจะมีเฉพาะกรณีเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น และที่สำคัญในคำวินิจฉัยของศาลจะต้องมีหลักฐาน โดยปราศจากข้อสงสัย" 

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน มองว่าทั้ง 6 ร่างที่เสนอมา มีความสอดคล้องใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างกันในบริบท อยากให้รัฐสภามีมติรับทุกร่าง เหมือน พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อครู่นี้ และต้องขอขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่ให้โอกาสนำไปพูดคุยกันต่อในชั้นกรรมาธิการ

วรภพ ก้าวไกล -978D-4A1C-9CCA-0A026B05931E.jpeg

‘ก้าวไกล' ชูพรรคการเมืองต้อง ตั้งง่าย-ยุบยาก เสนอยกเลิกโทษยุบพรรค

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง มอบหมายให้ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอหลักการและเหตุผลว่า วันนี้เป็นโอกาสที่ดี ที่อย่างน้อย เราจะได้มาแก้ไขผลรวมของรัฐบาลยุค คสช. ที่ออกร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ซึ่งทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะผู้ร่างไม่ได้ใช้ และผู้ใช้ไม่มีโอกาสจะได้ร่าง ดังนั้น ร่าง พ.ร.ป.ว่่าด้วยพรรคการเมืองของพรรคก้าวไกล จึงยืนอยู่บนหลักการว่า ถ้าพรรคการเมืองเข้มแข็งก็จะสามารถเป็นสถาบันการเมืองที่สะท้อนความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด โดยพรรคการเมืองจะเข้มแข็งได้ ต้องจัดตั้งง่าย ดำเนินการง่าย และยุบยาก 

พรรคก้าวไกล เสนอให้แก้ไขกฏหมายเกี่ยวกับการสมัครสมาชิกพรรคการเมือง โดยการยกเลิกข้อบังคับให้ผู้สมัครสมาชิกต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคการเมือง ให้เปลี่ยนเป็นแต่ละพรรคกำหนดกันเอง ซึ่งเชื่อได้ว่าคงไม่มีพรรคไหนเก็บค่าสมัครในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ รวมทั้งเสนอให้แก้ไขเกณฑ์การอุดหนุนของกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ที่จะอุดหนุนพรรคการเมืองสัดส่วนค่าสมาชิก เปลี่ยนเป็นการอุดหนุนพรรคการเมืองตามสัดส่วนสมาชิกพรรค เมื่อพรรคการเมืองได้รับเงินอุดหนุนแล้ว ก็จะมีทุนในการดำเนินกิจการทางการเมือง จัดทำนโยบาย สร้างนักการเมืองมืออาชีพ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งกลุ่มทุนผูกขาดต่างๆ ที่สุดท้ายแล้วก็ต้องไปตามตอบแทนกลุ่มทุนเหล่านี้เมื่อเข้าไปมีอำนาจแล้ว 

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลยังเสนอให้แก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคให้ง่ายขึ้น คือเสนอให้ยกเลิกมาตราที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีเงินทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท เช่นเดียวกับมาตราที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องหาจำนวนสมาชิกให้ครบ 500 คน และต้องมีสาขาให้แต่ละภาค ภายในเวลา 1 ปี ซึ่งทั้งสองเงื่อนไขนี้เป็นตัวกีดกันให้พรรคการเมืองจัดตั้งได้ยากขึ้น 

นอกจากนี้ยังเสนอให้ยกเลิกโทษยุบพรรคการเมือง เนื่องด้วยจุดเริ่มต้นของพรรคการเมืองมาจากประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกันรวมกลุ่มกัน จึงไม่ควรมีอำนาจใดมีสิทธิในการตัดสินยุบพรรคการเมืองได้ เพราะเป็นการทำลายหลักการที่ว่าประชาชนคือผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ เพราะโดยสรุปแล้วพรรคการเมืองไม่สามารถอยู่ได้ถ้าหากขาดประชาชนสนับสนุน ประชาชนจึงควรเป็นผู้ตัดสินพรรคการเมืองผ่านการเลือกตั้ง เมื่อไม่มีประชาชนเลือกพรรคการเมืองนั้นก็ย่อมสลายไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว 

"ใน 9 ทศวรรษของ ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย มีพรรคการเมืองถูกยุบไปแล้ว 375 พรรคการเมือง เฉพาะ 2540 เป็นต้นมา ก็ 110 พรรคการเมือง กลายเป็นว่าโทษยุบพรรคการเมืองกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่บ่อนทำลายพรรคการเมือง และขัดขวางการเติบโตและพัฒนาของประชาธิปไตยไทยตลอดมา ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ คือตั้งยาก-ยุบง่าย เมื่อพรรคการเมืองอ่อนแอ เจตนารมณ์ของประชาชนก็ไม่ถูกผลักดัน นี่คือเหตุผลของการพัฒนาประชาธิปไตยที่เป็นไปอย่างล่าช้า พวกเราจึงเชื่อว่าการยุติและยกเลิกการใช้อำนาจที่นอกเหนือจากประชาชน อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ในการตัดสินยุบพรรคการเมือง เป็นข้อเสนอที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประชาธิปไตยไทย"

สมเจตน์ สมาชิกวุฒิสภา -535C-446D-9D22-6520090DC74A.jpegพรเพชร -63A7-4625-B604-892E8A87B8B5.jpeg

'สมเจตน์' โวยพรรคการเมืองแก้ มักง่าย

ขณะที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายแสดงความเห็นว่า ในทั้งหมด 6 ร่าง พ.ร.ป.ที่มีผู้เสนอมา มีเพียงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่เสนอโดย ครม. เพียงฉบับเดียวเท่านั้น ที่ได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ. นี้ให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 83 ที่ได้มีการแก้ไขมาก่อนหน้านี้ กล่าวคือในมาตรา 51 ปรับแก้จำนวนผู้สมัครเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อเป็น 100 คน และให้สมาชิกสามารถลงคะแนนเลือกได้คนละ 10 คน ส่วนที่เหลืออีกตั้ง 5 ฉบับนั้น มีการแก้ไขที่เกินเลยออกไป แตกต่างกันไปในหลายประเด็น โดยเฉพาะการแก้ไขมาตราเกี่ยวกับการจัดตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จากเดิมที่กำหนดให้มีตัวแทนประจำทุกเขตเลือกตั้ง ให้เป็นจัดตั้งเพียงคนเดียวต่อจังหวัด 

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวต่อว่า เมื่อพรรคการเมืองต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต จาก 350 เป็น 400 ก็อ้างเหตุผลว่าเพื่อให้ ส.ส. เหล่านั้นสามารถดูแลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ทั่วถึงทุกหย่อมหญ้า แต่ในทางกลับกัน เมื่อเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่จำเป็นต้องจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง พรรคการเมืองกับเลือกจะปฏิบัติแบบง่ายๆ ด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองจังหวัดจากสมาชิกพรรคการเมืองเพียงคนเดียวก็พอ 

ทั้งนี้ พล.อ.สมเจตน์ ยังระบุถึงกรณีที่มีการกล่าวหากันว่า ผู้ร่าง พ.ร.ป.ว่่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เป็นผู้ที่มีเจตนาทำลายพรรคการเมือง ตนในฐานะอดีตกรรมการผู้พิจารณาร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับนี้ จึงขออธิบายมูลเหตุว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร โดยระหว่างที่ พล.อ.สมเจตน์ กำลังพูดถึง ปลายปี 2556 ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นใช้เสียงข้างมากในการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ถูก พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมแจ้งเตือนว่าหมดเวลาการอภิปรายแล้ว และต้องจบการอภิปรายโดยปิดประชุมในเวลา 21.30 น.

เมื่อประชุมฯ เป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว ประธานฯ จึงสั่งปิดการประชุมเวลา 21.34 น.โดยจะพิจารณาต่อในวันที่ 25 ก.พ. 2565