เมื่อประมาณ 8 ปีก่อน มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลซีเรียที่ไม่มีความรุนแรงใดๆ ที่กลายมาเป็นความขัดแย้งข้ามชาติระหว่างกลุ่มเชื้อชาติหรือกองกำลังในพื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรีย กลุ่มก่อการร้ายไอเอสและรัฐบาลของนานาชาติ แต่ปัจจุบัน พันธมิตรอเมริกันโจมตีใส่ชาวเคิร์ดที่สู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพอเมริกันมาหลายปีในสงครามปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายไอเอส
เคิร์ดคือใคร?
ชาวเคิร์ดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากถึง 25 - 35 ล้านคน ซึ่งอยู่กระจายกันในตุรกี อิรัก อิหร่าน อาร์เมเนีย และซีเรีย แต่ไม่มีประเทศไหนเลยที่ชาวเคิร์ดเป็นประชากรส่วนใหญ่ จากข้อมูลเมื่อปี 2011 ชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ในซีเรียประมาณ 1-2 ล้านคนจากประชากรซีเรียทั้งหมดประมาณ 21 ล้านคน ถือเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดในซีเรีย โดยชาวเคิร์ดส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของซีเรีย ใกล้กับแนวชายแดนตุรกี เช่นเดียวกับคนอาหรับและคนกลุ่มน้อยอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชาวเคิร์ดถูกรัฐบาลเผด็จการซีเรียกดขี่มากตลอด และมักไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ
การประท้วงขับไล่บาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีเผด็จการที่ครองอำนาจในซีเรียมาตั้งแต่ปี 2000 ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นสงครามการเมืองตั้งแต่ปี 2011 ทำให้กลุ่มการเมือง กลุ่มเชื้อชาติและศาสนาต่างๆ ยึดครองพื้นที่ในซีเรีย แต่กลุ่มการเมืองของชาวเคิร์ดพยายามไม่เลือกข้างรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้าน ในปี 2012 รัฐบาลซีเรียจึงตัดสินใจถอนทัพออกจากพื้นที่ของชาวเคิร์ด เพื่อไปสู้รบกับกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลกลุ่มอื่นๆ ทำให้เคอร์ดิสถานสามารถยึดครองพื้นที่ของตัวเองได้มากขึ้น
(ชาวเคิร์ดประท้วงรัฐบาลตุรกีเกี่ยวกับนโยบายต่อซีเรีย เมื่อปี 2015)
สหรัฐฯ เกี่ยวข้องยังไง?
สหรัฐฯ ภายใต้การนำของบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อน ปฏิเสธที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับสงครามซีเรียโดยตรง แต่เลือกที่จะสนับสนุนเงินและการฝึกฝนให้กับกลุ่มติดอาวุธต่อต้านกับรัฐบาลของอัสซาด จนกระทั่งกลุ่มก่อการร้ายไอเอสเข้าไปฉวยโอกาสในสงครามซีเรียและบุกยึดเมืองต่างๆ โอบามาจึงเปลี่ยนใจส่งกองทัพสหรัฐฯ เข้าไปช่วยปราบปรามกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย
ปี 2014 ที่กลุ่มก่อการร้ายไอเอสสามารถโจมตีและยึดครองเมืองต่างๆ ในอิรักและซีเรียได้หลายเมือง กองกำลังชาวเคิร์ดที่เรียกว่า หน่วยปกป้องประชาชน หรือ YPG เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการต่อสู้ต้านทานการขยายอำนาจของกลุ่มไอเอส ดังนั้น เมื่อพันธมิตรตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งกองกำลังเข้าไปปราบปรามกลุ่มไอเอส จึงเลือกที่จะจับมือกับกองกำลังท้องถิ่นอย่าง YPG
(กลุ่มไอเอสเข้ายึดครองเมืองต่างๆ สำเร็จในปี 2014 เป็นเหตุผลให้สหรัฐฯ ตัดสินใจส่งกองทัพไปในซีเรีย)
ทำไมตุรกีไม่ชอบชาวเคิร์ด?
เมื่อกองกำลังชาวเคิร์ดสามารถขับไล่กลุ่มไอเอสออกจากพื้นที่ได้ กองกำลังชาวเคิร์ดก็สามารถยึดครองเมืองได้คิดเป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศซีเรียทั้งหมด รวมถึงพื้นที่ติดกับแนวชายแดนตุรกีด้วย
เหตุผลที่ตุรกีพยายามขับไล่กองกำลังชาวเคิร์ดออกจากพื้นที่ตามแนวชายแดนก็เพราะ YPG มีความเกี่ยวข้องกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน หรือ PKK ซึ่งก่อความไม่สงบในตุรกีมานานหลายปี รัฐบาลตุรกีและสหรัฐฯ จึงขึ้นบัญชี PKK เป็นกลุ่มก่อการร้าย ตุรกีเห็นว่า YPG ก็เป็นกลุ่มก่อการร้ายด้วยเช่นกัน
(เหตุระเบิดในกรุงอังการาของตุรกี รัฐบาลตุรกีระบุว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม YPG)
การที่ชาวเคิร์ดสามารถเข้ายึดพื้นที่ตามแนวชายแดนทำให้ตุรกีรู้สึกถูกคุกคาม และพื้นที่ตามแนวชายแดนนี้อาจกลายเป็นแหล่งกบดานสำหรับกลุ่มก่อการร้ายที่ก่อเหตุในตุรกีแล้วหนีข้ามไปซีเรีย หรืออาจกลายเป็นฐานที่มั่นสำหรับการวางแผนโจมตีตุรกี ตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ จึงต้องการกำจัดกองกำลังชาวเคิร์ด ซึ่งก็เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ตุรกียังต้องการสร้าง “โซนปลอดภัย” ขนาดกว่า 15,000 ตารางกิโลเมตรในฝั่งซีเรียตามแนวชายแดนติดกับตุรกี เพื่อจะให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 2 - 3.6 ล้านคนไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในบริเสณดังกล่าว แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การทำเช่นนี้อาจก่อให้เกิดการลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวเคิร์ดที่เป็นคนพื้นเมืองนั้น
สหรัฐฯ จัดการปัญหาความขัดแย้งเคิร์ด - ตุรกีอย่างไร?
รัฐบาลสหรัฐฯ สมัยของโอบามาพยายามจะลดความเชื่อมโยงระหว่างกองกำลังชาวเคิร์ดในซีเรียกับกลุ่ม PKK ในตุรกี พยายามโน้มน้าวให้กองกำลังชาวเคิร์ดเปลี่ยนชื่อกลุ่ม และพยายามหาพันธมิตรที่ไม่ใช้กองกำลังชาวเคิร์ดเพิ่มขึ้นในการต่อสู้กับกลุ่มไอเอส ปัจจุบันใช้ชื่อว่า กองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย หรือ SDF โดยทางการสหรัฐฯ เคยประเมินไว้เมื่อปี 2016 ว่า ร้อยละ 40 ของนักรบในกองกำลังประชาธิปไตยซีเรียเป็นชาวอาหรับหรือมาจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เหลือเป็นชาวเคิร์ด YPG
ที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐฯ ก็ทำตัวเป็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ ลาดตระเวนตามแนวชายแดนตุรกีร่วมกับกองทัพตุรกี และช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็โน้มน้าวให้จ้าหน้าที่เคอร์ดิสถานถอนกองกำลัง รวมถึงถอนป้อมปราการ ออกจากแนวชายชายแดนติดกับตุรกี เพื่อแสดงถึงเจตนาที่ดีต่อตุรกี
อย่างไรก็ตาม โดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า เขาต้องการถอนทหารทั้งหมดออกมาจากตะวันออกกลาง โดยทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐฯ ควรยุติ “สงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด” เมื่อเดือนธ.ค. 2018 ทรัมป์ได้สั่งให้มีการถอนทัพออกจากซีเรียเป็นครั้งแรก แต่ก็ระงับคำสั่งดังกล่าวไป หลังจากที่จิม แมททิส ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ เพื่อประท้วงคำสั่งของทรัมป์
(โดนัลด์ ทรัมป์เคยประกาศตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าสหรัฐฯ ควรเลิกยุ่งกับประเทศอื่น แล้วพัฒนาภายในประเทศตัวเอง)
แม้ผู้บัญชาการทหารของสหรัฐฯ จะย้ำกับกองกำลังชาวเคิร์ดมาตลอดว่า กองทัพสหรัฐฯน่าจะต้องอยู่ในซีเรียไปอีกนาน เพื่อรักษาสันติภาพบริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรีย แต่ทรัมป์กลับเปลี่ยนใจอย่างกะทันหันในวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างการโทรศัพท์คุยกับเรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี แล้วก็สั่งถอนทัพสหรัฐฯ ออกจากแนวชายแดนซีเรีย - ตุรกี
คำสั่งดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งจากสมาชิกสภาคองเกรสและกลุ่ม SDF ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ หักหลัง SDF ที่ร่วมกับสหรัฐฯ ในการต่อสู้กลุ่มไอเอสจนได้รับชัยชนะแล้ว แล้วก็ทิ้ง SDF ไป ปล่อยให้ตุรกีเข้าโจมตี YPG ได้ แต่ทรัมป์ก็กล่าวว่า ชาวเคิร์ด “ไม่ใช่เทวดานางฟ้า” และประกาศว่า “นี่ไม่ใช่ชายแดนสหรัฐฯ เราไม่ควรต้องเสียเลือดเสียเนื้อกับมัน”
สหรัฐฯ ถอนทัพจากชายแดนซีเรีย - ตุรกีแล้วเกิดอะไรขึ้น?
แม้ช่วงแรกสหรัฐฯ โยกกองทัพบางส่วนจากบริเวณแนวชายแดนไปประจำการอยู่บริเวณอื่นในพื้นที่ยึดครองของกองกำลังชาวเคิร์ดในซีเรีย แต่การที่สหรัฐฯ ถอนทัพออกจากแนวชายแดนซีเรีย - ตุรกีถือเป็นการเปิดทางให้ตุรกีบุกเข้าไปในเขตแดนเคอร์ดิสถานได้อย่างสะดวก กองทัพตุรกีและพันมิตรอาหรับซีเรียจึงเริ่มบุกเข้าไปในพื้นที่ยึดครองของเคอร์ดิสถานในวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ช่วงสัปดาห์แรก ตุรกีและพันธมิตรอาหรับซีเรียยึดพื้นที่จากเคอร์ดิสถานได้ 75 ตารางไมล์ (ราว 195 ตารางกิโลเมตร)
เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เคอร์ดิสถานเพิ่งจะลงนามข้อตกลงอนุญาตให้กองทัพซีเรียกลับเข้าไปในพื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรียได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี เพื่อช่วยกองกำลังชาวเคิร์ดต้านทานกับตุรกีและพันธมิตรอาหรับซีเรีย แต่หลายฝ่ายก็ยังกังวลว่า รัฐบาลของอัสซาดจะเข้าไปยึดครองพื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรียอีก
ท่ามกลางการบุกโจมตีพื้นที่ของเคอร์ดิสถาน ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ต้องติดอยู่ในสถานกาณณ์วุ่นวายนี้ด้วย กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ จึงสั่งให้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรียทั้งหมด ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาถอนทัพหลายวัน ขณะที่ฐานทัพอเมริกันเล็ก ทางตอนใต้ของซีเรียก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิมในตอนนี้
(เรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี)
รัฐบาลของทรัมป์ส่งจดหมายไปขู่ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจตอบโต้ที่ตุรกีโจมตีใส่กองกำลังชาวเคิร์ด โดยระบุว่า “อย่าทำตัวซ่า อย่าเป็นคนโง่” จากนั้นทรัมป์ก็ประกาศว่า สหรัฐฯ ยุติการเจรจาทางการค้ากับตุรกีชั่วคราวแล้ว และเพิ่มกำแพงภาษีการนำเข้าเหล็กจากตุรกีขึ้นเป็น 2 เท่าแล้ว ส่วนตุรกีก็ตกลงกับสหรัฐฯ ที่จะหยุดยิงเพื่อให้ SDF ถอนกำลังออกจาก “โซนปลอดภัย” แต่ยังไม่มีเสียงตอบรับจากฟาก SDF ว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงนี้หรือไม่
อีกประเด็นที่หลายฝ่าย รวมถึงสหประชาชาติกังวลก็คือ กลุ่มก่อการร้ายไอเอสอาจฉวยโอกาสในช่วงที่พื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรียไม่มีเสถียรภาพ แล้วบุกโจมตีพื้นที่ต่างๆ อีกครั้ง เนื่องจากกองกำลังชาวเคิร์ดจะไม่มีนักรบมากพอที่จะตั้งรับการโจมตีจากตุรกี พันธมิตรอาหรับซีเรีย และไอเอสในเวลาเดียวกัน และอาจไม่สามารถควบคุมนักรบไอเอสกว่า 11,000 คนที่ถูกจับเป็นเชลยศึก นอกจากนี้ เคอร์ดิสถานยังต้องดูแลค่ายผู้พลัดถิ่นฐานหลายสิบแห่ง ซึ่งมีคนอาศัยอยู่หลายหมื่นคน หลายคนเป็นภรรยาและลูกของนักรบไอเอสด้วย
ที่มา : The New York Times, BBC, The Telegraph