ในแถลงเศรษฐกิจและการเงินเดือนมี.ค.และไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า ดัชนีบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศแย่ลงทุกตัว มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐของปรับตัวดีขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอจะกลับขึ้นมาเป็นบวกอยู่ดีเมื่อมองจากทั้งไตรมาสแรก
ประเด็นสำคัญยังคงอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวที่รับรู้ผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังไทยในเดือน มี.ค.มีเพียง 819,000 แสนคน ซึ่งคิดเป็นการลดลงกว่าร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และยังเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยประมาณ 2 ล้านคน
อีกทั้ง เมื่อไปดูตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางผ่าน 5 ด้านสนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต ปัจจุบันมีตัวเลขแค่ราวๆ 40 คนเท่านั้น ซึ่งนับได้ว่านักท่องเที่ยวหายไปกว่าร้อยละ 99
ขณะที่ภาคการส่งออก ซึ่ง ธปท.อธิบายว่ามีนิยามคนละแบบกับของกระทรวงพาณิชย์ที่ใช้นิยามตามกรมศุลกากรคือจะนับทุกธุรกรรมแต่ของ ธปท.จะนับธุรกรรมที่มีการเปลี่ยนมือเจ้าของ จึงอาจได้ตัวเลขที่หดตัวลึกกว่า เนื่องจากตามนิยามของกระทรวงพาณิชย์การส่งออกจะได้รับผลบวกจากการส่งรถถังคอบร้าโกลด์รวมไปถึงการส่งคืนเครื่องบินเช่าซื้อของหลายสายการบินกลับ จึงทำให้ ธปท.ได้ตัวเลขการส่งออกติดลบถึงร้อยละ 6.5 กรณีไม่รวมทองคำ และคิดเป็นการส่งออกติดลบร้อยละ 2.2 ในกรณีที่นับรวมทองคำแล้ว
ทั้งนี้ ตัวเลขการนำเข้ากลับเข้ามาขยายตัวเพิ่มมากขึ้นที่ร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นการฟื้นตัวจากการหดลงไปกว่าติดลบร้อยละ 7.8 ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ดุลการค้าของประเทศจึงลดลงมาเหลือที่ 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 74,300 ล้านบาท จากเดือน ก.พ.ที่มีดุลการค้าอยู่ที่ 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 174,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ สิ่งที่ ผอ.อาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ชี้ถึงความกังวลคือตัวเลขการค้าขายกับประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ที่เริ่มหดตัวอย่างชัดเจนในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ยังทรงตัวได้ดีมาเสมอ ซึ่งนายดอนอธิบายว่าจะมีผลการต่อการส่งออกในเดือนต่อๆ ไปอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อไปดูการคำนวณแนวโน้มเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจากองค์กรการค้าโลก (WTO) ก็เป็นตัวเลขที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมรับมืออย่างหนัก
WTO ออกมาประเมินว่าจีดีพีของโลกในสถานการณ์ที่ดีจะอยู่ที่ติดลบร้อยละ 2.5 และในกรณีเลวร้ายตัวเลขจะดิ่งไปถึงติดลบร้อยละ 8.8 ซึ่งสะท้อนผลกระทบสอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกที่ในกรณีที่ดีจะติดลบร้อยละ 12.9 และในกรณีเลวร้ายจะหดตัวไปถึงติดลบ 31.9
จากผลกระทบเรื่องการส่งออกและปริมาณการค้าโลกที่หดตัวอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวเช่นเดียวกัน ตัวเลขดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวติดลบถึงร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับที่นายดอนชี้ว่าใกล้เคียงกับกรณีน้ำท่วมปี 2554 แต่ตอนนั้นเป็นเพราะโรงงานไม่สามารถผลิตได้ ขณะที่ตอนนี้เป็นเพราะอุปสงค์อ่อนแอลง เช่นเดียวกับตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบถึงร้อยละ 7.8 ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนหดตัวเช่นเดียวกันโดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ของเดือน มี.ค.ติดลบถึงร้อยละ 0.6 ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 5 ปี ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการที่ประชาชนเริ่มการทำงานอยู่ที่บ้านมากขึ้นในเดือนนี้ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง ประกอบกับช่วงปลายเดือน มี.ค.รัฐบาลมีการประกาศใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งนายดอนชี้ว่าทำให้มองได้ว่าสถานการณ์ในเดือน เม.ย.จะเลวร้ายกว่านี้
ฝั่งตลาดแรงงานเองก็เห็นสัญญาณความเปราะบางที่มากขึ้น โดยข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้ว่าตัวเลขการขอรับสิทธิว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับตัวเลขผู้ถูกเลิกจ้างที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในฝั่งของรายได้เกษตรกรก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันเนื่องจากจำนวนผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งให้ตัวเลขรายได้เกษตรกรประจำเดือน มี.ค.ติดลบร้อยละ 1.7 ขณะที่ตัวเลขผลผลิตตกลบถึงร้อยละ 9.6 ซึ่งทำให้เมื่อมาคำนวณกับราคาผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นก็ไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นอยู่ดี
ด้วยปัจจัยทั้งในฝั่งเกษตรกรรมและนอกเกษตรกรรม ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน มี.ค.ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงตกต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มสำรวจมาและ
"ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดตั้งแต่มีดัชนี ดูว่า เม.ย.จะต่ำกว่านี้ได้อีกไหม" ดอน กล่าว
นายดอนชี้ว่าเครื่องมีทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือน มี.ค.เพียงอย่างเดียวคือการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ได้ปัจจัยบวกจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่ประกาศใช้ได้แล้ว ส่งผลให้ตัวเลขทั้งฝั่งของรัฐบาลกลางและฝั่งรัฐวิสาหกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับร้อยละ 12.2 และ 11.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม นายดอนย้ำว่าตัวเลขที่ปรับตัวดีขึ้นดังกล่าวไม่ได้เหนือความคาดหมายและเป็นสิ่งที่ควรดีเพราะก่อนหน้านี้การใช้จ่ายภาครัฐเป็นลบไปแล้วจากความล่าช้าของ พ.ร.บ.ดังกล่าว อีกทั้งเมื่อคำนวณจากทั้งไตรมาส 1/2563 ก็ยังเป็นลบอยู่ดี
นอกจากนี้แม้เม็ดเงิน 1.9 ล้านล้านบาท จะเป็นตัวเลขที่เยอะเพราะแค่ซอฟต์โลนในฝั่งของ ธปท.ราว 500,000 ล้านบาท ก็คิดเป็นร้อยละ 3 ของจีดีพีแล้ว แต่ก็ยังต้องรอดูผลของเงินอัดฉีดเหล่านี้ รวมถึงงบ 1 ล้านล้านบาทของฝั่งกระทรวงการคลังก็อาจไม่ได้ใช้หมดภายในปี 2563 อย่างเดียว แต่อาจเลยไปถึงปี 2564 ด้วย และที่สำคัญต้องดูแลให้เม็ดเงินเหล่านี้ไปถึงผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ
สำหรับมิติเรื่องค่าเงินบาท ธปท.ชี้ว่ายังคงอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าแม้จะมีการปรับตัวแข็งขึ้นมาบ้าง จากประเด็นที่นักลงทุนชาวต่างชาติมองว่ารัฐบาลเริ่มควบคุมการระบาดของโรคได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม นายดอนอธิบายว่า ประเทศไทยยังต้องคำนึงเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มด้วย เนื่องจากแม้ประเทศจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ก็ไม่ได้หมายความว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาได้เป็นปกติในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าอยู่
ส่วนมิติเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากก็มีแนวโน้มลดลงหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมไปถึงการที่ ธปท.ออกมาประกาศปรับลดอัตราการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน FIDF ลง เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบอันเนื่องมากจากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่เมื่อมองไปข้างหน้า ธปท.ก็ยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเองก็จะติดลบด้วยแต่มาจากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจที่หดตัว
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับไปในทิศทางที่แย่ลงจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2560 จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัวสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดยังคงเป็นบวกแต่ปรับลดลงจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าที่ลดลงจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นและรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงมาก ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน อย่างไรก็ดีนายดอนย้ำว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี
เมื่อกล่าวโดยสรุป ธปท.ชี้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจหดตัวชัดเจนทุกด้านเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะมีก็เพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่อุ้มเศรษฐกิจไว้บ้าง ดังนั้นเมื่อมองทั้งไตรมาสจึงคาดว่าทิศทางเศรษฐกิจจะหดตัวทั้งในไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ ส่วนการฟื้นตัวนั้น อาจจะเป็นได้ในรูปตัวยูหรือตัววี ขึ้นอยู่กับว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาไวแค่ไหน ส่วนในฝั่งของเศรษฐกิจโลกอาจจะเป็นรูปตัวยูหรือดับเบิลยูขึ้นอยู่กับว่าจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสระลอกที่สองหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;