ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มนักกิจกรรมคนพุทธในพื้นที่แสดงท่าทีเปิดเผยว่าไม่เชื่อมั่นในเขตปกครองพิเศษ หวั่นถูกเลือกปฎิบัติ

เฟซบุ๊กเพจ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ได้โพสต์ข้อความล่าสุดวันนี้ (24 ธ.ค.2561) แสดงปฏิกิริยากับข่าวที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีตอบสนองเรื่องข้อเสนอในการจัดทำเขตปกครองพิเศษในสามจังหวัดภาคใต้จากมาเลเซีย แม้ว่าในข่าว รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าเรื่องนี้เป็นแต่เพียงแนวความคิดและจะต้องพูดคุยกันอีกมาก แต่เครือข่ายแสดงอาการท้วงติง โดยบอกว่า ที่ผ่านมาเท่าที่พูดคุยกัน ไม่ปรากฎว่ามีคนพุทธในพื้นที่ที่แสดงความคิดว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้

“พื้นที่บ้านเราเป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง ความอคติทางเชื้อชาติยังคงมีอยู่เต็มพื้นที่ จะเป็นไปได้อย่างไรหากเป็นเขตปกครองพิเศษแล้ว หรืออาจจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าแล้ว คนที่ได้รับเลือกจะดูแลคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ได้อย่างไม่มีอคติทางเชื้อชาติ เพราะปัจจุบันหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ หรือคนที่ทำงานในระบบราชการ เขายังไม่เคยให้ความสนใจกับกลุ่มคนส่วนน้อยในพื้นที่ อะไรที่เราเคยทำได้ เมื่อเขาเข้ามาเป็นหัวหน้าส่วนราชการ เรากลับทำไม่ได้” 

เพจมีการยกตัวอย่างความไม่เชื่อมั่นในนักปกครองมุสลิมด้วยว่า “เราเคยได้งบประมาณจาก อบต.หรือเทศบางตำบลในการหล่อเทียนพรรษา แต่เมื่อคนมุสลิมเข้ามาเป็นนายก อบต.เขาก็ตัดงบประมาณตรงนี้ออกไป นี่แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นนะ”

เพจยังชี้อีกว่า การที่พัทยาหรือกรุงเทพมหานครได้เป็นเขตปกครองพิเศษ อาจเป็นเพราะประเด็นในเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่พื้นที่ความขัดแย้งดังเช่นสามจังหวัดภาคใต้ พร้อมกันนั้น ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงมีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองหลายพรรคต่างชูแนวทางในเรื่องการกระจายอำนาจเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มกลับบอกว่าอันที่จริงแล้วในพื้นที่มีการกระจายอำนาจอยู่แล้วแต่ไม่ได้ดำเนินการให้จริงจังมากกว่า และอำนาจยังคงดำรงอยู่กับส่วนกลาง กลุ่มเสนอว่า ควรจะมีการให้อำนาจในการพัฒนา สร้างกลไกใหม่ที่เป็นกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และส่งต่อปัญหาข้อเสนอแนะไปยังผู้มีส่วนกำหนดนโยบาย พร้อมกับให้องค์กรภาคประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ตรวจสอบ

AFP-ปัตตานี-เด็กไทยพุทธและมุสลิมร่วมกันปลูกข้าวในกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ปี 2017.jpg
  • เด็กนักเรียนชาวพุทธและมุสลิมทำกิจกรรมปลูกข้าวร่วมกันที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานีเมื่อปี 2560

นอกจากนี้ ในเพจเดียวกัน เครือข่ายยังลงข้อความที่เปิดเผยว่ามาจากการจัดทำเวทีระดมความคิดเห็นในเรื่องที่เป็นข้อเสนอแนะต้องการส่งต่อไปยังบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งประเด็นสำคัญที่สรุปได้ เรื่องใหญ่คือเรื่องการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ ควรมีการพัฒนาทักษะจัดฝึกอาชีพ ต้องการให้มีการประกันราคาสินค้าการเกษตร ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ปรับราคายางให้สูงขึ้น การสร้างงานให้ตรงกับความสนใจ มีการรักษาความปลอดภัย เช่น ทำให้กล้องวงจรปิดที่มีอยู่ทำงานใช้ได้จริง ปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง พร้อมทั้งให้ความรู้แก่คนในพื้นที่ สนับสนุนให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ 

อีกอย่าง มีข้อเสนอเรื่องของการอยู่ร่วมกันว่าให้มีความพอเพียงในอำนาจและผลประโยชน์ มีความยุติธรรมไม่เลือกปฎิบัติ เป็นต้น นอกจากนั้น มีการท้วงติงเรื่องประเด็นการใช้พหุวัฒนธรรมที่ดูเหมือนว่า กลุ่มคนพุทธต้องการให้มีความพยายามสานต่อเพื่อให้ความสัมพันธ์ที่ดีแบบเดิมกลับคืนมา

“เราอยู่ร่วมกันมาได้ตั้งนานทำไมจึงอยู่ร่วมกันต่อไปไม่ได้ ในตอนนี้ในพื้นที่นี้มีวัฒนธรรม ความแตกต่างทางวัฒนธรรมแยกยากยิ่งกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง ในอดีตโรงเรียนเราเรียนร่วมกันแม้ต่างศาสนา ปัจจุบันแยกโรงเรียนทำให้มุสลิมไม่มีเพื่อนคนพุทธ คนพุทธไม่มีเพื่อนมุสลิมเพราะการศึกษามาจากนโยบายรัฐ” 

รักชาติ สุวรรณ-RukchartSuwan.JPG
  • รักชาติ สุวรรณ' ตัวแทนของเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

ในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เริ่มมีข้าราชการฝ่ายปกครองที่เป็นมุสลิมเพิ่มจำนวน ขณะที่คนพุทธในพื้นที่มักแสดงว่ารู้สึกถูกทอดทิ้ง 'รักชาติ สุวรรณ' ตัวแทนของเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ออนไลน์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ที่ผ่านมากลุ่มคนพุทธในสามจังหวัดรู้สึกว่าถูกคุกคาม ในขณะที่อีกด้านก็อยากให้ความสัมพันธ์ที่ดีกับมุสลิมกลับคืนมา แต่ขณะนี้ประเด็นที่เป็นประโยชน์ของคนพุทธกลับได้รับความสนใจไม่มากนักจากพรรคการเมืองต่างๆ 

สำหรับข้อความที่ยกตัวอย่างพื้นที่องค์กรบริหารส่วนตำบลหรือ อบต.ที่มีมุสลิมเข้าเป็นนายกนั้น มีตัวอย่างพื้นที่ อบต.แห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีนักการเมืองท้องถิ่นมุสลิมตระกูลใหญ่รับหน้าที่เป็นผู้บริหารสืบทอดกันมาหลายคน และมีกลุ่มคนพุทธไม่พอใจกับการทำงานเพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนกิจกรรมด้านประเพณีของตนอย่างมากพอ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ นักการเมืองท้องถิ่นมุสลิมหลายคนที่มีชื่อต่างได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมงานกับพรรคการเมืองใหญ่ๆ หลายพรรค เพิ่มมิติความขัดแย้งในพื้นที่ในเรื่องการช่วงชิงทางการเมืองขึ้นด้วย 

สำหรับในการเลือกตั้งหนนี้ พรรคการเมืองต่างๆ ได้นำเสนอแนวคิดเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง โดยต่างชูนโยบายกระจายอำนาจ บางพรรคเสนอแนวคิดสนับสนุนพหุวัฒนธรรม ส่วนพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีบุคคลในพรรคอยู่ในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาลได้ออกมานำเสนอแนวทางการพูดคุยที่เปิดกว้างยิ่งมากกว่าเดิม และล่าสุดมีการเสนอข่าวว่ามาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกของการพูดคุยเสนอเข้ามาว่าให้พื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ได้เป็นพื้นที่ปกครองพิเศษ ทว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้มีการหารือกันอย่างจริงจังกับสาธารณะ