เพจ ‘Justice For Myanmar’ ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของชาวเมียนมา ออกมาระบุว่า “ริฮานนาควรจะยืนอยู่ข้างประชาชนเมียนมา และให้การสนับสนุนการแบนอัญมณี หลังจากเธอใส่แหวนทับทิมมูลค่าล้านเหรียญสหรัฐฯ ในซุปเปอร์โบวล์”
“ริฮานนา ศิลปินนักร้อง ได้ฉายแสงเจิดจรัสในการแสดงช่วงพักครึ่งของซูเปอร์โบวล์ 2023 อย่างไรก็ดี ชุดของเธอมีแหวนทับทิมพม่าจาก Bayco Jewels ซึ่งได้มาจากอุตสาหกรรมที่แปดเปื้อนไปด้วยเลือดของชาวเมียนมา” กลุ่มนักกิจกรรมระบุ “การทำเหมืองทับทิมเป็นเงินทุนในการต่อต้านประชาชนของรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา เพื่อนศิลปินของริฮานนาในเมียนมาก็ไม่ถูกไว้ชีวิต”
ทั้งนี้ การทำรัฐประหารเมียนมาเกิดขึ้นตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564 และกองทัพเมียนมาภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ยกคงปกครองประเทศในทางพฤตินัย แม้จะยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ประเทศเมียนมาได้ทั้งหมด โดยจากรายงานระบุว่า มีชาวเมียนมาเสียชีวิตจากผลพวงของการทำรัฐประหารไปแล้วกว่า 3,000 ราย และมีผู้ถูกจับกุมตัวกว่าเกือบ 14,000 ราย
Justice For Myanmar ระบุว่า เมื่อช่วงเดือน ก.ค.ปีก่อน เผด็จการเมียนมาได้สั่งประหารชีวิต เพียว เซยา ตอว์ อดีตนักการเมืองและศิลปินฮิปฮอป พร้อมกันกับนักกิจกรรมทางการเมือง 3 ราย ซึ่งทางนักกิจกรรมระบุว่าเข้าข่าย “อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” นอกจากนี้ ในเดือน ต.ค.ปีก่อน เผด็จการเมียนมาได้โจมตีทางอากาศใส่คอนเสิร์ตในรัฐคะฉิ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 80 ราย โดยในจำนวนนั้นมีศิลปินและผู้เข้าชมการแสดง Justice For Myanmar ระบุว่ายังมีศิลปินอีกจำนวนมากที่ถูกจับกุมตัว ทรมาน และฆ่าอย่างไม่เลือกหน้าโดยเผด็จการเมียนมา ซึ่งเป็น “องค์กรก่อการร้าย”
“แม้จะเกิดการนองเลือดจากความพยายามก่อรัฐประหาร ของกองทัพเมียนมาในช่วงสองปีที่ผ่านมา และบทบาทของอัญมณีในการสนับสนุนอาชญากรรมสงครามของเผด็จการทหาร และการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ ยังคงขายอัญมณีที่มีทับทิม หยก และอัญมณีอื่นๆ ที่ได้มาจากเมียนมา” Justice For Myanmar ระบุ
Justice For Myanmar อ้างว่าตามรายงานข่าว แหวนของริฮานนา ซึ่งมีมูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีจุดเด่นที่ “ทับทิมพม่าเนื้อน้ำตาลก้อนเจียระไนหลังเต่าธรรมชาติหายากที่ไม่ผ่านความร้อน ขนาด 19.47 กะรัต และทับทิมเจียระไนกลมไร้สี 5.66 กะรัต ประดับด้วยทองคำขาวและทองคำ 18 กะรัต” โดยมี Bayco Jewels ซึ่งมีฐานอยู่ในสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตเพชรระดับสูง และบริษัทดังกล่าวมี โมริส และ เจียโกโม ฮัดจิเบ เป็นผู้ก่อตั้ง
“ขณะนี้มีสินค้าอย่างน้อย 9 รายการที่โฆษณาบนเว็บไซต์ของพวกเขา นำเสนอทับทิมหรือไพลินจากเมียนมา” Justice For Myanmar ระบุ “เว็บไซต์ของบริษัทไม่มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน หรือการจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม น่าตั้งข้อสังเกตว่า Bayco มีการขุดไพลินที่ยังคงดำเนินต่อไปในปริมาณเล็กน้อย ด้วยหินคุณภาพสูงสุดที่มาจากเมืองโมโก๊ะ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการขุดทับทิมเช่นกัน”
“การค้าหยกและอัญมณีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เผด็จการทหารก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรบริษัท Myanma Gems Enterprise แต่ไม่ได้ห้ามการนำเข้าอัญมณี ทำให้การค้าดำเนินต่อไปได้” กลุ่มนักกิจกรรมระบุ “เราขอเรียกร้องให้ริฮานนายืนหยัดร่วมกับชาวเมียนมา คว่ำบาตรอัญมณีเมียนมา และเรียกร้องให้แบนการนำเข้า”
ที่มา: