พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมจัดเตรียมมาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะแรงงานไทยผิดกฎหมาย ว่า ขอให้กระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์ล่าสุดก่อน จากนั้น จึงจะหารือมาตรการรองรับแรงงานที่จะเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ ว่าจะมีมาตรการอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชน และสังคมโดยรวม เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร รัฐบาลก็ต้องดูแล เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน เหมือนที่เคยดูแล 138 คนจากอู่ฮั่นมาแล้ว ดังนั้น จะต้องหาหนทางปฏิบัติให้ดีที่สุด
"อนุทิน" เผยขอเวลาหามาตรการรับมือแรงงงานไทย รับเป็นโจทย์ใหม่
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงการประชุมติดตามสถานการณ์โควิด-19 ว่า ภาพรวมการทำงานกระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดทำแผนไว้อยู่แล้ว โดยจะต้องดูว่าแต่ละหน่วยงานเตรียมการอย่างไรบ้าง เพื่อประสานขอความร่วมมือกับทุกฝ่าย
ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านเสนอให้ออก พ.ร.ก.แก้สถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการรองรับแรงงานไทยที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ซึ่งลงทะเบียนกลับประเทศกว่า 5,000 คน นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่เห็นข่าวนี้ ซึ่งการประชุมรับมือกรณีแรงงานไทยที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้กลับประเทศ ยังต้องมีการหารือร่วมกันก่อนเนื่องจากเป็นโจทย์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการและวางแผนให้รอบคอบ
"ประยุทธ์" สั่งกักตัวคนไทยกลับจากเกาหลีใต้ 14 วันแม้ไม่มีไข้
โดยภายหลังจากการประชุมวาระเร่งด่วน เรื่อง มาตรการรองรับกลุ่มผู้ประสงค์กลับจากประเทศเกาหลีใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าแรงงานไทยจากเมืองแดกู และเมืองคยองซัน หากเดินกลับมาต้องถูกแยกกักตัวในพื้นที่ควบคุม 14 วัน แม้ไม่พบว่ามีไข้ เนื่องจากเป็นพื้นที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรง ส่วนผู้ที่มาจากเมืองอื่นให้กลับไปกักตัวเอง ณ ภูมิลำเนาได้
นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์บริหารการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งจะดูในเรื่องนโยบาย การสั่งการ ติดตามความคืบหน้า โดยสั่งการกระทรวงสาธารณสุขไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการยกระดับขึ้นมาจากศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับหากมีการยกระดับมากกว่านี้ พร้อมพิจาณาว่าต้องมีกฎหมายอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นอกเหนือจากที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่ออยู่ในขณะนี้