ไม่พบผลการค้นหา
อ๊อด ไชยะวง ผู้ลี้ภัยชาวลาว สมาชิกกลุ่ม 'ลาวเสรี' หนึ่งในผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาว หายตัวไปจากบ้านพักในเขตบึงกุ่ม กทม.ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และเพื่อนร่วมงานเข้าแจ้งความเมื่อ 2 ก.ย. แต่ทางการไทยปฏิเสธว่า "ไม่รู้อ๊อดอยู่ที่ไหน"

องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' หรือ HRW ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 7 ก.ย.2562 เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนอย่างเร่งด่วนต่อกรณีของอ๊อด ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดย 'แบรด อดัมส์' ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย HRW ระบุว่า ประเทศไทยต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัย และยุติการสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านซึ่งปฏิบัติมิชอบ และยุติการส่งกลับผู้เห็นต่าง พร้อมย้ำว่า “ถนนหนทางในกรุงเทพฯ ควรปลอดภัย ไม่ควรมีการอุ้มหายและการจับกุมอย่างมิชอบเกิดขึ้น”

เนื้อหาในแถลงการณ์ของ HRW ระบุว่า อ๊อด ไชยะวง เป็นสมาชิกของกลุ่ม 'ลาวเสรี' (Free Laos) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มอย่างหลวม ๆ ของคนงานข้ามชาติและนักเคลื่อนไหวจากลาวซึ่งลี้ภัยอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อกดดันให้เกิดประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนในลาว 

ที่ผ่านมา อ๊อดและเพื่อนสมาชิกจัดการประท้วงอย่างสงบเป็นระยะ ๆ ที่ด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตลาว และที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติที่กรุงเทพฯ รวมถึงจัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนให้กับคนงานข้ามชาติจากลาวที่อยู่ในประเทศไทย แต่เขาได้หายตัวไปจากบ้านพักที่เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.

เพื่อนร่วมงานของอ๊อดได้เข้าแจ้งความที่โรงพักของไทยเมื่อวันที่ 2 ก.ย. แต่ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าของการสอบสวนใดๆ และเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาปฏิเสธว่า "ไม่รู้ว่าอ๊อดอยู่ที่ไหน"

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่ม 'ลาวเสรี' แจ้งกับ HRW ว่า พวกเขาถูกทางการไทยและลาวติดตามตัวและข่มขู่คุกคาม ทำให้เชื่อว่าเป็นมาตรการขัดขวางไม่ให้พวกเขาประท้วงหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาวระหว่างที่จะมีการประชุม 'อาเซียนภาคประชาสังคม' ในกรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 10-12 ก.ย. และที่ผ่านมา ทางการลาวได้จับกุมและควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวและผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านรัฐบาล

https://www.hrw.org/sites/default/files/styles/946w/public/multimedia_images_2019/201909asia_thailand_od.jpg?itok=81yCI_Zv
  • ภาพ 'อ๊อด ไชยะวง' จาก HRW

นอกจากนี้ กฎหมายอาญาของลาวยังให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างจากรัฐบาล มีบทลงโทษที่รุนแรง โดยข้อหาโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐบาล มีบทลงโทษจำคุกสูงสุดห้าปี ขณะที่สื่อมวลชนที่ “รายงานข่าวอย่างไม่สร้างสรรค์” หรือผู้ที่ “ขัดขวาง” การดำเนินงานของรัฐบาล มีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

สิ่งที่น่าวิตกกังวลอีกประการในแถลงการณ์ของ HRW ได้แก่ ประเด็นที่ทางการไทยจะมักร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อคุกคามและจับกุมตัวโดยพลการกลุ่มผู้ลี้ภัยในไทยที่ถูกกล่าวหาว่าเห็นต่างจากรัฐบาลในประเทศต้นทาง ทั้งยังมีการบังคับส่งกลับเกิดขึ้นหลายครั้ง ถือว่าเข้าข่ายละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งกลับผู้ที่ได้รับสถานะบุคคลที่ได้รับการลงทะเบียนเป็นบุคคลในความห่วงใย (person of concern) โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) 

ขณะเดียวกัน โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เผยแพร่ข้อมูลอ้างอิงขบวนการลาวเพื่อสิทธิมนุษยชน (LMHR) ย้ำว่า อ๊อดเป็นผู้ที่ลงทะเบียนเป็นบุคคลในความห่วงใยของ UNHCR แล้ว และอาจจะเป็นผู้เสียหายรายล่าสุด ที่เกิดจากความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาค เพื่อที่จะปราบปรามผู้คัดค้านรัฐบาลที่หลบหนีไปยันประเทศอื่น ประชาคมนานาชาติต้องช่วยกันประณามความร่วมมือในการปราบปรามครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การริดรอนพื้นที่ของภาคประชาสังคมในภูมิภาค

ไอลอว์ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค.2562 อ๊อดได้โพสต์ภาพในเฟซบุ๊กขณะที่ตนเองกำลังยืนหน้าสำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่กรุงเทพฯ สวมใส่เสื้อยืดสีขาว ประดับด้วยธงชาติรูปช้างสีขาวสามเศียรของประเทศลาว ซึ่งใช้ในปี 2495 จนถึงปี 2518 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาวได้ประกาศยกเลิกการใช้ธงนี้ไปแล้ว และการปรากฏของธงก็มักจะสร้างความไม่พอใจต่อทางการลาว ในปี 2560 ศาลลาวได้พิพากษาจำคุกบุคคลสามคนจากการชูธงชาติรูปช้างสีขาวสามเศียรระหว่างการชุมนุมที่หน้าสถานทูตลาวประจำประเทศไทยในวันที่ 2 ธันวาคม 2558

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: