ช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีใช้ช่องโซเชียลมีเดียในการติดตามและร่วมเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมไปถึงการเมืองไทย ซึ่งที่ผ่านมาผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในไทยที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ต่างร่วมเคลื่อนไหวติดแฮชแท็กทางการเมือง ตลอดจนมีการเปิดประเด็นไปสู่การถกเถียงประเด็นต่างๆจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในประเทศไทยรายวัน
‘ต้น’ (ขอสงวนชื่อจริง) นักเรียนในโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งของกรุงเทพ เยาวชนรุ่นใหม่ที่ชอบศึกษาประเด็นสังคมโลกและการเมืองไทย เพราะคิดว่าการเมืองไทยมีความแตกต่างจากการเมืองในประเทศอื่นๆในโลก
ต้น กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาคนรอบตัวต่างโพสต์เรื่อง #Blacklivematter กันเยอะมากเพราะมันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลกและทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก แต่ทั้งนี้การเคลื่อไหวที่อยู่แต่ในโซเชียลมีเดีย ไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่โพสต์นั้นสนใจประเด็นร่วมจริงหรือเปล่า
"มันกลายเป็นแฟชั่นในการโพสต์ เพื่อที่จะทำให้ตัวเองดูดีและได้ยอดไลค์และยอดคนติดตามเพิ่ม" ต้นกล่าว
ขณะที่ในประเด็น #saveวันเฉลิม คนรอบตัวของต้นกลับเพิกเฉย หรือไม่รู้จักนักเคลื่อนไหวชาวไทยที่ถูกอุ้มหายไปในกัมพูชาด้วยซ้ำ แม้จะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน โดยต้นมองว่าเรื่องของวันเฉลิมอาจเป็นเพราะคนไม่รู้จักว่าวันเฉลิมคือใคร
ต้นมองว่า การเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียไทยนั้น ต่างก็ถูกจำกัดอยู่ในแค่โซเชียลเท่านั้น ไม่มีพลังมากพอที่จะสามารถเรียกร้องหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมได้
"ถ้ารัฐบาลปิดทวิตเตอร์ การเรียกร้องพวกนี้ก็หายไป มันก็ไม่มีอะไรเกิด มันก็แค่อยู่ในโลกออนไลน์อย่างเดียว’"
การเมือง คือ เรื่องรอบตัวไม่ได้อยู่แค่ในโซเชียล
ต้นมองว่า ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราก็เป็นเรื่องการเมืองได้หมด ตั้งแต่เรื่องปัญหารถไฟฟ้าบีทีเอส ก็มีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การเป็นทุนผูกขาดของบีทีเอสจึงให้บีทีเอสจะช้ายังไงก็ได้ ซึ่งประชาชนก็ออกมาเรียกร้องหรือบ่นกันในโซเชียลและรัฐบาลก็รับรู้ปัญหาที่รัฐบาลต้องทำอะไรสักอย่างแต่รัฐบาลไม่ทำ หรืออย่างการบินไทยก็เป็นเรื่องของการเมืองในฐานะที่เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ ที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในบริษัทได้
ขณะที่เรื่องใหญ่ๆ อย่างประเด็นเรื่อง ‘ผู้ลี้ภัย’ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแน่นอน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของการมี 'Freedom of Speech' (เสรีภาพในการพูด) ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมีและยังบ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตยของประเทศได้
ต้นบอกว่า ถ้าประเทศไทยเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตย เหตุการณ์อุ้มหายของวันเฉลิมก็ไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ต้นได้ยกตัวอย่างกรณีของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เจ้าของวิกิลีกและผู้เปิดโปงข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ จนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยในรัสเซียยังคงมีชีวิตอยู่ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถที่จะเข้าไปจับกุมตัวเอ็ดเวิร์ดได้ในขณะที่เขาลี้ภัยอยู่
"หากสังคมยอมรับเรื่องการมีเสรีภาพทางการพูดเหมือนอย่างในสหรัฐฯ เรื่องราวกรณีของวันเฉลิมก็จะไม่เกิดขึ้น"
เสรีภาพการพูดมันสำคัญ
ต้นมองว่า การเป็นเสรีประชาธิปไตยหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับ freedom of speech (เสรีภาพในการพูด) ด้วยเช่นกันซึ่งต้นได้ให้คะแนนเสรีภาพการพูดในประเทศให้แค่ 5-6 คะแนนเท่านั้น
“5-6 คะแนนนี้ก็ถือว่าสูงอยู่นะ ผมคิดว่าเสรีภาพการพูดมันสำคัญมาก หากไม่มีตรงนี้เราก็บอกไม่ได้ว่าประเทศเราเสรีจริงรึเปล่า เพราะเสรีภาพในการพูดเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมี” ต้นกล่าว
ขณะที่ในการเป็นเสรีประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้งนั้น ต้นกล่าวว่า หลายประเทศมีระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน ระบอบการเมืองแบบอเมริกาที่เป็นแบบสหพันธรัฐ หรือในหลายประเทศของยุโรปมีระบบตัวแทนคล้ายกับของไทย
แต่สำหรับประชาธิปไตยในประเทศไทย ต้นมองว่า ระบบเลือกตั้งของไทยที่เป็นรูปแบบของระบบผู้แทนในการทำหน้าที่เลือกรัฐบาล หลายคนไม่ได้เลือกพรรคของประยุทธ์เป็นรัฐบาล แต่สุดท้ายด้วยระบบการเมืองของไทยทำให้สามารถจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้
ต้นให้ความเห็นว่า หากระบบเลือกตั้งของไทยคล้ายกับของอเมริกาบ้าง จะทำให้มีกลุ่มคนและตัวแทนประชาชนความหลากหลายมากขึ้น แม้ว่าพรรคการเมืองจะลดลงก็ตาม
คนรุ่นใหม่ Ignorance ต่อการเมือง
ต้นบอกว่า บางคนที่ผมรู้จักก็ไม่สนการเมือง เพราะไม่ได้ตาม และโดยส่วนตัวที่สนใจการเมืองเพราะประวัติศาสตร์การเมืองทำให้สนใจ มันเปลี่ยนไปตลอดและเปลี่ยนได้เยอะแค่ไหน รัฐบาลไทยเมื่อร้อยปีที่แล้วก็ไม่เหมือนกับรัฐบาลไทยในตอนนี้
“ในสังคมโรงเรียนนานาชาติ ผมไม่เคยเห็นใครพูดถึงการเมือง ผมเคยเจอแค่คนเดียว ซึ่งเขาก็ย้ายมาจากโรงเรียนที่มีคนไทยเยอะกว่า”
แม้ว่าต้นเองจะเป็นคนที่ตามข่าวสารบ้านเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ต้นยังนิยามตนเองว่าเป็น ‘คนเพิกเฉย’ ต่อการเมือง โดยต้นให้เหตุผลว่าถึงเรารู้เรื่องราวของการเมืองไทยมากแค่ไหน แต่การที่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวหรือเรียกร้องต่อประเด็นนั้นๆ ก็ถือเป็นการเพิกเฉยต่อการเมืองเช่นกัน