สี่ดรุณี หรือ Little Women คือนวนิยายที่ 'ลุยซา เมย์ อัลคอตต์' เขียนขึ้นและออกเผยแพร่ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 ก่อนงานประพันธ์คลาสสิคชิ้นนี้จะถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นและทำเป็นภาพยนต์อีกครั้งเมื่อต้นปี 2563 ผ่านมือของ 'เกรตา เกอร์วิค'
เรื่องราวการเติบโตและใช้ชีวิตของอิสตรีไม่อาจก้าวข้ามเวลาแห่งการเลือกคู่ครองและตัดสินใจเข้าพิธีวิวาห์ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดในชีวิตที่หญิงสักคนจะโหยหาได้
เมื่อเติบโตถึงวัยที่จะมองเรื่องดังกล่าว 'เกรตา เกอร์วิค' เลือกให้ตัวละคร 'เอมี่ มาร์ช' สะท้อนสิ่งหนึ่งที่แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเธอถูกดูแคลนจากตัวละครชายว่าการตัดสินใจแต่งงานของเธอเป็นเพราะ 'เงิน' ไม่ใช่ 'ความรัก'
ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรทั้งนั้นที่ผู้คนต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง ผู้หญิงก็เช่นกัน ทุกคนพยายามแก่งแย่งเข้าศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดที่พอจะมีศักยภาพเข้าถึงได้ ผู้หญิงก็เช่นกัน
แม้พวกเธอพยายามแค่ไหน วิจัยที่วิเคราะห์ข้อมูลรายได้บุคคลตั้งแต่ปี 2538 - 2559 ในสหรัฐฯ พบว่า มีผู้หญิงสถานะโสดเพียง 4.5% เท่านั้นที่มีโอกาสทำให้ตัวเองกลายเป็นบุคคลที่มีรายได้ 1% บนยอดพีระมิดของรายได้ของสังคม
ในปี 2559 เมื่อเรียงรายได้ครัวเรือนสหรัฐฯ จากน้อยไปมาก พบค่ากลางที่ 51,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 1,785,000 บาท/ปี (ค่าเฉลี่ยอัตราแลกเปลี่ยนปี 2559 : 35 บาท/ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ขณะที่ธรณีประตูก่อนก้าวเข้าสู่ 1% สูงสุด คือ การมีรายได้ราว 845,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 29,575,000 บาท/ปี
ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมีโอกาสข้ามธรณีประตูดังกล่าวมากกว่าหญิงโสดถึง 991% โดยได้รับอิทธิพลหลักจากรายได้ของคู่สมรสที่เข้ามาส่งเสริมรายได้รวมของครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหญิงผู้นั้นได้คู่สมรสที่มีการศึกษาสูงและเป็นนายจ้างของตัวเอง
รายงานชิ้นนี้ยังกลับไปตอกย้ำประเด็นดั้งเดิมที่ผู้หญิงเผชิญอุปสรรคมากมายในการผลักดันตัวเองขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ ในองค์กรเมื่อเทียบกับผู้ชาย ขณะที่พวกเธอต้องออกมาทำงานเป็นเจ้าของบริษัทตัวเอง เพื่อเพิ่มโอกาสในการมั่งคั่ง เพศชายเพียงนั่งทำงานในองค์กรด้วยตำแหน่งบริหารก็ได้ความร่ำรวยเหล่านั้นมาแล้ว
ข้อมูลพบว่า มีผู้หญิงแต่งงานแล้วซึ่งมีการศึกษาสูงและเป็นนายจ้างตัวเองเพียง 1.8% เท่านั้นที่สามารถขึ้นไปยืน ณ 1% บนสุดของรายได้ ขณะที่ด้วยเงื่อนไขเดียวกัน แต่สลับเป็นเพศชาย ตัวเลขดังกล่าวขยับขึ้นมาเป็น 7.3%
ผู้วิจัยสรุปอย่างชัดเจนว่า ผู้หญิงต้องเผชิญกับอุปสรรคในการทำงานมากกว่าผู้ชาย มีอัตรารายได้ต่ำกว่าผู้ชายในทุกระดับการศึกษา จึงจำเป็นต้องใช้เวลายาวนานกว่าผู้ชายในการไปถึงจุดมั่งคั่ง
หากเอาวิจัยนี้กลับไปคุยกับตัวละครชายที่ตั้งใจพาดพิงว่า 'เอมี่ มาร์ช' ตัดสินใจแต่งงานเพราะเงินมากกว่าความรัก เราคงตอบได้ว่า "จริง" แต่เราอาจต้องบอกเขาด้วยว่า ไม่ว่าจะในอดีตหรือร้อยปีให้หลังมาแล้ว ความเท่าเทียมทางเพศยังไม่มีจริง
ผู้หญิงยังต้องขวนขวายหาโอกาสหรือแหวกช่องทางที่เปิดอยู่บ้างให้พวกเธอ แล้วถ้านั่นคือการแต่งงานกับคู่สมรสที่มีฐานะดี ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้ใดจะไปตัดสินเธออยู่ดี
อ้างอิง; CNBC, The Atlantic, Vox, Inc
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;