วันที่ 4 ม.ค. 2566 อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสับปะรด และผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋องไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ครองสัดส่วนตลาดโลกถึง 32% และชื่นชมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุนชื่อเสียงผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋องของไทยจนมียอดส่งออกอันดับ 1
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ไทยมีชื่อเสียงในฐานะประเทศผู้ส่งออกสับปะรด และผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋องไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ครองสัดส่วนตลาดโลก 32% อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 22%
ทั้งนี้ พื้นที่และโรงงานสับปะรดส่วนใหญ่ของไทยอยู่ที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเปรียบเสมือนมหานครสับปะรดของไทยและของโลก และรัฐบาลยังได้จัดทำแบบแผนพัฒนาสับปะรด 5 ปี (2566-2570) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตสับปะรด เพิ่มศักยภาพการผลิต การแปรรูป และการตลาด ทั้งนี้ยังมีแผนใช้กองทุนพัฒนาผลไม้เป็นกลไกสำคัญเพื่อยกระดับรายได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสับปะรด อย่างยั่งยืนด้วยแนวทางเกษตรมูลค่าสูง
นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี รับทราบรายงานมะม่วงเบาสงขลา ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมของคนในจังหวัดสงขลาและนักท่องเที่ยวที่มักจะซื้อนำไปเป็นของฝากขึ้นชื่อของจังหวัด ทั้งในรูปแบบผลสดและแปรรูป ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว
ทั้งนี้ สินค้ามะม่วงเบามีศักยภาพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่กว่า 58 ล้านบาทต่อปี ตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล ใช้ผลประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง
“นายกรัฐมนตรีชื่นชม และขอบคุณการทำงานของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐบาล เกษตรกรในพื้นที่ และผู้ประกอบการ เอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการของรัฐ ร่วมกันพัฒนาศักยภาพ คงคุณภาพของสินค้าไทย เพื่อชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือในการส่งออก พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิต และการส่งออกสินค้า รวมทั้งศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมกับกระแสโลกในทุกช่วงเวลา เพื่อจักได้เพิ่มรายได้ ตลอดจนกระจายรายได้สู่เกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่น พัฒนาเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ฐานราก และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” อนุชา กล่าว