ไม่พบผลการค้นหา
กรมวิทย์ฯ เผยผลตรวจโควิด-19 เชิงรุกจาก "น้ำลาย" 6,380 ตัวอย่าง ตรวจพบติดเชื้อแค่ 1 ตัวอย่าง ตั้งเป้าอีก 90,000 รายให้จบภายในเดือน มิ.ย. นี้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 เชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง ด้วยการตรวจจากน้ำลายส่วนลึกในลำคอ นำร่องเขตสุขภาพที่ 4 และ 5 เช่น กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มผู้ขับรถรับจ้างและขนส่งสาธารณะ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น รวม 6,380 ตัวอย่าง พบผลบวก 1 ตัวอย่าง และผลลบ 6,379 ตัวอย่าง ซึ่งข้อมูลนี้ช่วยสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า การระบาดในประเทศไทยมีอัตราที่ต่ำมาก เนื่องจากไม่พบการระบาดในชุมชน ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่พบนั้นล้วนเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น

นพ.โอภาส กล่าวว่า ผลการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงนี้ทำให้ได้ข้อมูลเชิงระบาดที่มีความสำคัญต่อการวางมาตรการควบคุมโรคในระยะถัดไป ซึ่งกรมควบคุมโรคร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะขยายการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและชุมชนทั่วประเทศ และเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) 89,993 ราย ให้แล้วเสร็จใน มิ.ย.นี้

เบื้องต้นในเขต กทม. ได้ตรวจไปแล้วทั้งสิ้น 4,856 จากเป้าหมาย 15,000 ราย พบผลตรวจเป็นลบทั้งหมด นอกจากนี้ การศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ใช้การบ้วนน้ำลาย ความไวร้อยละ 84.2 ความจำเพาะ ร้อยละ 98.9 และมีผลสอดคล้องกับการเก็บตัวอย่างวิธีมาตรฐาน NP Swab ร้อยละ 97.5

นพ.โอภาส กล่าวว่า การเก็บตัวอย่างน้ำลายสามารถทำได้ทุกเวลา แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ ช่วงเช้าหลังตื่นนอน และไม่ควรแปรงฟัน หรือใช้น้ำยาบ้วนปาก ไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง ก่อนเก็บน้ำลายอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้รบกวนการแปลผลได้

นอกจากนี้ การตรวจเชื้อโควิด-19 จากน้ำลาย จะไม่ใช้ตรวจในกลุ่ม PUI ผู้สัมผัสที่เกี่ยวข้องกับวงระบาด และในกลุ่มที่มีอัตราการตรวจพบโควิด-19 สูง ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างแต่ไม่มีป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เท่านั้น