ไม่พบผลการค้นหา
กกต.เผยตรวจสอบแล้ว มี 3 พรรคกู้เงินเกิน 10 ล้าน ไม่ผิดเหมือน 'อนาคตใหม่' เพราะเป็นเงินกู้คงค้างมาตั้งแต่ปี 2555

กรณีที่ 'ศรีสุวรรณ จรรยา' เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบ 32 พรรคการเมืองที่ในเอกสารงบการเงินของพรรคประจำปี 2561 มีรายการกู้เงิน ว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 62 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ โดยเทียบเคียงกับที่ กกต.เคยวินิจฉัยกรณีพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนำไปการวินิจฉัยยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ

ต่อมา สำนักงาน กกต.ได้ตรวจสอบคำร้องดังกล่าว และเสนอเรื่องให้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นชอบยุติเรื่อง เพราะพรรคการเมืองกลุ่มนี้มีการกู้ยืมเงิน ยืมเงินทดรองจ่ายจากหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจริง แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อคน ต่อพรรค ต่อปี ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้ในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ จึงถือว่าการกู้ยืมเงินดังกล่าวของทั้ง 31 พรรค ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

ล่าสุด วันที่ 24 ก.ย. กกต.ได้ออกเอกสารชี้แจง ใจความว่า การตรวจสอบเรื่องการกู้ยืมเงินของพรรคการเมือง ได้ดำเนินการตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้จากคำวินิจฉัยที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 คือ

เงินกู้ยืมมิใช่รายได้ของพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 62 แต่เป็นรายรับและเงินทางการเมือง ซึ่งการได้มาและใช้จ่ายต้องเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย

ส่วนการให้กู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า ย่อมถือว่าเป็นประโยชน์อื่นใด ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 4 และภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคสอง จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการบริจาคและการรับเงินบริจาค ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 66 และมาตรา 72 ซึ่งตามหลักเกณฑ์ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 66 ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเกิดมูลค่า 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี


พบ 3 พรรคกู้เกิน 10 ล้าน

จากการตรวจสอบพรรคการเมืองทุกพรรค นับตั้งแต่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มีผลใช้บังคับ พบว่ามี 3 พรรคการเมือง ที่มีงบการเงินประจำปี 2561 ปรากฏมีการกู้ยืมเงินกว่า 10 ล้านบาท คือ

  • พรรคภูมิใจไทย 30 ล้านบาท
  • พรรคประชากรไทย 12 ล้านบาท
  • พรรคเพื่อไทย 13 ล้านบาท

แต่เป็นกรณีกู้ยืมมาตั้งแต่ปี 2555 และยังไม่มีการใช้คืน จึงเป็นยอดหนี้ที่คงค้างในงบการเงินประจำปี 2561

เมื่อตรวจสอบแล้วในแต่ละปียอดกู้ยืมไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี จึงไม่เป็นการกระทำผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 62 ประกอบ มาตรา 72


แจงเหตุเอกสารสลับ

กรณีประกาศนายทะเบียนพรรคการเมืองเรื่องงบการเงินของพรรคการเมืองประจำปี 2561 ที่ได้ลงประกาศในเว็บไซด์ของสำนักงาน กกต.ไปแล้วจำนวน 79 พรรครวม 609 หน้า ภายหลังตรวจสอบพบว่ามีเอกสารบันทึกข้อความเกี่ยวกับรายงานการรับบริจาคเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดลงประกาศไปด้วย ซึ่งเอกสารดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับงบการเงินของพรรคการเมืองแต่อย่างใด จึงได้นำเอกสารดังกล่าวออกจากเว็บไซด์ของสำนักงานกกต. ทำให้เอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองเหลือจำนวน 608 หน้า ซึ่งสามารถดูได้ที่เว็บไซด์กกต.      

สำหรับเอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองที่สลับหน้ากัน เนื่องจากในขั้นตอนจัดทำไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ของพรรคการเมืองดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ทางเว็บไซด์กกต. มีเอกสารจำนวนมาก จึงต้องแยกเอกสารเป็น 13 ชุดเพื่อสแกน โดยในขั้นตอนนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เกิดความคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามลำดับของชุดเอกสารดังกล่าวทำให้ไฟล์เอกสารสลับหน้ากัน เป็นเหตุให้เอกสารงบการเงินของ 9 พรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ( พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย) พรรคพลังประชาธิปไตย พรรคพลเมืองไทย( พรรคพลังพลเมืองไทย) พรรคไทยธรรม พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคพลังสังคม เรียงลำดับไม่ต่อเนื่องกัน

แต่ยืนยันว่าเอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองทั้ง 79 พรรคที่ กกต.เผยแพร่ยังมีข้อมูลถูกต้องครบถ้วนตามที่แต่พรรคได้จัดส่งมา ซึ่งงบการเงินของพรรคการเมืองต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองและต้องนำเข้าที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเพื่ออนุมัติและหัวหน้าพรรคต้องรับรองความถูกต้องร่วมกับเหรัญญิกพรรคการเมืองก่อนจัดส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งต้องสอดคล้องกับรายงานการประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองและระบบบัญชีของพรรคการเมือง จึงไม่มีผู้ใดจะไปแก้ไขงบการเงินของพรรคการเมืองที่ส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองให้ผิดไปจากงบการเงินที่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่พรรคได้ ซึ่งเอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองที่มีการสลับหน้ากันทาง กกต.จะดำเนินการแก้ไขลำดับเอกสารให้ถูกต้องต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :