ไม่พบผลการค้นหา
จากบทเรียนนานาประเทศได้ข้อสรุปเช่นเดียวกับไทย เมื่อเหล่านายพลยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ มันคือจุดเริ่มของความล้าหลัง ล้มเหลว ท้อถอย และสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ

มีหลายดัชนียืนยันว่าหลังจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยหลายๆ อย่างถูกฉุดรั้งให้เป็นไปในทาง ‘ลบ’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เพิ่ม ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนำมาสู่การก่อหนี้, อัตราว่างงานไต่ระดับสูงขึ้น, ตัวเลขการเลิกจ้างมากที่สุดตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาเกิดขึ้นหลัง คสช.เข้ายึดอำนาจ, รวมถึงการจดทะเบียนนิติบุคคลน้อยลงและเลิกกิจการเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้หลายประเทศได้ข้อสรุปเช่นเดียวกับไทยว่าการทำรัฐประหารแล้วบริหารประเทศโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร มันคือจุดเริ่มของความล้าหลัง ล้มเหลว ท้อถอย และสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ อย่างแท้จริง

รัฐบาลขาดความรู้ทางเศรษฐกิจ สร้างหนี้ ประชาชนยากจนและตกงานมากขึ้น

ที่ประเทศอียิปต์ เมื่อนายพลอับเดล ฟาตะห์ อัลซีซี (Abdel Fattah el-Sisi)ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทำรัฐประหารยึดอำนาจจากโมฮาเม็ด มอร์ซี (Mohamed Morsi) ในปี 2013 อัลซีซีกล่าวถึงการรัฐประหารครั้งนั้นว่า เป็นการยึดมั่นต่อความรับผิดชอบต่อพลเรือน และกองทัพไม่ได้แสวงหาอำนาจ หลังการยึดอำนาจฝ่ายผู้สนับสนุนมอร์ซีเดินหน้าประท้วงรัฐบาลชั่วคราวของอัลซีซีทำให้เกิดการปะทะกับกองกำลังความมั่นคงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน ดำเนินคดีและยังประกาศว่ากลุ่มผู้นำการประท้วงเป็นกลุ่มก่อการร้าย ต่อมาในปี 2014 มีการจัดทำประชามติภายใต้รัฐบาลทหาร การรณรงค์ไม่เห็นด้วยถูกดำเนินคดีแต่กลับมีการรณรงค์เพื่อกระตุ้นชาวอียิปต์ให้ลงเสียงเห็นด้วยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อย่างดาษดื่น ผลประชามติคือรับร่างรัฐธรรมนูญสูงถึง 98% และเมื่ออียิปต์จัดการเลือกตั้งในปีเดียวกัน อัลซีซีก็ชนะด้วยสัดส่วนคะแนนสูงถึง 97% ของการลงคะแนนที่ถูกต้อง

การขาดความรู้ทางเศรษฐกิจของทหารแต่เข้ามาบริหารประเทศทำให้อียิปต์เกิดวิกฤตหนี้สิน โดยสำนักข่าว The New Arab ที่ประเทศอังกฤษตั้งข้อสังเกตว่าวิกฤตหนี้สินของรัฐบาลอียิปต์ในปี 2018 นี้ไม่ได้รับการรายงานเท่าที่ควรและยังชี้ว่าเมื่อเทียบกับตุรกีแล้วในความเป็นจริงวิกฤตหนี้สินของอียิปต์แย่ยิ่งกว่าวิกฤตการเงินตุรกีที่เป็นข่าวไปทั่วโลก โดยประเทศอียิปต์ได้กู้เงินจากต่างประเทศอย่างมากเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปี 2016 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปล่อยสินเชื่อให้อียิปต์ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังมีสหรัฐฯ ประเทศในยุโรป รัสเซีย และจีน ที่ปล่อยสินเชื่อให้ โดย The New Arab ชี้ว่าองค์กรและประเทศเหล่านี้ประเมินเพียงแค่เสถียรภาพทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการใช้หนี้ต่างประเทศของอียิปต์ โดยข้อกำหนดของ IMF คืออียิปต์ต้อง ลดการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งจากเดิมเคยช่วยลดค่าใช้จ่ายพื้นฐานให้แก่ประชาชน เช่น ราคาน้ำมันเบนซิน รถไฟฟ้าใต้ดิน ก๊าซหุงต้ม น้ำดื่ม การลดการใช้จ่ายภาครัฐนี้ทำให้มีคนจนในอียิปต์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นปัจจุบันชาวอียิปต์ถึง 40% ดำรงชีพคิดเป็นมูลค่าต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน

ส่วนการรัฐประหารที่ ฮอนดูรัส ปี 2009 สัมพันธ์กับอัตราการว่างงานที่แย่ลง โดยจำนวนคนที่ทำงานพาร์ทไทม์เนื่องจากไม่สามารถหางานประจำได้ เมื่อรวมกับจำนวนคนว่างงาน ซึ่งก่อนรัฐประหารอยู่ที่ 6.8% ในปี 2008 แต่หลังจากมีรัฐประหารได้เพิ่มขึ้นเป็น 14.1% ในปี 2012 และเมื่อดูค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงต่อปีของรายได้ต่อหัวประชากร (Average Annual Per Capita Income Growth) ของกลุ่มคน 10% ที่รวยที่สุด เทียบกับอีก 90% พบว่า จากปี 2006-2009 คนรวย 10% เพิ่มขึ้นปีละ 1.3%, ส่วนคนอีก 90% ที่เหลือเพิ่มขึ้นปีละ 9% แต่จากปี 2010-2011 คนรวย 10% เพิ่มขึ้นปีละ 6.9%, แต่ที่เหลือ 90% กลับลดลงปีละ 6.5%

ภาพลวงของปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจหลังรัฐประหาร

รัฐประหารที่ประเทศชิลีในปี 1973 โดยนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ได้นำกองทัพชิลีทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีฝ่ายที่ยกย่องนายพลปิโนเชต์ว่าเป็นผู้เริ่มต้นทำให้ชิลีเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจหรือ Miracle of Chile แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนอกจากประณามการคุมขังซ้อมทรมานและสังหารคู่แข่งทางการเมืองและประชาชนผู้ต่อต้านจนมีการเรียกว่าเป็นโศกนาฏกรรม 9/11 ของชิลี (รัฐประหารเมื่อ 11 ก.ย.) ซึ่งเป็น การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา แต่ก่อนที่จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าปาฏิหาริย์การพัฒนาเศรษฐกิจของชิลี ช่วง 10 ปีแรก ภายใต้การปกครองของนายพลปิโนเชต์ชาวชิลีว่างงานสูงมาก โดยค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงปี 1983 ว่างงานสูงถึง 30.4% เป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนับแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งรัฐบาลของปิโนเชต์ต้องใช้เวลาเกิน 15 ปี กว่าจะบริหารเศรษฐกิจให้รายได้เฉลี่ยต่อคนของประชาชนกลับมาสู่ระดับรายได้ก่อนรัฐประหาร จนถึงเมื่อกลางทศวรรษที่ 1980 เศรษฐกิจชิลีรุ่งเรืองมากที่สุดตั้งแต่บันทึกข้อมูลของประเทศ ทำให้ปิโนเชต์ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ต่อมาในปี 1988 เขาได้เปิดช่องให้ประชาชนชาวชิลีใช้สิทธิว่าจะให้เขาเป็นผู้นำต่อหรือไม่ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ไม่เอาเขา เมื่อเขาลงจากตำแหน่งในปี 1990 และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตย แต่ปิโนเชต์ก็ยังเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพต่อไปอีก 7 ปี จากนั้นก็เป็นสมาชิกวุฒิสภาของชิลีแบบตลอดชีพ

แต่ภายหลังมีผู้ศึกษาปาฏิ��าริย์การพัฒนาเศรษฐกิจของชิลีที่เริ่มขึ้นเมื่อกลางทศวรรษที่ 1980 ภายใต้นายพลปิโนเชต์ ซึ่งพบว่าเป็นผลพวงจาก ระบอบประชาธิปไตยก่อนหน้า เขาแล้ว เช่น การเวนคืนที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากระบอบกึ่งศักดินาในทศวรรษที่ 1960 และต้น 1970 ที่ภายหลังระบอบเผด็จการทหารใช้ทำเกษตรกรรมขนาดกว้างใหญ่ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจชิลีเติบโตจากการส่งออก และอีกปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชิลีรุ่งเรืองก็เป็นผลพวงจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1920 อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรชาวชิลีในปี 1970 ก็ต่ำกว่า 10% แล้ว มหาวิทยาลัยในชิลีก็จัดอยู่ในกลุ่มดีที่สุดของทวีปอเมริกาอยู่แล้ว หน่วยงานด้านการเงินของรัฐก็แข็งแกร่งมาตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยอยู่แล้ว

รัฐประหารเกาหลีใต้ปี 1961 แม้จะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยอดเยี่ยมในยุคเผด็จการ ซึ่งเน้นการส่งออกโดยมีพันธมิตรสำคัญอย่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น แต่ มาตรฐานการดำรงชีพ ของคนงานในเมืองและเกษตรกรยังอยู่ในระดับต่ำ คนงานต้องรับค่าแรงที่ต่ำเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสำหรับแผนเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก และเกษตรกรมีความเป็นอยู่ใกล้ความยากจนเนื่องจากรัฐบาลควบคุมราคาสินค้าเกษตร อย่างไรก็ดีเมื่อผ่านไป 10 ปี รัฐบาลได้หาวิธีให้เกษตรกรมีผลิตภาพมากขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดช่องว่างระหว่างรายได้ในเมืองกับชนบท

การเอารัดเอาเปรียบแรงงานหญิง ด้วยการจ่ายค่าแรงต่ำสำหรับผู้หญิง หญิงสาวหลายแสนคนต้องทำงานและอาศัยอยู่ในหอพักของบริษัทอันคับแคบที่เรียกกันว่า ‘รังผึ้ง’ ซึ่งมีการละเมิดทางเพศบ่อยครั้งโดยตำรวจ ช่วงทศวรรษ 1970 ถึงกลางทศวรรษ 1980 สหภาพแรงงานเกาหลีใต้มีผู้หญิงมากกว่า และการประท้วงของคนงานส่วนใหญ่มีผู้หญิงมากกว่า แล้วคุณภาพชีวิตแรงงานก็ค่อย ๆ ดีขึ้น ทั้งนี้มี งานวิชาการ ที่ชี้ว่า พัค จุง-ฮี (Park Chung-hee) ผู้นำการรัฐประหารซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่เริ่มต้นทำให้เกาหลีใต้รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ได้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ชาง มยอน (Chang Myon) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนพัฒนานั้นได้เนื่องจากขาดเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งนำมาสู่รัฐประหารนี้