ไม่พบผลการค้นหา
แล้งหนัก ข้าวสต็อกเก่าระบายหมด ดันราคาข้าวเปลือกเหนียว ข้าวสารเหนียวราคาพุ่ง เดือน ส.ค. ราคาตันละ 13,900-17,600 บาท และ 38,500-38,600 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 60 และ 98 ตามลำดับ กระทบคนกินข้าวเหนียวนึ่งแพงเป็นประวัติการณ์ กรมการค้าภายในประเมิน ต.ค.-พ.ย.สถานการณ์จะคลี่คลาย

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากที่มีกระแสข่าวชาวภาคเหนือเรียกร้องภาครัฐควบคุมราคาข้าวเหนียว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในขอชี้แจงว่า ปัจจุบันสถานการณ์ข้าวเหนียวโดยรวมตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561 ถึง ส.ค. 2562 ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาข้าวเปลือกเหนียว และราคาข้าวสารเหนียว โดยราคาข้าวเปลือกเหนียว ปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 9,549 บาท/ตัน และทยอยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 13,900 – 17,600 บาท/ตัน ณ วันที่ 16 ส.ค. 2562 โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 59.90 (ณ 16 ส.ค. 2561 ราคา 9,000 – 10,700 บาท/ตัน) 

ส่วนราคาข้าวสารเหนียว ปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 19,610 บาท/ตัน และทยอยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 38,500 – 38,600 บาท/ตัน ณ วันที่ 16 ส.ค. 2562 โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 98.20 (ณ 16 ส.ค. 2561 ราคา 19,400 – 19,500 บาท/ตัน) 



S__51167252.jpg

สำหรับพื้นที่เป้าหมายปลูกข้าวเหนียวปี 2562/63 จำนวน 16.172 ล้านไร่ คาดการณ์ปริมาณผลผลิต ปี 2562/63 อยู่ที่ 6.142 ล้านตัน แต่ทั้งนี้จากภาวะภัยแล้งก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 6 แสนไร่ ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต ทำให้ผลผลิตลดลง และส่งผลให้การส่งออกลดลง 

โดยช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. 2562 มีปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 61,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 119,671 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การส่งออกโดยรวมจะมีปริมาณไม่มากปีละประมาณ 2 แสนตัน โดยผลผลิตข้าวเหนียวส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศ

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ข้าวเหนียวมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก มีหลายปัจจัย ทั้งจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบให้ผลผลิตข้าวเหนียวทั้งนาปีและนาปรังที่ผ่านมามีปริมาณน้อยกว่าทุกปี ประกอบกับเป็นช่วงรอยต่อของฤดูกาล ข้าวเก่าเหลือน้อย ข้าวใหม่ก็ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว และภาครัฐได้ระบายข้าวในสต็อกหมด ส่งผลให้ช่วงนี้ข้าวเหนียวขาดแคลนอย่างมาก ชาวนาเก็บไว้บริโภคเอง เนื่องจากคาดว่าผลผลิตจะมีปริมาณน้อยมาก  ถ้าไม่จำเป็นจะไม่นำออกขาย 

ด้านผู้ประกอบการโรงสีก็ต้องการรับซื้อข้าวเพื่อเก็บไว้ในสต๊อกและแปรรูป เพื่อจำหน่าย ซึ่งผลผลิตที่ขาดแคลนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดการจำหน่าย แต่หากมีสินค้าก็ต้องจำกัดโควต้าให้ผู้รับซื้อ เพื่อปันส่วนของสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการและกระจายได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือน ต.ค. – พ.ย. 2562 ผลผลิตข้าวนาปีฤดูกาลใหม่ปี 2562/63 จะเริ่มออกสู่ตลาด ราคาข้าวเหนียวน่าจะปรับตัวลดลง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ทั้งในด้านราคาและปริมาณผลผลิตที่ขาดแคลนจะค่อยๆ คลี่คลายลง

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค กรมการค้าภายในได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไร และค้ากำไรเกินควร รวมทั้งจะกำกับดูแลไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้า และตั้งราคาสูงโดยไม่สอดคล้องกับต้นทุน โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงสีให้จำหน่ายสินค้าในราคาสอดคล้องกับต้นทุนไม่เอาเปรียบผู้ซื้อและผู้บริโภค รวมถึงหากจำเป็นจะดำเนินการตรวจสอบสต็อกสินค้า โดยหากพบการกระทำความผิด เช่น มีการกักตุนสินค้า หรือตั้งราคาสูงเกินสมควร ขอให้แจ้งได้ที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป


ราคาข้าวเหนียวจ.เชียงใหม่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จี้รัฐแก้ไขด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม่ค้าที่ตลาดสดหน้าค่าย ป.พัน 7 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บอกว่า ปลายปี 2561 ราคาข้าวสาร ข้าวเหนียว กข.6 จากกระสอบละ 900 บาท ค่อย ๆ ขึ้นราคาเดือนละร้อยสองร้อย ล่าสุดวันนี้กระสอบละ 1,850 บาท หรือขึ้นมา 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ราคาขายปลีกจำเป็นต้องขยับตาม และ ต้องขายขั้นต่ำที่ 10 บาท จากเดิมเริ่มที่ 5 บาท 

เช่นเดียวกับนายวิญญู ประสานวงษ์ เจ้าของร้านขายข้าวสารลุงหนวด ในตลาดศิริวัฒนา อ.เมืองเชียงใหม่ ที่บอกว่าราคาข้าวเหนียวปรับขึ้นเป็นรายวัน ข้าวเหนียวเขี้ยงงู จากเดิมกระสอบละ 1,200 บาท เป็น 2,000 บาท ล่าสุดเริ่มขาดตลาด สาเหตุเชื่อว่าเป็นเพราะมีการสั่งซื้อข้าวเหนียวจากทางภาคเหนือ ส่งไปขายในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน 



vlcsnap-2019-08-21-10h03m33s39.jpg

ด้านนางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวแพงในขณะนี้ มีหลายปัจจัย ทั้ง ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตข้าวทั้งนาปรังและนาปีที่ผ่านมามีน้อยกว่าทุกปี ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อของฤดูกาล ข้าวเก่าเหลือน้อย ข้าวใหม่ก็ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ขณะที่ความต้องการบริโภคกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาปรับตัวสูงตามกลไกทางการตลาด 

พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า แม้ข้าวจะเป็นสินค้าควบคุม แต่เป็นสินค้าควบคุมที่จะต้อง “ติดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีก” ไม่ได้มีการควบคุมราคา หรือ เพดานราคาขั้นสูงไว้ ขณะที่หน่วยงานรัฐมีเพียงมาตรการในการตรวจสอบรายงานปริมาณสินค้าคงเหลือของกลุ่มโรงสีและกลุ่มผู้ค้าส่งข้าวเป็นรายเดือน เพื่อติดตามและควบคุมการกักตุนสินค้า ไม่มีอำนาจเข้าไปกำหนดเพดานราคา เว้นแต่คณะกรรมการว่าด้วยสินค้าและบริการระดับจังหวัด ที่จะพิจารณาตามสถานการณ์ ประกาศควบคุมราคา เหมือนกับที่เคยมีการประกาศควบคุมราคาน้ำตาลทรายก่อนหน้านี้ 

อย่างไรก็ตาม การประกาศควบคุมราคาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะการกักตุนสินค้าที่จะส่งผลกระทบจะย้อนกลับไปตกที่ผู้บริโภคเสียเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :