ไม่พบผลการค้นหา
แม้มี 'เอกสิทธิ์' แห่งความเป็นสมาชิกรัฐสภา ส.ส. ถูกฟ้องได้หากการอภิปรายถูกถ่ายทอดออกนอกรัฐสภา และผู้ถูกละเมิดไม่ใช่ รัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐสภา

การเป็นสมาชิกรัฐสภา หรือการดำรงตำแหน่งทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นการครอบครอง 'เอกสิทธิ์' (privilege) ที่รัฐธรรมนูญเป็นผู้มอบให้ ในที่นี้คือตามมาตรา 124 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งสมาชิกมีเอกสิทธิ์ที่จะไม่ถูกดำเนินคดี 

  • "ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคําใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนําไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดๆ มิได้"

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดคำถามว่าเหตุใด ที่ผ่านมา ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้าน จำนวนไม่น้อยจึงถูกยื่นดำเนินคดี แม้บางกรณีเป็นเพียงคำขู่ แต่บางกรณีกลับมาหมายศาลมาถึงเจ้าตัวจริงๆ 


เอกสิทธิ์ใต้ 'ขอบเขต'

จริงอยู่ว่า วรรคแรกของมาตรา 124 ระบุไว้ซึ่งเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา ทว่าในวรรคถัดมา กลับระบุถึงข้อยกเว้นของเอกสิทธิ์นั้นไว้เช่นเดียวกัน 

  • "เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคําในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทาง วิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใด หากถ้อยคําที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคํานั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น"

เมื่อถอดความจะพบว่า สมาชิกรัฐสภาจะไม่ได้รับการคุ้มครองโดยทันที เมื่อคำปราศรัยของสมาชิกผู้นั้นถูกถ่ายทอดออกไปนอกรัฐสภา และถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น

ดังนั้น หากไม่ใช่การอภิปรายปิดแบบไม่มีการถ่ายทอด บุคคลหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่ "รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น" มีสิทธิฟ้องร้องได้ 


กรณีตัวอย่าง 'เบญจา แสนจันทร์' 

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา 'เบญจา แสงจันทร์' ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หยิบประเด็นการแบกต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนชาวไทยขึ้นมาพูด

โดยระบุว่า "ระบอบประยุทธ์" เอื้อให้เอกชนรายใหญ่บางแห่งได้รับผลประโยชน์จากการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน 

ณ ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมีการถ่ายทอดเสียงและภาพออกมาภายนอก ทั้งทางโทรทัศน์และแบบออนไลน์ เบญจา ได้กล่าวถึง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) อย่างมีนัยสำคัญ 

161587845_3948222805242634_5782210997314701832_n.jpg
  • 'เบญจา แสงจันทร์' ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

เธอเปรยว่า จริงอยู่ที่ตามปกตินั้น เมื่อบริษัทประมูลงานชนะหรือได้รับสัมปทานใดๆ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดย่อมเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เธอตั้งข้อสังเกตว่าการประมูลงานที่ บริษัท กัลฟ์ ได้ล้วนเป็นงานจากภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งหมายถึงการเอื้อประโยชน์จากรัฐบาลให้เอกชนหรือไม่ 

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนั้น ล่าสุด ส.ส.หญิง พรรคก้าวไกล ได้รับหมายศาล ลงวันที่ 5 มี.ค. 2564 หรือไม่นานหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยลงชื่อผู้ยื่นฟ้องคือ "กรรมการบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)"

หากพิจารณาจากมาตรา 124 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงต้องตอบว่า หากคำพูดของเบญจา มีมูลของการหมิ่นประมาทจริง กรรมการบริษัท กัลฟ์ จึงมีสิทธิยื่นฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย เนื่องจาก ส.ส.เบญจา ไม่ได้รับการคุ้มครองอีกต่อไป เมื่อการอภิปรายครั้งนั้นถูกถ่ายทอดออกจากรัฐสภา และผู้ถูกพาดพิงไม่ใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐสภา 


กรณี 'ธรรมนัส' ฟ้อง ส.ส.ก้าวไกล 

เมื่อ 22 พ.ค. 2563 เฟซบุ๊กของ iLaw โพสต์บทความวิเคราะห์ การสวนเอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส.ในการอภิปรายในรัฐสภา (แบบที่ไม่อาจทำได้) จากกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบอำนาจให้ อาทิตย์ มานัสสา ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ธรรมนัส ชี้ว่าเขาได้ถูกณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์โฆษก และธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2563 กรณีขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน

iLaw ระบุว่า "หากข้อเท็จจริงชัดเจนว่า พฤติการณ์ที่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวหา ส.ส.พรรคก้าวไกลทั้ง 2 คน นั้นเป็นข้อความที่เกิดขึ้นในที่ประชุมสภาระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจจริง ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการประชุมที่มีการถ่ายทอดผ่านสื่อหรือทางอื่นใด ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส ไม่มีสิทธิในการแจ้งความดำเนินคดีต่อทั้งสอง เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาตามมาตรา 124 วรรคสอง"

กรณี 'รังสิมันต์ โรม' และ 'ป่ารอยต่อ'

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 27 ก.พ. 2563 วันเดียวกันกับกรณีธรรมนัสนั้น รังสิมันต์ โรม ส.ส. จากพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายพูดถึงกรณีความเชื่อมโยงระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ เครือข่ายผลประโยชน์ผ่านมูลนิธิป่ารอยต่อฯ 

อย่างไรก็ดี เวลาในการอภิปรายในรัฐสภาของโรมไม่เพียงพอ เขาจึงเลือกจะออกไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ "นอกที่ประชุมสภา" จนเป็นที่มาให้เขาไม่ได้รับเอกสิทธิ์ในการคุ้มครองการฟ้องร้อง และโดนฟ้องในฐานกระทำความผิดข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกที่ประชุมสภา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับมูลนิธิฯ ในที่สุด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;