คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดเสวนา 'การปฏิรูปสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองไทย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย' ครั้งที่สอง โดย นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอัตลักษณ์อนุรักษ์นิยม จำกัดสิทธิ และลดอำนาจของประชาชนมากที่สุด หากเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 จึงเห็นว่าต้องแก้ไขเพื่อเพิ่มสิทธิและขยายอำนาจประชาชน รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับการเมืองเศรษฐกิจและสังคม โครงสร้างอำนาจจะต้องเอื้อกับทุกฝ่าย หากขาดสมดุลก็จะเกิดปัญหาทั้งหมด มีบทเรียนทางประวัติศาสตร์ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง
ปธ.ครป. ยัน แก้รธน. 60 ไม่นองเลือด ขอเจรจาหาสมดุลใหม่
นายพิชาย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันซับซ้อนมากกว่าปี 2540 การต่อสู้ทางความคิดสูงขึ้น มีความหลากหลาย อุดมการณ์สูงขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต ต้องมีการปรับให้สอดคล้อง
ในอดีต พลังการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีน้อยมาก เพียงแค่กลุ่มอำนาจนักการเมืองท้องถิ่น แต่ส่วนมากให้การสนับสนุน ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นอุปสรรคในการแก้ไข พลังทางสังคมที่เหวี่ยงมากเกินไปจากการสร้างดุลอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม คนเขียนรัฐธรรมนูญน่าจะตระหนักและรับรู้พอสมควร
"ไม่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจุดชนวนการนองเลือด แต่อยากให้กลุ่มพลังทางสังคมมาเจรจากันว่า จะทำอย่างไรให้เกิดสมดุลขึ้น มากกว่าปัจจุบันที่ไม่สมดุลเลย อยากให้เกิดการถกเถียงในวงเสวนา หรือรัฐสภา ไม่ใช่การออกมาบนท้องถนน" ประธานครป.กล่าว
ประธาน ครป. กล่าวอีกว่า ด้านเศรษฐกิจที่มีการผูกขาดมหาศาล ออกกฎหมายต่อต้านก็ไม่มีปัญญาทำอะไรได้มาก ผู้นำทางการเมืองต้องมีเจตนาในการต่อสู้ทุนผูกขาดอย่างแท้จริงจึงจัดการได้ อีกแง่หนึ่ง เรามีประชาธิปไตยมากเกินไปสำหรับทุนผูกขาดที่เข้าไปเป็นกรรมการต่างๆ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ แต่กลับไม่มีที่นั่งให้ประชาชน ถือเป็นปัญหาสมดุลระหว่างทุน รัฐ และประชาชน เช่นเดียวกับองค์กรอิสระก็ไม่มีที่ทางให้ประชาชน เป็นเพียงที่พักพิงข้าราชการเกษียณ ต้องเลิกกำหนดคุณสมบัติเทวดา ต้องเป็นอธิบดี มีงานวิชาการ แต่ใครจบปริญญาตรี มีประสบการณ์ สามารถสมัครได้เลย
'สมชาย' ชู จุดขาย 'รธน.กินได้' หาแนวร่วมแก้ไข ชี้ รบ.อ่อนแอ-เศรษฐกิจรุมเร้า พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่า ไทยผ่านวิกฤตและโอกาสที่เปิดขึ้น เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง แต่พลังฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่ได้ขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ปัจจัยสำคัญ คือ ความรู้ ประสบการณ์ และการดำรงรักษาพลังขับเคลื่อนครั้งต่อไป ยังไม่อาจทำได้ อย่าง '14 ตุลา 16' พลังนักศึกษา ชาวนา เกิดขึ้นมหาศาล แต่ถูกตีโต้ในเหตุ '6 ตุลา 19' ในปี 2535 การโค่นล้มรัฐบาลทหาร มีโอกาสมาก มีทั้งวิกฤตทางการเมือง และเศรษฐกิจ ข้อเรียกร้องจากประชาชน คือ ปฏิรูปให้ถึงราก แต่ก็ทำได้เพียงบางส่วน สุดท้ายก็ถูกตีโต้จากฝ่ายอนุรักษ์นิยม
"วันนี้ไทยถอยหลังไปไม่ใช่น้อย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยากที่จะแก้ไขได้ แม้หลายฝ่ายริเริ่มแล้วก็ตาม แต่บางทีโอกาสนั้น ก็อาจมาโดยที่ไม่คาดหมายได้ มันอาจเกิดขึ้น พรุ่งนี้ เดือนหน้า หรือปีหน้าก็ได้ โอกาสมักจะมาจากวิกฤตเสมอ อย่างตอนนี้ รัฐบาล โดยไม่นับกองทัพ หรือสถาบันอนุรักษ์นิยมต่างๆ ที่ค้ำจุนอยู่ ก็ถือว่า อ่อนแอ เปราะบาง เศรษฐกิจก็กำลังมีปัญหา อาจเป็นต้นเหตุรุมเร้าให้เกิดวิกฤตขนานใหญ่ก็ได้ ทุกคนอย่าเพิ่งท้อแท้" นายสมชายกล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า จุดรวมศูนย์การแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา คือ 'ทำให้กินได้' นี่คือโจทย์ต้องนำเสนอ เพื่อให้ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชน หากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ต้องคิดถึงการทำให้เราไม่ถอยหลังกลับมาอีก ผ่านการต่อต้านรัฐประหาร กับการทำให้พลังประชาชนเติบใหญ่ ต่อยอดในลักษณะทวีคูณ
ส่วนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เห็นด้วยให้มีการจัดตั้ง 'สภาร่างรัฐธรรมนูญ' ขึ้นมา แต่นี่คือจุดอ่อนไหวต้องระวังเป็นพิเศษ หากสภาไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง การปฏิรูปประเทศไทยจะไม่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: