ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อเกิดไฟป่าลุกลามหลายพื้นที่ในแอมะซอน หลายคนพุ่งเป้าไปที่การตัดไปทำลายป่า เพื่อการทำเกษตร และปศุสัตว์เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมส่งออกเนื้อ แต่อุตสาหกรรมแฟชั่นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มีการทำลายป่าเช่นกัน

ไฟป่าในแอมะซอนทำให้คนทั่วโลก รวมถึงคนไทยจำนวนมาก หันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เพราะป่าแอมะซอนเป็นป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดของโลก แต่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดตอนนี้ไม่ใช่การใส่เสื้อหรือผลิตถุงผ้าสกรีนคำขวัญรณรงค์ให้อนุรักษ์ป่า เพราะแฟชั่นเสื้อผ้าก็เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่า

ก่อนหน้านี้ บริษัท LVMH ยักษ์ใหญ่ด้านแฟชั่นประกาศว่าจะให้เงินช่วยเหลือวิกฤตไฟป่าในแอมะซอนเป็นเงิน 20 ล้านยูโร โดยแบร์นาร์ด อาร์โนลต์ ซีอีโอของ LVMH ระบุในแถลงการณ์ว่า “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่คำพูดหรือลงนามอนุสัญญาที่เป็นหลักการ” แต่อุตสาหกรรมแฟชั่นทำลายป่ามาอย่างยาวนานแล้ว เงินช่วยเหลือก้อนนี้อาจน้อยไปและช้าเกินไปด้วยซ้ำ

ในปี 2018 การผลิตรองเท้าหนังทั่วโลกมีมากถึง 23,500 ล้านคู่ คิดเป็นร้อยละ 55 ของสินค้าหนังทั้งหมด และผู้บริโภคแฟชั่นทั้งหลายก็แทบไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า หนังวัวจำนวนมหาศาลนี้มากจากไหน และอาจไม่สนใจหรือไม่เคยรับรู้เลยว่า เราสามารถเลือกซื้อสินค้าหนังอย่างมีความรับผิดชอบได้ ด้วยการมองหาสินค้าที่ทำจากหนังที่ได้รับการรับรองแล้วว่ามาจากปศูสัตว์ที่ไม่ได้ทำลายป่า

เมื่อปี 2009 กรีนพีซ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมตีพิมพ์รายงาน Slaughtering the Amazon ที่สรุปว่า อุปสงค์ในการใช้หนังวัวเองก็เป็นสาเหตุในมีการทำลายป่าแอมะซอนมากขึ้น โดยหนังวัวไม่ได้เป็นแค่ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากอุตสาหกรรมเนื้อวัวเท่านั้น บริษัทส่งออกเนื้อวัวได้นำหนังวัวจำนวนมากส่งไปให้แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของโลก รวมถึงร้านค้าปลีกต่างๆ และที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือ ซัพพลายเออร์เหล่านี้ยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารของรัฐบาลบราซิลด้วย 

นักวิจัยพบว่า มีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายในป่าแอมะซอนอย่างต่อเนื่องเพื่อเอาไปทำปศุสัตว์ โดยทุกๆ 18 วินาที มีการทำลายป่าแอมะซอนคิดเป็นประมาณ 1 เฮกเตอร์ หรือ 6.25 ไร่ โดยโมเดลการตัดไม้และการเผาป่าเพื่อทำเกษตรมีขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1970s ที่รัฐบาลบราซิลผู้ประกอบการไปเอาพื้นที่ป่ามาทำธุรกิจ และมีการสำรวจพบว่า ช่วงปี 1993 - 2013 บราซิลเลี้ยงวัวเพิ่มขึ้น 200% หรือมากกว่า 60 ล้านตัว 

ที่ผ่านมามีความพยายามจะจูงใจให้ปศุสัตว์เลิกตัดไม้เผาป่ามาผลิตหนังวัวด้วยการส่งเสริมให้ตลาดแฟชั่นส่งเสริมการซ์้อหนังหรือผลิตภัณฑ์จากหนังที่ได้รับการรับรองว่าไม่ได้มาจากปศุสัตว์ที่ทำลายป่า โดยปี 2013 กุชชีเปิดตัวคอลเลกชันกระเป๋าที่ได้รับการรับรองจากโครงการนำร่องระหว่างปศุสัตว์กับเอ็นจีโอที่ปารีสแฟชั่นวีค

ขณะเดียวกันรายงานของกรีพีซยังกดดันให้กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างๆ เปลี่ยนซัพพลายเชนไปจากบริษัทที่ทำลายป่าแอมะซอน ในปี 2011 มีการทำข้อตกลงกันระหว่าง JSB หนึ่งในบริษัทผลิตเนื้อวัวที่ใหญ่ที่สุดของบราซิลกับอัยการว่า จะไม่ซื้อวัวจากพื้นที่ต้องห้ามหรือพื้นที่ที่มีการทำลายป่าอย่างผิดกฎหมาย บริษัทผลิตเนื้อวัวต้องรีบไปหาปศุสัตว์ที่ได้รับการรับรองด้วยภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักทะเบียนสิ่งแวดล้อมชนบท

หลังการทำข้อตกลงดังกล่าว JBS ซื้อเนื้อวัวจากปศุสัตว์ที่ลงทะเบียนกับสำนักทะเบียนสิ่งแวดล้อมชนบทมากถึงร้อยละ 96 ในปี 2013 จากตุลาคมปี 2009 ที่ตัวเลขนี้อยู่ที่ร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โครงการเหล่านี้ช่วยลดการทำลายป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในป่าแอมะซอนกลับเลวร้ายลง เมื่อฌาอีร์ โบลโซนารู ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีบราซิล เขาพยายามจะทำลายข้อตกลงต่างๆ และเปิดทางให้กลุ่มทุนรุกป่าแอมะซอนได้อีกครั้ง มีรายงานออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า JBS กลับมาซื้อวัวจากปศุสัตว์ที่อยู๋ในพื้นที่ต้องห้ามอีกครั้ง แต่ JBS ปฏิเสธรายงานนั้น แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะติดตามว่าวัวมาจากไหน

ขณะเดียวกัน โลกแฟชั่นก็ยังชื่นชอบหนังวัวจากแอมะซอนกันอยู่ โดยที่ผ่านมา บริษัทที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการนำร่องของเอ็นจีโอก็ยังซื้อหนังวัวจากปศุสัตว์ที่ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง หากบริษัท LVMH บริจาคเงินหลายสิบล้านตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อน เงินก้อนนั้นอาจเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ ควบคุมกลุ่มธุรกิจให้ทำลายป่าน้อยลง ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์ป่าแอมะซอนมากกว่าเป็นการตามแก้ปัญหาอย่างในปัจจุบัน

ทั้งนี้ วิกฤตไฟป่าแอมะซอนครั้งนี้ก็ทำให้บริษัทแฟชั่นหันมาตระหนักถึงผลกระทบของธุรกิจตัวเองต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดย VF Corp บริษัทแม่ของแบรนด์ Timberland, Vans และ Kipling ได้ประกาศว่าจะหยุดซื้อหนังบราซิล จนกว่าจะมั่นใจว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้กับสินค้าไม่ได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมของบราซิล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัญญาณที่จะเตือนรัฐบาลบราซิลว่า ปัญหาการทำลายป่าแอมะซอนจะส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อเศรษฐกิจ

 

ที่มา : The Guardian, Reuters