ไม่พบผลการค้นหา
'รัฐบาล' ยืนยันดูแลปัญหาภัยแล้งให้ประชาชนเต็มที่ ขอทุกคนร่วมมือแก้ปัญหา ย้ำการขุดลอกคูคลองขนาดเล็กเป็นแหล่งกักเก็บน้ำคือทางออกสำคัญอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาภัยแล้ง

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณฝนและน้ำที่กักเก็บไว้ในแหล่งต่างๆ มีปริมาณน้อย ซึ่งเรื่องนี้ทางรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมการรับมือเพื่อแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ โดยย้ำว่าปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งถือเป็นภัยธรรมชาติและเป็นปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องแก้ไข จึงต้องขอให้ทุกคนเข้าใจและร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องของการใช้น้ำ

สิ่งสำคัญนั่นคือการปรับตัว และการดำเนินมาตรการเพื่อรองรับกับปัญหา อย่างไรก็ตามได้สั่งให้ทุกหน่วยงานกำหนดแผนช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ 

พร้อมกันนี้ยังได้หาแนวทางและมาตรการเพิ่มเติม เพื่อดูแลด้านอาชีพให้กับเกษตรกรด้วย โดยให้แต่ละพื้นที่ทำโครงการขุดลอกแหล่งน้ำขนาดเล็กและให้แนวทางของความร่วมมือของทุกภาคส่วน เช่นที่จังหวัดชัยภูมิมีการร่วมมือกันขุดลอกคูคลองได้ระยะทางถึง 21 เมตร โดยใช้งบประมาณลดลงกว่าการดำเนินการตามปกติถึงร้อยละ 80 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลนั้นสามารถนำในประมาณส่วนที่เหลือไปพัฒนาด้านอื่นๆ      

นายกรัฐมนตรี ยังย้ำเรื่องของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะการปลูกพืชพลังงาน ที่ถือเป็นการวางแนวทางแก้ปัญหาด้านอาชีพ และความมั่นคงทางพลังงานให้กับเกษตรกรแบบครบวงจร

เพื่อไทยเตือนภาคเกษตรช้ำหนัก แนะรัฐปรับโครงสร้างบริหารต้นทุนเกษตรกร

ด้านนายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในปี 2563 ภาคการเกษตรจะประสบปัญหาหนักมาก ทั้งราคาพืชผลตกต่ำ หนี้สินเพิ่มทั้งหนี้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. หลายพื้นที่ยังพบปัญหาหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ มาจากภาพรวมของภาคเกษตรที่ติดลบต่อเนื่องมาหลายปี สำหรับในปี 2563 จะตกอยู่ในภาวะเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ปัญหามาจากภัยแล้ง และน้ำในระบบไม่พียงพอต่อการบริโภคและอุปโภค ส่งผลให้ภาพรวมของประเทศติดลบตามไปด้วยเพราะเมื่อภาคเกษตรติดลบจะส่งผลต่อระบบหมุนเวียนของเงินในประเทศ เศรษฐกิจของประเทศไทยจะทรุดหนักลงไปอีก วิธีที่รัฐจะแก้ปัญหาดีที่สุด รัฐควรที่จะใส่เม็ดเงินเพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร และสามารถการลดต้นทุนทาง การเกษตร การบริการการจัดการน้ำคือการบริหารต้นทุนทางการเกษตรที่ดีที่สุด

นายนิยมกล่าวด้วยว่า ในปี 2563 พบว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนถือว่าเข้าขั้นวิกฤติ หลายเขื่อนในประเทศไทย มีปริมาณน้ำเหลือเพียง ร้อยละ 40 ของปริมาณเขื่อนที่สามารถกักเก็บน้ำได้ อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อย เหลือปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาอุปโภคและอุปโภค ไม่สามารถปล่อยน้ำช่วยเหลือเกษตรกรได้ 

"สิ่งที่รัฐต้องทำคือการสร้างระบบการจัดเก็บน้ำฝนที่ตกใต้เขื่อนและน้ำตามธรรมชาติ ด้วยการทำระบบแก้มลิง พร้อมทำประตูระบายน้ำเปิด-ปิดเพื่อรักษาระดับน้ำ หรือเขื่อนขนาดเล็กเพื่อกักเก็บน้ำ เพราะสามารถกักเก็บน้ำได้ และสามารถปล่อยน้ำออกมาช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกรให้มีน้ำภาคเกษตรใช้ได้อย่างต่อเนื่อง รัฐต้องคิดให้เป็นในการแก้ปัญหาประชาชน ไม่ใช่แจกเงินอย่างที่ผ่านมา"

อ่านเพิ่มเติม