สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึง การปรับลดอัตราการเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชิงเพลิงดีเซล B7 จาก 1 บาทเหลือ 0.1 บาท /ลิตร ส่งผลให้ราคาดีเซล B7 ลดลงลิตรละ 1 บาท และลดสัดส่วนไบโอดีเซลจาก B7 และB10 เหลือ B6 ตั้งแต่วันที่ 11 ถึง 31 ตุลาคม ซึ่งจะช่วยทำให้โครงสร้างราคาดีเซลถูกลง พร้อมอธิบายสาเหตุราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเพราะ เกิดจากสถานการณ์ตลาดโลก ปรับขึ้นจาก 4-5 เหรียญเป็น 40 เหรียญ ซึ่งไม่ใช่ขึ้นแต่เพียงน้ำมัน แต่รวมไปถึงแก๊สธรรมชาติและถ่านหิน และเมื่อวานนี้กลุ่มโอเปกจะประชุมให้เพิ่มการกำลังผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรล ต่อวัน แต่ไม่สามารถหยุดยั้งราคาน้ำมันได้ จึงทำให้ต้องมาลงมาดูแลน้ำมัน โดยเฉพาะ B7 ซึ่งมีปริมาณการใช้จำนวนมาก โดยพยายามจะเชิญชวน ผู้ใช้ B7 มาใช้ B10 ซึ่งมีราคาต่ำกว่า 30 บาท แต่ยังทำได้ไม่ดีเนื่องจากยังมีปัญหาทางด้านเทคนิค จึงต้องพยายามทำให้ ราคาน้ำมัน B7 ตรึงราคาเท่ากับ B10
ส่วนเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะนี้เหลืออยู่หมื่นกว่าล้านบาท หากไม่พอสามารถกู้ยืมได้ตามกติกา แต่มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และหนาวเย็นในหลายภูมิภาค ทำให้กระทบต่อการผลิตน้ำมัน ในสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย รวมไปถึงความต้องการใช้เชื้อเพลิง ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นเป็น 2-3 เท่าตัวที่สหภาพยุโรป
ขณะเดียวกัน สุพัฒนพงษ์ ยังระบุถึง พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุว่า หากเป็นรัฐบาลจะสามารถลดราคาน้ำมันดีเซลลงได้ถึง 5 บาท ว่า จะต้องดูปริมาณการใช้น้ำมัน โดยปัจจุบัน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการใช้ปริมาณน้ำมันดีเซลวันละ 60 ล้านลิตร โดยหากมีการปรับลดอัตราลง 5 บาทต่อลิตร เท่ากับว่าต้องเสียรายได้วันละ 300 ล้านบาท ซึ่ง 1 เดือนจะสูญเสียรายได้กว่าหมื่นล้าน ไปหาสถานการณ์ปกติจะใช้วันละ 100 ล้านลิตร จะทำให้สูญเสียรายได้เดือนละกว่า 20 ล้านบาท หรือปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งหากกล่าวกรณีดังกล่าวสามารถพูดได้ แต่จะหาเงินจากที่ไหนมาอุดกองทุนน้ำมัน ซึ่งวิธีการที่รัฐบาลทำอยู่ขณะนี้เป็นการรักษาสมดุล เพราะมีการลดค่าประกอบการตลาดของสถานีบริการน้ำมัน เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค