วันที่ 18 มกราคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ASEAN Digital Ministers Meeting: ADGMIN) ครั้งที่ 5 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 17 มกราคม 2568 โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาร่วมประชุมอย่างคับคั่งว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มั่นคงและยั่งยืน โดยที่ประชุมได้หารือและรับรองประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การป้องกันการหลอกลวงออนไลน์ : ที่ประชุมรับรองรายงานการสำรวจการหลอกลวงออนไลน์ในอาเซียน (พ.ศ. 2566–2567) และข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานระดับชาติและภูมิภาค พร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนในการจัดการปัญหานี้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะปัญหาการหลอกลวงที่มีต้นตอจากประเทศแนวเขตชายแดน เช่น การหลอกลวงทางโทรศัพท์และการใช้โซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือในการโกงเงิน ที่มักพบการเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้กระทำผิดในประเทศใกล้เคียง เช่น กัมพูชา เมียนมา และลาว การหารือจึงให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ และการเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังได้เสนอการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าร่วมกัน เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการหลอกลวงในภูมิภาค
2.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ : รับทราบการจัดตั้งศูนย์ ASEAN Cert ณ สิงคโปร์ และรับรองเอกสาร ASEAN Checklist on Cyberspace Norms เพื่อสร้างมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยงานประสานงานเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ด้านไซเบอร์ในลักษณะเร่งด่วน
3.เศรษฐกิจดิจิทัล : สนับสนุนการจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) เพื่อเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการป้องกันการหลอกลวงออนไลน์ โดยที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้านดิจิทัล และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค
4.ธรรมาภิบาลข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ : รับรองแผนปฏิบัติการสำหรับ Global CBPR และเอกสารธรรมาภิบาล AI ที่ครอบคลุมถึง Generative AI เพื่อส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในภูมิภาคอย่างรับผิดชอบ โดยเน้นความโปร่งใส และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ พร้อมผลักดันการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม AI ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในภูมิภาค
5. 5G และการเชื่อมโยง : รับทราบความก้าวหน้าการใช้งาน 5G และหารือแนวทางลดค่าบริการข้ามแดน พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการควบคุมซิมการ์ด เพื่อป้องกันการหลอกลวงข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะการใช้งานซิมการ์ดที่ไม่ได้ลงทะเบียนในประเทศแนวเขตชายแดนที่มีการเคลื่อนไหวข้ามแดนบ่อยครั้ง เช่น ไทย - กัมพูชา และ ไทย - เมียนมา
6.ปฏิญญาดิจิทัลกรุงเทพ : รับรองปฏิญญาฉบับนี้เพื่อกำหนดทิศทางอนาคตดิจิทัลของอาเซียนที่เน้นความมั่นคงปลอดภัย ไร้รอยต่อ และครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเน้นการขยายการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงโอกาสทางดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม
นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้ยังได้หารือกับคู่เจรจา เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยมุ่งส่งเสริมมาตรฐานดิจิทัลและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นอกจากนี้ยังเน้นย้ำความสำคัญของการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเพื่อต่อสู้กับการหลอกลวงออนไลน์ในระดับสากล รวมถึงการพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในภูมิภาค
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ในโอกาสเดียวกันนี้ยังได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา และไทยกับฟิลิปปินส์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลในระดับภูมิภาค โดยเน้นประเด็นสำคัญ ได้แก่ การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ธรรมาภิบาลภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ และการป้องกันและการต่อสู้กับปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ด้วย
สำหรับ MOU ไทย-กัมพูชา เป็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ เช่น บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สินค้าและบริการของรัฐบาลดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล และความปลอดภัยออนไลน์ รวมถึงการป้องกันการหลอกลวงทางดิจิทัล
ขณะที่ MOU ไทย-ฟิลิปปินส์ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันและความเข้าใจซึ่งกันและกัน การส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ธรรมาภิบาลภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ยุทธศาสตร์รัฐบาลดิจิทัลและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอุบัติใหม่ เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง IoT และข้อมูลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ และการฝึกอบรมร่วมกัน
ทั้งนี้การประชุม ADGMIN ครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในปี 2569 ซึ่งประเทศสมาชิกมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือเพื่อสร้างภูมิภาคดิจิทัลที่เข้มแข็ง และยั่งยืนอีกด้วย