ไม่พบผลการค้นหา
เฟซบุ๊กประกาศแบนการเข้าถึงและแชร์ 'ข่าว' บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กออสเตรเลีย โต้ความพยายามในการผ่านกฎหมายบังคับให้เฟซบุ๊กและกูเกิลจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ข่าวให้กับผู้ผลิตสื่อ ด้านกูเกิลเตรียมเปลี่ยนแนวทางธุรกิจ ทุ่มงบซื้อลิขสิทธิ์ข่าวเองเป็นเวลา 3 ปี จาก News Corp ผู้กุมอำนาจสื่อออสเตรเลียและเจ้าของสื่อใหญ่ฝั่งสหรัฐฯ อย่าง The Wall Street Journal และ New York Post

เฟซบุ๊กประกาศเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ยืนยันว่าขณะนี้ ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กและสำนักข่าวในประเทศออสเตรเลียไม่สามารถแชร์และเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นข่าวในเฟซบุ๊กได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาข่าวจากภายในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม โดยความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากที่ทางการออสเตรเลียมีความพยายามในการผ่านกฎหมายที่จะบังคับให้แพลตฟอร์มผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก และกูเกิล ต้องจ่ายเงินให้กับทุกสำนักข่าว เพื่อให้เนื้อหาข่าวไปปรากฎอยู่บนแพลตฟอร์มของตนเอง เพราะปัจจุบันทุกเนื้อหาจากบรรดาสำนักข่าวทั่วโลกสามารถโพสต์บนแพลตฟอร์มได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้นกรณีการซื้อโฆษณา

แคมป์เบลล์ บราวน์ รองประธานด้านความร่วมมือสำนักข่าวนานาชาติของเฟซบุ๊ก ระบุในบล็อกโพสต์ว่า กฎหมายที่กำลังถูกนำเสนอฉบับนี้ของออสเตรเลียละเลยธรรมชาติพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างเฟซบุ๊กและสำนักข่าว อีกทั้งเฟซบุ๊กเองไม่เคยขโมยเนื้อหาข่าวเพื่อนำมาปรากฎอยู่บนแพลตฟอร์มดังที่หลายคนกล่าวหา แต่เป็นความต้องการของสำนักข่าวเองที่ต้องการโพสต์เนื้อหาข่าวลงบนแพลตฟอร์ม 

"ผมหวังว่าเราจะสามารถเผยแพร่ข่าวสารให้กับชาวออสเตรเลียได้อีกครั้งในอนาคต" แคมป์เบลล์ บราวน์กล่าว

คณะกรรมาธิการการแข่งขันและผู้บริโภคออสเตรเลียชี้ว่า สาเหตุของการเสนอข้อกฎหมายดังกล่าวเพื่อที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับสำนักข่าว และเพื่อเป็นการสร้างความเป็นธรรมระหว่างการแข่งขันของสำนักข่าวต่างๆ กับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กที่ทำให้รายได้ของบริษัทผู้ผลิตสื่อลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเฟซบุ๊กและกูเกิลเป็นเจ้าของเงินค่าโฆษณาออนไลน์ราว 80% ในออสเตรเลีย ซึ่งหลังการเสนอกฎหมายนี้จะมีการนำเข้าพิจารณาอีกครั้งและลงมติในสภาในอนาคตอันใกล้ 

เฟซบุ๊ก - กูเกิล - AFP


กูเกิลไม่แบน แต่เตรียมทุ่มงบซื้อข่าวโดยตรง

ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่ผู้ใช้บริการและผู้ผลิตสื่อในออสเตรเลียเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้จะกระทบไปยังสำนักข่าวของออสเตรเลียที่กระจายอยู่ทั่วโลกเช่นกัน โดยระหว่างการให้การในวุฒิสภาออสเตรเลียเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเคยส่งสัญญาณอย่างชัดเจนไว้แล้วว่าทางแพลตฟอร์มอาจดำเนินการแบนการแชร์ข่าวบนเฟซบุ๊กในออสเตรเลีย หากการผลักดันกฎหมายฉบับนี้สำเร็จจริง ขณะที่ทางกูเกิลก็เคยขู่ไว้เช่นเดียวกันว่าอาจยุติการให้บริการกูเกิลในประเทศออสเตรเลีย 

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่วันที่ผ่านมา บริษัทกูเกิลได้เปิดเผยว่าจะมีการดำเนินมาตรการในทางตรงกันข้ามกับเฟซบุ๊ก เพราะแทนที่จะยุติการให้บริการในออสเตรเลีย กูเกิลจะสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยิ่งกว่าเดิมกับผู้ผลิตสื่อในออสเตรเลีย โดยจะทำสัญญาใหม่เป็นเวลา 3 ปีเต็มกับ News Corp บริษัทผู้ผลิตสื่อรายยักษ์ที่เป็นเจ้าของสื่อหลายสำนักของออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐฯ อย่าง The Wall Street Journal และ New York Post ซึ่งมี รูเพิร์ต เมอร์ด็อก เจ้าพ่อแห่งวงการสื่อออสเตรเลียเป็นเจ้าของ โดยกูเกิลจะจ่ายเงินค่าใบอนุญาตในการเป็นเจ้าของคอนเทนท์ข่าวจาก News Corp เองโดยตรง


ทางการออสเตรเลียโต้ "เฟซบุ๊กทำสิ่งที่ผิดพลาดและทำร้ายตัวเอง"

จอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของออสเตรเลีย ยืนยันมาโดยตลอดว่ากฎหมายที่ออสเตรเลียกำลังผลักดันอยู่ในตอนนี้มีเป้าหมายเพื่อมอบความยุติธรรมให้กับธุรกิจด้านข่าวและสื่อของออสเตรเลีย และล่าสุด 18 ก.พ. ฟรายเดนเบิร์กก็ได้ออกมาโต้ตอบมาตรการโหดของเฟซบุ๊กโดยระบุว่า การกระทำของเฟซบุ๊กนั้นนอกจากจะเป็นสิ่งที่ผิดพลาดและไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการทำร้ายชื่อเสียงและการมีอยู่ของแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กในออสเตรเลีย พร้อมยังยืนยันด้วยว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ "เป็นการปฏิรูปที่สำคัญ"

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ยืนยันชัดเจนให้ชาวออสเตรเลียนทุกคนได้เห็นถึงอำนาจทางการตลาดอันยิ่งใหญ่สื่อดิจิทัลกลุ่มนี้"

จริงๆแล้วความพยายามในการผลักดันให้เกิดกฎหมายในการบังคับให้บริษัทแพลตฟอร์มโซเชียลมีดีระดับโลกต้องจ่ายเงินค่าเนื้อหาที่เกี่ยวกับข่าวให้กับผู้ผลิตสื่อนั้นมีมาได้สักระยะแล้ว โดยความพยายามผลักดันจากบรรดาผู้ผลิตสื่อในออสเตรเลีย โดยรูเพิร์ต เมอร์ด็อก เจ้าพ่อแห่งวงการสื่อออสเตรเลียเจ้าของ News Corp คือผู้สนับสนุนการผลักดันนี้ที่มุ่งมั่นที่สุด หลังจากนั้นการต่อสู่ในเรื่องนี้ก็กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างหนัก หลังจากที่หน่วยงานของภาครัฐในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศ เริ่มคิดที่จะพิจารณาการผ่านกฎหมายเก็บเงินค่าเนื้อหาข่าวจากแพลตฟอร์มอย่างจริงจัง

หลายปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กและกูเกิลมีความพยายามในการเปิดตัวโปรแกรมสำหรับการจ่ายค่าคอนเทนท์ให้กับเนื้อหาประเภทข่าว เช่น ฟังก์ชันที่เรียกว่า Facebook News เป็นส่วนหนึ่งของแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กที่จะเลือกหยิบเอาข่าวจากสำนักข่าวทั่วโลกเข้ามาในแพลตฟอร์มแล้วผู้ผลิตสื่อก็จะได้รับเงินจากทางเฟซบุ๊กเป็นค่าตอบแทน ซึ่ง วิลเลียม แอสตัส กรรมการผู้จัดการเฟซบุ๊กออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า เฟซบุ๊กมีแผนจะเปิดตัวฟังก์ชันนี้ในออสเตรเลีย 'เมื่อมีกฎหมายที่ถูกต้องรองรับ' แล้วเท่านั้น

กูเกิล


ดีลธุรกิจ 30,000 ล้าน พลิกวงการสื่อ

ขณะที่กูเกิลได้ประกาศแผนธุรกิจใหม่ที่จะเข้าซื้อลิขสิทธิ์ของเนื้อหาข่าวเมื่อปีที่ผ่านมา ผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ของกูเกิลที่เรียกว่า News Showcase โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสื่อได้ออกแบบและตัดสินใจเองว่า จะเลือกวิธีการนำเสนอคอนเทนท์ประเภทข่าวบนแพลตฟอร์มของกูเกิลอย่างไร โดยโปรเจคนี้กูเกิลได้ทุ่มงบประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท ให้กับการดำเนินงานใน 3 ปีต่อจากนี้ และตอนนี้ได้ตกลงร่วมงานกับสำนักข่าวแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 500 แห่งทั่วโลก

จากความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในตอนนี้ สำนักข่าวต่างๆที่อยู่ภายใต้บริษัท News Corp ทั้งในประเทศสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ไปจนถึงออสเตรเลีย ได้ตกลงเข้าร่าวมในโปรเจคใหญ่ News Showcase จากกูเกิลเป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ News Corp เท่านั้นที่จะเข้ามาร่วมกับโปรเจ็คนี้ของกูกเกิล เพราะรายละเอียดความร่วมมือครอบคลุมไปถึงการเปิดบริการสมัครสมาชิกเข้าถึงข้อมูลข่าวบน News Showcase ของกูเกิล ที่จะแบ่งปันรายได้จากการโฆษณาให้กับเจ้าของคอนเทนท์ ไปจนถึงการลงทุนในงานข่าวรูปแบบเสียงและวิดีโอเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กูเกิลยังไม่เปิดเผยถึงรายละเอียดของการจัดการเม็ดเงินการลงทุน ขณะที่ News Corp เปิดเผยว่าส่วนแบ่งการลงทุนจากกูเกิลนั้นเป็นเม็ดเงินก้อนโต