ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563) และ พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องรวม 3 ฉบับ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นอกจากแผนงานในโครงการกู้เงินต่างๆ ที่ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า นำไปใช้ทำอะไรบ้างแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การใช้งบประมาณที่ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะใช้เพียงแค่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้งบประมาณตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ และกลไกปกติในการตรวจสอบ ทั้งที่เป็นการกู้เงินสูงสุดในประวัติศาสตร์ จึงควรมีมาตรการตรวจสอบการทุจริตมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ยังควรมีองค์กรพิเศษมาตรวจสอบการใช้งบประมาณเงินกู้ ในระดับชาติควรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาตรวจสอบ เพราะจะให้คณะกรรมาธิการสามัญในสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบอย่างเดียวคงไม่พอ ขณะที่ในระดับพื้นที่ควรให้มีคณะกรรมการภาคประชาชนร่วมตรวจสอบคู่ขนานไปด้วย ไม่รวมกับองค์กรปกติทั้ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง.ที่ต้องจับตาการใช้งบประมาณรอบนี้เป็นพิเศษ
'ประยุทธ์' ยัน รบ. มีนโยบายเกษตรปลอดภัย
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงกรณีพาดพิงว่าไม่แบนสารเคมีภาคการเกษตร 3 ชนิด ว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับเกษตรปลอดภัย แต่เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติมา ก็ปฏิบัติตาม เพราะถ้าหากยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งหมด ต้องหาสารหรือวัสดุมาทดแทนให้กับเกษตรกรด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นความตั้งใจของรัฐบาลอยู่แล้วให้เป็นเกษตรปลอดภัย แม้ขณะนี้จะไม่ใช่มาตรฐานสินค้าเกษตรสารเคมี 0 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เข้าข่ายเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ Codex แต่ถ้าเสนอมา ก็จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ขัดแย้ง ไม่ก้าวก่ายการทำงานของใคร แต่จะต้องทำงานให้ได้โดยสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วย ไม่เช่นนั้นจะกระทบกระทั่งความเรียบร้อย
สำหรับปัญหาการจัดการน้ำ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่คือสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ดูแล 13 ลุ่มน้ำ จัดทำแหล่งกักเก็บน้ำ น้ำบาดาล แยกประเภทการใช้น้ำ ทำมากกว่าสมัยก่อนถึง 4 เท่า และต้องทำมากกว่านี้ ทุกอย่างอยู่ในแผนงานที่จะต้องขับเคลื่อน ซึ่งอาจจะใช้งบประมาณในส่วนเยียวยาฟื้นฟูและงบประมาณที่มีอยู่แล้วบ้าง เป็นสิ่งที่ตนเองให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะน้ำคือชีวิต น้ำคือสิ่งที่เกษตรกรต้องการ และได้พบกับชาวนาเกษตรกรที่แท้จริง จึงทราบดีว่าเดือดร้อนมีปัญหา แต่เกษตรกรก็พอใจว่ารัฐบาลได้คิดและจัดทำแผน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องการจัดระเบียบ การใช้งบประมาณ การปรับเปลี่ยนงบประมาณ หรือเอางบกลางไปเสริมให้ ซึ่งตนเองทำงานอย่างหนักในเรื่องน้ำ
"สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำ EIA ประชาพิจารณ์ ทั้งทำในที่ดินของเอกชนประชาชน ซึ่งมีที่ดินน้อย แต่ถ้าทำในอุทยานหรือพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์อยู่ ก็ไม่สามารถทำได้อีก หรือทำไปก็ไม่ได้น้ำ ซึ่งเรื่องนี้มันไม่ง่ายนัก แต่ก็จะพยายามทำ โดยโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ค้างอยู่ ก็พยายามดำเนิน หลายโครงการติดปัญหาเรื่อง EIA และการประชาพิจารณ์ จึงฝากให้ช่วยเหลือพูดกับประชาชนให้ยินยอม จะได้ไม่มีปัญหาต่อการทำงานหรือร้องเรียนให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
แจงงบฯ 4.5 หมื่นล้านเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงบุคลากร สธ.
ส่วนการใช้งบประมาณแก้ไขสถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า งบประมาณ 45,000 ล้านบาท ดูแลเป็นค่าเลี้ยงดู ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนพิเศษ ให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีข้าราชการ ลูกจ้าง และอาสาสมัคร ซึ่งทุกคนมีระเบียบการใช้จ่าย มีระเบียบการได้รับผลตอบแทน ถึงต้องคำนึงโดยเคารพความเป็นธรรมและกฎหมายด้วย
สำหรับสถานการณ์หน้ากากอนามัย นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า มีไม่กี่บริษัทที่ผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทย มีเพียง 1 ถึง 2 บริษัท ที่มีลิขสิทธิ์ทำหน้ากาก N95 จากต่างประเทศ ส่วนหน้ากากอนามัยสีฟ้าวัสดุต้องถูกต้อง และนำมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น เอามาประกอบมาเป็นหน้ากากอนามัย ซึ่งวันนี้ก็พยายามดำเนินการอยู่ว่าจะทำอย่างไร เพราะช่วงเวลาคับขันทุกประเทศก็สงวนไว้ใช้เองทั้งหมด แต่ขณะนี้ทุกอย่างคลี่คลายด้วยการบริหารจัดการให้ดีขึ้น ต้องใช้ระยะเวลาและวิธีการดำเนินการ ไม่อยากให้ทุกคนคิดว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลยหรือจะใช้แต่เงินอย่างเดียว
เผยให้สภา - องค์กรอิสระ สอบการใช้จ่ายเงินกู้ร่วมกับ กก.กลั่นกรองได้
ส่วนที่สงสัยว่า คณะกรรมการกลั่นกรองและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้จะพอไหม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐสภาหรือองค์กรอื่นๆ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ง.ก็สามารถตรวจสอบได้หมด และก่อนจะเสนอโครงการเข้ามา ต้องผ่านกลไกของพื้นที่หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้ามา และจะต้องตั้งเงินว่าการใช้จ่ายแต่ละประเภทควรเป็นเท่าไร
ขอบคุณสภาแนะ รับข้อสังเกตุช่วยเอสเอ็มอี ย้ำ รบ.ทำตามกฎหมายไม่ต้องห่วง
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยก่อนเดินทางกลับถึงภาพรวมการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน ของสภาผู้แทนราษฎร ว่า ก็ดี ไม่มีอะไร ขอขอบคุณขอเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ มีอะไรก็พร้อมฟังซึ่งกันและกัน หลายเรื่องตนก็จะรับไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความสบายใจ ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ กฎหมาย มีกติกา อยู่หลายตัวอยู่แล้วไม่ต้องเป็นห่วง ว่าจะแบ่งงบประมาณให้กับใครอย่างไรบ้าง และทำอย่างไรจะให้กลุ่มเอสเอ็มอี ขนาดเล็กเข้าถึงงบประมาณอันนี้ได้ ซึ่งตนจะขอรับขอสังเกตุไปทั้งหมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง