ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย' ห่วง 'ประยุทธ์' ให้ขึ้นค่าไฟฟ้า ซ้ำเติมเศรษฐกิจ หลังน้ำมันแพง ชี้ผลิตไฟฟ้าล้น สาเหตุไฟแพง ต้องลดต้นทุนไฟฟ้า ก่อนขึ้นค่าไฟ แนะพลังงานต้องรู้จริง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีแผนยั่งยืน

พชร นริพทะพันธุ์ กรรมการบริหาร และ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่ราคาน้ำมันได้เพิ่มสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมปรับลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงตามคำแนะนำของคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เท่านั้นยังไม่พอ พล.อ.ประยุทธ์ ยังจะปล่อยให้มีการขึ้นราคาค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มราคาขึ้นในต้นปีหน้า โดย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเพิ่มค่า FT ไฟฟ้าโดยจะเรียกเก็บที่หน่วยละ 1.39 สตางค์ ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 4.63% จากราคาปัจจุบัน ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมให้กับประชาชนมากขึ้นไปอีก 

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลท้าให้ธุรกิจขนส่งและรถบรรทุกขึ้นราคาค่าขนส่งไปเลย โดยไม่ยอมลดราคาน้ำมันให้ เป็นแนวคิดที่แปลกประหลาดและไม่มีรัฐบาลที่ไหนในโลกเขาจะทำกัน การขึ้นค่าขนส่งในขณะที่ประชาชนกำลังลำบากจากภาวะรายได้ลด รายจ่ายเพิ่มนี้ จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันมากขึ้น จากราคาสินค้าที่จะแพงขึ้นตามราคาค่าขนส่งที่สูงขึ้น ซึ่งหากเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงจะไม่พูดแบบนี้อย่างเด็ดขาด แต่เป็นเพราะรัฐบาลนี้ได้เสียงจากสมาชิกวุฒิสภาที่ตั้งกันเองและมายกมือสนับสนุนตัวเองเป็นนายกฯ จึงกล้าพูดแบบนี้โดยไม่เกรงใจประชาชนเลย นับเป็นความน่าละอายใจอย่างมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องปิดสวิตซ์ ส.ว. เพื่อให้รัฐบาลอนาคตเกรงใจประชาชนมากขึ้น 

ในเรื่องราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะยิ่งเพิ่มภาระให้กับประชาชนที่กำลังเดือดร้อนกันอย่างหนักอยู่แล้วตอนนี้ จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าไปศึกษาโครงสร้างราคาไฟฟ้าที่เป็นปัญหาที่เกิดตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ทำการปฏิวัติรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศ ทั้งนี้เพราะตลอด 7 ปีกว่านี้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ต่ำอย่างมาก แต่แผนการผลิตไฟฟ้ากลับไม่ปรับลดลงให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตที่แท้จริง ผลคือมีการอนุญาตผลิตไฟฟ้ามากเกินความต้องการอย่างมากถึงกว่า 40-50% ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ทำให้ต้องมีการจ่ายค่าความพร้อมให้กับโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วแต่เกินความต้องการ ซึ่งทำให้ราคาไฟฟ้าสูงกว่าความเป็นจริงมาก อีกทั้งมีการอนุมัติโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่ต้องมีเงินสนับสนุนจากรัฐซึ่งนำไปรวมในค่าเอฟทีอีก ทำให้ยิ่งเพิ่มราคาค่าไฟฟ้า ดังนั้นจึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้หาทางลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพื่อลดค่าไฟฟ้าลง ก่อนที่จะคิดจะขึ้นค่าไฟฟ้าซึ่งจะกระทบกระเป๋าของประชาชน

นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวกลางหรือเสือนอนกินที่รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของเอกชนในราคาถูกแต่กลับมาบวกค่าส่วนต่างในราคาแพงเพื่อทำกำไร และกำไรของ กฟผ. ในแต่ละปีก็สูงมาก ซึ่งหาก กฟผ. จะยอมลดค่าส่วนต่างที่เป็นเสือนอนกินนี้ลง ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นค่าไฟฟ้า โดย กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% หน้าที่หลักคือต้องบริการประชาชน ดังนั้นการที่จะลดส่วนต่างของราคาลงเพื่อทำกำไรลดลงเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงลำบากนี้เป็นเรื่องที่ควรทำและต้องทำ นอกจากผู้บริหาร กฟผ. จะห่วงว่าถ้ากำไรน้อยลงอาจจะได้โบนัสลดลง ซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุผลและหน้าที่หลักของ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศไทย 

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าถึง 70% ดังนั้นการจัดหาพลังงานก๊าซในราคาถูกจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยได้เสนอให้มีการเจรจาขุดก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา โดยไม่ต้องพูดถึงการแบ่งเขตแดน นำก๊าซมาใช้เพื่อประโยชน์ของสองประเทศ ก่อนที่อนาคตโลกอาจจะไม่ใช้พลังงานจากฟอสซิลซึ่งรวมถึงก๊าซแล้ว ซึ่งจะทำให้ก๊าซไม่มีมูลค่าเหลือเลย ดังนั้นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อขุดก๊าซและนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าและยังสามารถนำไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อนำไปใช้ในธุรกิจเปโตรเคมีได้ จะทำให้ไทยได้มูลค่าเพิ่มมหาศาลจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและต้องทำก่อนที่โลกจะไม่ใช้ก๊าซแล้ว 

โดยคนรุ่นใหม่ของไทยไม่คิดเรื่องความขัดแย้งกับประเทศกัมพูชาในอดีตแล้ว แต่มองหาผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคตมากกว่า ซึ่งหากเจรจาและนำก๊าซขึ้นมาใช้ได้ ราคาไฟฟ้าจะต้องถูกลง และ ไทยจะได้รายได้จากการขุดก๊าซนี้ปีละหลายแสนล้านบาทเป็นเวลาหลายสิบปีเหมือนอดีตที่ผ่านมา โดยจะรวมทั้งค่าภาคหลวงของก๊าซที่ขุดได้ รายได้และภาษีในธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ที่ไทยจะได้รับ โดยคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยจะทำความเข้าใจกับประชาชนถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ประเทศไทยต้องการรายได้จำนวนมากเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยในเรื่องนี้ 

"ในความลำบากของประชาชน รัฐบาลที่ดีจะต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนมาก่อนเรื่องอื่น ประชาชนต้องรอดก่อน ไม่ใช่เพียงแค่ผู้นำต้องการรักษาอำนาจของตนเองเท่านั้น ดังนั้นแนวคิดที่จะต้องช่วยบรรเทาความทุกข์ของประชาชนจึงเป็นหน้าที่ ซึ่งรัฐบาลต้องมีแผนงานในปัจจุบันทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาวเพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และต้องการผู้ที่รู้จริงโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาบริหาร ซึ่งจะสามารถวางแผนเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้อย่างยั่งยืน" พชร ระบุ