ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์ออนไลน์' ชวน 'นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี' อดีตรองนายกรัฐมนตรี คุยเรื่องอนาคต 'สาธารณสุขไทย' หลังโควิด-19 สู่ 'หน่วยงานสร้างเศรษฐกิจ' ปลุกใช้ศักยภาพ-จุดแข็งพิสูจน์ผ่านโควิด-19 สู่ new s-curve หรืออุตสาหกรรมใหม่ เศรษฐกิจใหม่

ระบบสาธารณสุขไทยไม่เป็นรองใครในโลก อาจเป็นคำกล่าวที่ไม่ได้เกินเลยไปนักในเวลานี้ เมื่อดูผลงานเปรียบเทียบในช่วงกว่า 5 เดือนที่ผ่านมา ในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 แต่ 'จุดแข็ง' นี้จะสามารถต่อยอดพัฒนาไปได้ไกลขนาดไหน ก็ยังต้องเฝ้าติดตามต่อไป 

ห้วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศจีน จนถึงวันนี้ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในแต่ละวันของประเทศไทยลดลงมาอยู่ที่ระดับหลักหน่วยติดต่อกันเกือบ 3 สัปดาห์ และเป็นศูนย์มาแล้ว 2 หน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 95 ของจำนวนผู้ป่วยสะสมและมีกว่า 50 จังหวัดในประเทศไทย ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เลย เป็นเวลาติดต่อกัน 28 วัน 

เหล่านี้คือ 'ตัวบ่งชี้' เป็นที่ประจักษ์ถึงความสามารถของบุคลากรการแพทย์ ระบบสาธารณสุขไทย ที่สามารถควบคุมดูแลและจัดการโรคระบาดได้

และตามคำกล่าวดาษดื่น ที่ว่า ในวิกฤตย่อมมีโอกาส นั้น 'วอยซ์ออนไลน์' จึงชักชวน 'นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี' อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ผู้ดำเนินรายการ 'สุมหัวคิด' ทางช่องวอยซ์ทีวี พูดคุยถึงอนาคตและประเมินสถานการณ์โควิด-19 ของไทยกับโอกาสใหม่ๆ หลังผ่านช่วงชุลมุนโควิด-19

เมื่อถาม 'คุณหมอเลี๊ยบ หรือ นพ.สุรพงษ์' ถึงสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบัน เขาบอกว่า ด้วยสถิติที่พบในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สามารถพอพูดได้ว่า ในพื้นที่โดยส่วนใหญ่ของประเทศไทย เราน่าจะเบาใจ คลายความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 ได้ เพราะตอนนี้มีมากถึง 55 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยใหม่มาแล้ว 28 วัน หรือ 2 รอบของระยะฟักตัวของเชื้อไวรัส ซึ่งนับว่ามีจำนวนจังหวัดเยอะมาก เมื่อเทียบว่าทั้งประเทศ 76 จังหวัด

ตลาดนัด จตุจักร reopen โควิด ธุรกิจ เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว ระยะห่างทางสังคม SD

ส่วนที่มีหลายคนกังวลว่า จะเกิดการระบาดรอบที่ 2 หรือไม่ ในฐานะแพทย์ เขาอธิบายว่า การดูว่าเป็นการระบาดรอบที่ 2 หรือไม่ต้องดูว่า เกิดการระบาดในพื้นที่จำกัดเฉพาะ หรือเกิดขึ้นทั่วประเทศ เกิดพร้อมๆ กันในหลายจังหวัดหรือไม่ ถ้าความกลัวเกิดระบาดรอบที่ 2 มาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีพบผู้ป่วยใหม่ย่านอิแทวอน และเกิดการกระจายในพื้นที่ ตอนนี้เกาหลีใต้ก็ควบคุมค้นหาบุคคลที่สัมผัสโรคได้แล้วประมาณ 1,500 คน และให้ดูแลอยู่ในสถานที่กักกันเพื่อประเมินอาการในระยะ 14 วันแล้ว 

หรือกรณีของจีนที่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อบริเวณชายแดนเกาหลีเหนือ ตรงนั้นถือว่าเป็นพื้นที่จำกัด ด้วยเหตุนี้ จึงพูดได้ว่า หลายประเทศและเขตการปกครองมีการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว ทั้ง กรณีจีน เกาหลีใต้ หรือแม้แต่ไต้หวัน ฮ่องกง

"พื้นที่เหล่านี้ถือว่าค่อนข้างควมคุมโรคได้ดี และมั่นใจได้ รวมถึงประเทศไทยของเราเช่นเดียวกัน" นพ.สุรพงษ์ กล่าว

จตุจักร ธุรกิจ เศรษฐกิจ reopen ตลาดนัด วัดอุณหภูมิ โควิด

คลายกังวล แต่ยังไม่คลายการควบคุม

เมื่อสถานการณ์การพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้แตะหลัก 100 ต่อวันเหมือนช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ถึงเวลา 'คลายล็อก' ซึ่งขณะนี้ทางการได้เปิดให้มีกิจกรรมกิจการหลายอย่างกลับมาเปิดดำเนินการได้แล้ว ทั้งร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า แต่ก็ยังมีอีกหลายกิจกรรมกิจการที่ต้องรอเวลาให้สถานการณ์การแพร่ระบาดสงบสยบจริง อาทิ สถานบันเทิง ผับ บาร์ สนามมวย โรงภาพยนตร์ รวมถึงร้านนวดต่างๆ หรือแม้แต่การเปิดน่านฟ้าต้อนรับชาวต่างชาติเพื่อการท่องเที่ยว ก็ยังเป็นเรื่องต้องห้ามในเวลานี้

นพ.สุรพงษ์ บอกว่า มาถึงระยะนี้ ประเทศไทยควบคุมโรคโควิด-19 ได้ในระดับน่าพึงพอใจ แต่ถ้าจะให้ถือว่า โรคสงบหรือให้มั่นใจตามทฤษฏีคือ ต้องไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เลยติดต่อกัน 28 วัน หรือ 2 รอบของระยะเวลาในการฟักตัวของเชื้อ ดังนั้น ในตอนนี้บางกิจกรรมกิจการทางธุรกิจ เช่น ผับ บาร์ เวทีมวย ที่เป็นพื้นที่ทำให้เกิดคนจำนวนมากเข้าไปอยู่ร่วมกันในพื้นที่แออัด และบางกิจกรรมที่ไม่สามารถใส่หน้ากากได้ เป็นกิจกรรมมีการตะโกนเสียงดัง มีการแพร่ของละอองฝอย กิจกรรมเหล่านี้ยังสุ่มเสี่ยงอยู่ หรือกรณีโรงภาพยนตร์ ลานโบลิ่ง คาราโอเกะ ซึ่งอยู่ในห้องแคบๆ ต้องพูดคุยร้องเพลงอย่างนี้ ก็อาจต้องรอไปก่อน อีกสักระยะหนึ่ง

ดังนั้นในกรณีกิจกรรมกิจการกลุ่มสีแดง ถ้าจะให้แน่ใจจริงๆ ว่า เปิดดำเนินการได้ น่าจะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีผู้ป่วยใหม่เลยมาแล้ว 28 วัน ซึ่งตอนนี้ก็มีกว่า 55 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยใหม่เลย 28 วัน ที่น่าจะคลายล็อกให้เดินทางข้ามจังหวัดได้ และกิจกรรมกิจการสีแดงในพื้นที่นั่นก็น่าจะให้เปิดดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม เสนอว่า ในระยะแรกอาจให้เดินทางเฉพาะในภาคเดียวกันก่อน เป็นต้น

"ช่วงระยะนี้ เป็นช่วงค่อยๆ คลายล็อกที่ละขั้นตอน แต่ก็ยังจำเป็นที่ต้องทำให้สุขอนามัยของแต่ละคนอยู่ในลักษณะที่ป้องกันการแพร่กระจายของโรคด้วย เพราะผมเองมีความเชื่อว่า การป้องกันในแต่ละบุคคลเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคระบาด" นพ.สุรพงษ์ กล่าว

พร้อมกับพาย้อนไปถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเอชไอวี/เอดส์ ที่มีการเว้นระยะห่างทางกายภาพ หรือ Physical Distancing เช่นกัน ด้วยการงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ในระยะแรก และต่อมาก็เกิดการรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ป้องกันเอชไอวี/เอดส์

"ตอนที่เอชไอวี/เอดส์แพร่ระบาดเมื่อปี 2527 ทุกคนแตกตื่นกันหมดว่ามันเป็นการระบาดทางเพศสัมพันธ์ โอกาสที่จะรับเชื้อจากใครก็ได้ ตอนนั้นจึงมี physical distancing เหมือนวันนี้เราบอกเราปิดเมือง ห้ามคนมาเจอกัน ตอนนั้นก็คือห้ามคนมีเพศสัมพันธ์กัน พอไปถึงพักหนึ่ง ก็บอกว่า อาจมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ต้องมีการตรวจคนที่เรามีเพศสัมพันธ์ด้วย เช่น หากไปใช้บริการก็ต้องตรวจหญิงบริการ ตอนนั้นก็ตรวจกันทุกวัน หรือทุกๆ สองสัปดาห์ ซึ่งเปรียบเหมือนปัจจุบันที่ต้องมี testing (ตรวจ) และ tracing (ติดตามสืบหาต้นทางการแพร่ระบาด) ที่เราระดมตรวจกันในพื้นที่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย"

"สุดท้ายเรามาถึงวันนี้ เอชไอวีก็อยู่กับพวกเรามาก็ 30 กว่าปีแล้ว โดยการที่เราป้องกันแต่ละบุคคลด้วยการใช้ถุงยางอนามัย ฉันใดฉันนั้น มากรณีโควิด-19 ที่บอกว่าต้องทำ physical distancing ปิดเมือง ห้ามทำธุรกรรมต่างๆ แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้นาน วันนี้เราจึงต้องการมากกว่า คือให้แต่ละคนมีความเข้าใจ มีทักษะในการป้องกันตัวเอง ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของโรคว่า โรคนี้เข้าสู่ร่างกายเราได้เพียงแค่ 3 ทางเท่านั้น คือ จมูก ปาก และตา เราก็ต้องมีตัวป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้า 3 ทางนี้" นพ.สุรพงษ์ กล่าว

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เฟซชิลด์ หมอเลี้ยบ หมอเลี๊ยบ

เฟซชิลด์ อุปกรณ์ป้องกันยุคโควิด-19

เมื่อเชื้อโรคทางเดินหายใจอย่างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 เข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทางตามกล่าวข้างต้น และคุณหมอเลี๊ยบ ย้ำว่า ตาสำคัญมาก เนื่องจากมีรายงานของมหาวิทยาลัยฮ่องกง บอกว่า โควิด-19 มีโอกาสแพร่เชื้อเข้าทางตามากกว่าโรคซาร์สถึงร้อยเท่า  

ดังนั้นหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า อาจป้องกันได้เฉพาะจมูกกับปาก แต่ป้องกันตาไม่ได้ และจากรายงานวิจัยพบว่า คนเราชอบเอามือสัมผัสหน้า ทั้งจากการขยี้ตา แคะขี้มูก หยิบของเข้าปากวันหนึ่งเกิน 90 ครั้ง โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น หากป้องกันเฉพาะจมูกกับปาก แต่ลืมป้องกันตา โอกาสสัมผัสเชื้อโรคก็ยังมี อีกทั้งยังทำให้เราเผลอโดยไม่ได้ล้างมือด้วย 

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการรณรงค์การใช้ 'เฟซชิลด์' ของคุณหมอเลี๊ยบ จนนำไปสู่การจัดประกวดออกแบบเฟซชิลด์ชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านบาท และประกาศผลงานที่ได้รับรางวัลไปแล้วเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา  

คุณหมอเลี๊ยบเล่าว่า ที่รณรงค์เรื่องเฟซชิลด์เพราะมีความง่ายในทางปฏิบัติ เพราะเวลาเรามาสัมผัสหน้า เราจะทำไม่ได้เลย อย่างเราเผลอเอามือมาแตะหน้า มือเราก็จะติดเฟซชิลด์ ก็จะขยี้ตาไม่ได้ และเตือนให้เราต้องไปล้างมือหรือล้างแอลกอฮอล์ก่อน มีเฟซชิลด์คลุมหน้าเวลาออกไปข้างนอก ก็เปรียบเหมือนตอนนี้เราไปร้านอาหารก็จะมีแผ่นพลาสติกกั้น แต่นี่เป็นแผ่นพลาสติกประจำตัวของเรา กั้นไม่ให้เราไปรับเชื้อจากใครได้

ดังนั้น การใส่เฟซชิลด์ ล้างมือทุกครั้งเมื่อจะหยิบอาหารเข้าปาก หรือจะสัมผัสใบหน้า กินร้อน ใช้ช้อนประจำตัว คุณหมอบอกว่า ทั้งหมดนี้ก็สามารถป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาได้แล้ว พร้อมกับให้ความเชื่อมั่นว่า ถ้าเราไม่เอามือไปยุ่งกับใบหน้าของเรา และมีเฟซชิลด์ป้องกันไม่ให้ละอองฝอยต่างๆ เข้ามาที่จมูก ปาก ตา เราก็ไม่มีโอกาสเป็นโควิด-19 ได้ 

สุรพงษ์ โควิด หน้ากาก เฟซชิลด์

"เชื้อโควิด-19 มันไม่ใช่ซอมบี้ ที่เราอยู่เฉยๆ แล้วมันจะวิ่งมากัดเรา ดังนั้น ผมคิดว่าในระหว่างนี้ ที่เรายังไม่มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าโรคสงบแล้ว หรือถ้าในโอกาสต่อไป โรคในประเทศไทยสงบ แต่ประเทศอื่นๆ ยังไม่สงบ และเรามีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามา เราก็ใช้วิธีนี้ป้องกันตัวให้เป็นธรรมชาติไปอีกสักระยะได้"

"ในสังคมหนึ่งใส่เฟซชิลด์ ใส่หน้ากากที่ใส่แว่นเข้าไปด้วยเพื่อป้องกันการขยี้ตา ได้สักประมาณร้อยละ 70 การควบคุมโรค ก็น่าจะดีขึ้นแล้ว ดังนั้น new normal อันนี้จะอยู่ไปสักระยะหนึ่งกระทั่งโรคสงบจริงๆ" นพ.สุรพงษ์ กล่าว 


โควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไร

ทั้งนี้ทั้งนั้น นพ.สุรพงษ์ วิเคราะห์สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ไว้ด้วยว่า มี 4 หนทางที่โควิด-19 จะอยู่กับมนุษย์ไปเรื่อยๆ คือ หนทางแรก อาจเป็นแบบโลกสวย มองโลกในแง่ดี คือ เราจะอยู่กับโควิด-19 ไปแบบที่เคยเจอกับโรคซาร์ส ซึ่งก็เป็นไวรัสโคโรนาเหมือนกัน เป็นรุ่นพี่โควิด-19 ที่เริ่มระบาดในจีนเมื่อเดือน พ.ย. 2545 แล้วเป็นข่าวในฮ่องกงประมาณเดือน เม.ย.2546 และระบาดในฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน ส่วนไทยมีอยู่เล็กน้อย แล้ววันหนึ่งซาร์สก็หมดไปจากโลกนี้ ถึงวันนี้ ไม่มีผู้ป่วยซาร์สมาเลยนับจากนั้นเป็นเวลา 17 ปี และยังหาคำอธิบายไม่ได้ว่าทำไมอยู่ๆ ซาร์สหายไป หลายคนตั้งทฤษฎีว่า เพราะซาร์สทำให้อัตราการเสียชีวิตสูง และมากกว่าโควิด-19 ถึงร้อยละ 10 ดังนั้นพอผู้ป่วยรายสุดท้ายเสียชีวิต ซาร์สก็แพร่ต่อไม่ได้ เพราะมันไม่มี host หรือ เจ้าบ้าน ดังนั้นถามว่ามีโอกาสอย่างนี้เกิดขึ้นกับโควิด-19 ไหม ก็มีแต่น้อยกว่า เพราะวันนี้โควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วโลก ขณะที่ซาร์สแพร่กระจายไม่มากไม่หลายประเทศอย่างนี้ 

แต่ถ้ามีกระบวนการล็อกไม่ให้นักท่องเที่ยวหรือใครก็ตามที่มาจากประเทศที่มีการระบาดเข้ามาในประเทศ แล้วแต่ละประเทศอาการของโรคเริ่มสงบ ก็มีโอกาสที่พอผ่านไปสักพัก โควิด-19 ก็อาจหายไปเลยก็ได้ โดยไม่ต้องมีวัคซีน

หนทางที่สอง หากมียารักษาได้จริง เช่น ตอนไข้หวัด 2009 ตอนนั้นมียาชื่อโอเชลทามิเวียที่ใช้รักษา พอเจอคนสงสัยเป็นไข้หวัด 2009 ก็จับให้กินโอเชลทามีเวีย คนก็จะหายจากโรค มาถึงตอนนี้กรณีโควิด-19 ที่มียารักษาคือฟาวิพิราเวีย เลมวิซีเวีย ที่กำลังทดลองกันอยู่ หากยาเหล่านี้รักษาโควิด-19 ได้ ต่อไปเราก็อาจไม่ต้องกลัวโควิด-19 อีก และมันก็จะเหมือนกับอีกหลายๆ โรคที่มีอัตราการตายน้อยลง 

หนทางที่สาม ที่อาจเกิดขึ้นคืออาจจะไม่มียารักษา แต่ stain หรือ เชื้อของโรคที่รุนแรงมันหายไป เหลือแต่เชื้อที่อ่อนแอ มันก็จะหยุดได้ หรือแพร่ต่อไปได้แต่ก็จะเกิดกับคนที่มีอาการน้อยๆ และมันก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่อาจจะเกิดเป็นครั้งคราว แต่ไม่มีอัตราการตายสูงมาก เป็นต้น

หนทางที่สี่ ที่อาจเกิดขึ้นได้ คือมีวัคซีน และพอครบ 18 เดือนหรือเร็วกว่านั้น ถ้าวัคซีนใช้ได้ผลจริง เราก็ไม่ต้องกังวลหรือกลัวโควิด-19 ต่อไป เพียงแต่ตอนนี้มีหลายคนพูดกันว่าหนามโปรตีนของไวรัสโคโรนามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และวัคซีนอาจไม่ได้ผล ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป

"ดังนั้น ถ้าถามว่า เราจะเจอโควิด-19 ไปอีกนานไหม ผมคิดว่า โอกาสที่อาจจะเจอเพียงแค่สั้นๆ แล้วทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติ หรือ อาจจะเจอยาว หากต้องรอวัคซีน แล้วทุกอย่างก็จะกลับสู่ภาวะปกติเหมือนกัน" นพ.สุรพงษ์ กล่าว 

ประกันสังคม ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ แรงงาน โควิด เลิกจ้าง ว่างงาน

อนาคตที่มองเห็นของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 

หลายคนมักพูดเรื่อง 'ชีวิตวิถีใหม่' หรือ 'New Normal' แต่หลายคนอาจยังไม่ได้มองว่า สิ่งเหล่านี้ ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปได้ สำหรับ นพ.สุรพงษ์แล้ว เขาบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ทำให้คนเราคิดไปว่า สถานการณ์ที่เจอตอนนี้ กำลังทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เราคุ้นเคย แล้วเราจะไม่สามารถทำอย่างเดิมได้อีกต่อไปแล้ว 

แต่อยากให้มองอีกมุมว่า มนุษย์นั้นอาจมีส่วนที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงจริง แต่บางครั้งก็ยังติดกับความเคยชินเดิมๆ ดังนั้นหลายเรื่องอาจเปลี่ยน แต่หลายเรื่องก็อาจไม่เปลี่ยน เช่น ก่อนหน้านี้ ตอนประเทศไทยเจอวิกฤตสึนามิ ปี 2547 เวลานั้นหลายคนบอกว่า สึนามิเข้ามาทางฝั่งอันดามัน คนแตกตื่นกันไปแล้วว่า หลังจากนี้เมืองท่องเที่ยวฝั่งอันดามันจะไม่มีอนาคตแล้ว และทุกคนจะย้ายมาท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย ในภูเก็ตตอนนั้น ก็ไม่แน่ใจว่า จะมีอนาคตที่ดีต่อการท่องเที่ยวไทยต่อไปหรือไม่

กระทั่งเวลาผ่านไปซัก 2-3 ปี ทุกคนก็เคยชิน ภูเก็ตก็กลับมาเฟื่องฟูเหมือนเดิม หรือแม้แต่ตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ตอนนั้นหลายคนที่บ้านอยู่ในพื้นที่แหล่งน้ำท่วม ก็เตรียมย้ายบ้านหนี ตรงไหนน้ำท่วมหนัก ก็บอกกันว่า อยู่ไม่ได้แล้ว แต่มาวันนี้ที่ดินแถวนั้นก็ยังมีคนอยู่กัน เป็นต้น

"ตอนเจอวิกฤตทุกคนอาจจะตื่นและตระหนกได้ แต่พอผ่านวิกฤต ถ้าได้กลับมานั่งคิดกันใหม่ หลายๆ เรื่องที่บอกกันว่า หลังโควิด-19 แล้ว คนจะอยู่กันเป็นส่วนตัว ไม่ยอมอยู่แบบหมู่คณะ ไม่ยอมอยู่บนคอนโดมิเนียม จะมีคนซื้อบ้านเดี่ยวมากขึ้น ซื้อรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ไม่เดินทางด้วยรถสาธารณะแล้ว บางทีการมองแบบนี้อาจเป็นการคาดการณ์ที่เลวร้ายกว่าที่เป็นจริง และความจริงคืออาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงกันในทุกๆ เรื่องขนาดนั้นก็ได้" หมอเลี๊ยบ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้ความจริงหลายอย่างที่ถูกซ้อนไว้ โผล่ขึ้นมา เช่น คนพูดกันว่า พอมีโควิด-19 ทำให้เรารู้ว่า คนที่มีในองค์กรมันมากเกินไปหรือไม่ จำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่ หรือจะทำอย่างไรให้องค์กรตัวเบาสามารถเผชิญวิกฤตได้ โดยไม่ต้องกังวลกับต้นทุนต่างๆ ที่หนักเกินไป หรือวิธีการทำงานที่พอเริ่มซื้อขายออนไลน์มากขึ้น คนที่ไม่เคยซื้อขายออนไลน์เลย พอมีโควิด-19 ก็เริ่มซื้อขายทางนี้มากขึ้น เริ่มติดใจ เห็นว่าราคาดี บริการที่ แล้วก็ซื้อขายผ่านออนไลน์มากกว่าไปซื้อในห้างสรรพสินค้า หรือตามร้านสะดวกซื้อ

ส่วนเรื่องระบบสาธารณสุขของไทย มาถึงวันนี้ได้ ต้องยอมรับว่า เพราะระบบในประเทศไทยมีพื้นฐานดี แต่โดยส่วนตัวแล้ว นพ.สุรพงษ์ มองว่า ระบบนี้ยังพัฒนาต่อไปได้ เพราะในช่วงโควิด-19 ก็ยังเห็นการทำงานในลักษณะทางกายภาพการใช้ข้อมูลแบบ manual กรอกข้อมูลลงกระดาษกันอยู่ดี แต่ในระยะข้างหน้า ถ้ามีเครื่องมือทางดิจิทัล ก็น่าจะทำให้การควบคุมโรคทำได้ง่ายขึ้น รวมศูนย์ดีขึ้น ส่งผ่านข้อมูลได้สะดวกขึ้น 

ยกตัวอย่าง ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ระบบอสม. (อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน) เป็นสิ่งที่โดยส่วนตัวแล้ว คุณหมอเลี๊ยบ บอกว่า "อสม.ก่อนหน้านี้ ไม่มีใครพูดถึงเท่าไร แต่ผมเชื่อว่า อสม.จะช่วยดูแลในการควบคุมโรคในท้องถิ่นได้ดี ซึ่งพอเกิดโรคระบาดขึ้นมาจริงๆ มันก็พิสูจน์ความเชื่อมั่นที่ผมมีอยู่ ว่าระบบพื้นฐานสาธารณสุขไทยมีอยู่จริง เข้มแข็งจริงและสามารถควบคุมโรคได้จริง" 

ส่วนในระยะต่อไป ต้องมีการพัฒนาในเรื่องการทำข้อมูล ซึ่งปัจจุบัน อสม.มีแอปพลิเคชันเพื่อกรอกข้อมูลอยู่แล้ว โดยไม่ต้องลงกระดาษ แต่อนาคตอันใกล้ข้อมูลจากพื้นที่ต่างๆ จะสามารถประมวลผลได้ที่ส่วนกลาง และสามารถทำให้ระดับผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขเข้าใจสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ได้ค่อนข้างฉับไวได้ และระบบเหล่านี้จะเป็นการพัฒนาเพื่อให้มั่นใจว่า ระบบพื้นฐานของเราจะรับมือกับโรคต่างๆ ทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อได้มากขึ้น 

โรงพยาบาล-สินแพทย์-โควิด-บุคลากรการแพทย์-เฟซชิลด์

ศักยภาพสาธารณสุขไทย สู่บทบาทผู้สร้างเศรษฐกิจใหม่

นพ.สุรพงษ์ เล่ามาถึงตรงนี้ พร้อมกับให้ความหวังและชี้ถึงทิศทางจากศักยภาพและระบบพื้นฐานด้านสาธารณสุขไทยที่พิสูจน์จากการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาว่า ด้วยศักยภาพของกระทรวงสาธารณสุขอย่างนี้ วันนี้กระทรวงนี้อาจไม่ใช่เพียงการดูแลประชาชนเพื่อรับมือกับโรคติดต่อเท่านั้น แต่กระทรวงสาธารณสุขสามารถขยายบทบาทของตัวเองไปสู่เชิงรุก เป็นบทบาทในเชิงเศรษฐกิจด้วย และนี่คือความสามารถที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับประเทศ จากความเข้มแข็งด้านสุขภาพที่มี 

"การเปลี่ยนกระทรวงสาธารณสุขจากเป็นเพียงกระทรวงสุขภาพ มาเป็นกระทรวงเศรษฐกิจด้วย คือการบอกว่า นี่คือ new s-curve หรือ อุตสาหกรรมใหม่ ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจ ด้วยการขยายบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลระบบสุขภาพของคนในประเทศ ไปสู่การศักยภาพด้านอาหาร สมุนไพร การรักษาพยาบาล เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนทั้งโลกได้เห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพรองรับเรื่องเหล่านี้ได้"

"เราพูดกันมานานเรื่องการท่องเที่ยวระยะยาว หรือ Long Stay หลังจากนี้ ก็น่าจะถึงเวลาที่ต้องพูดอย่างจริงจัง ว่าหากมีคนเข้ามาในประเทศและต้องกักตัว 14 วัน เราจะมีอะไรรองรับคนเหล่านี้ หรือการมีบ้านสำหรับคนวัยเกษียณจากต่างประเทศที่อยากมาอยู่ประเทศไทย เขาก็จะต้องมั่นใจได้ว่า จะได้รับการดูแลด้วยระบบสุขภาพที่เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เป็นต้น" 

ดังนั้น ในระยะข้างหน้ายังมีงานอีกมากมายที่รองให้พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งที่ระบบสาธารณสุข ระบบพื้นฐานด้านสุขภาพของไทยได้พิสูจน์ตัวเองจากเหตุการณ์โควิด-19 หากในอนาคตสามารถทำระบบประกันสุขภาพเชื่อมโยงกับระบบประกันสุขภาพของประเทศต่างๆ ได้ จุดนี้ก็จะดึงดูดผู้ที่ต้องการใช้บริการการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพดี ราคาเหมาะสม ที่ประเทศไทยได้เช่นกัน เพราะต้องบอกว่า โรงพยาบาลรัฐและเอกชนในประเทศไทยมีขีดความสามารถสูง แต่โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งถูกจำกัดศักยภาพเอาไว้ และหลังจากนี้ถึงเวลาที่ต้องปลดปล่อยให้โรงพยาบาลรัฐได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม นพ.สุรพงษ์ย้ำว่า "ไม่ได้มุ่งแต่รับคนต่างชาติ แล้วทิ้งคนไทย แต่สิ่งที่ทำคือต้องทำควบคู่กันไป พัฒนาทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนในประเทศ" 

ส่วนเรื่องสมุนไพร ถึงเวลาที่ต้องส่งเสริมอย่างจริงจัง เพราะมีตลาดใหญ่ อย่างขมิ้นชัน ที่ขายดีมากเป็นอันดับต้นๆ ในสหรัฐอเมริกาและระดับโลก แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้าขมิ้นชันจากอินเดีย ดังนั้นการบอกว่า ต้องการส่งเสริมการเกษตร ต้องทำให้ชัดว่า เป็นการเกษตรแบบไหน ซึ่งสมุนไพรคืออีกจุดที่ประเทศไทยมีศักยภาพ

การเพิ่มบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขตรงนี้ ถ้าทำได้จะเป็นการพลิกโฉมหน้าครั้งใหญ่ แต่ที่ผ่านมา แม้จะบอกว่าส่งเสริมเป็นศูนย์การการแพทย์ หรือ medical hub แต่กลับมีงบประมาณทำงานส่วนนี้หลัก 10 ล้านบาท ทั้งที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของ medical hub มีมากเป็นแสนล้านบาท จึงถึงเวลาที่จะต้องทำบางอย่างเพื่อให้มีเจ้าภาพตัวจริงมาทำเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึง 'หน่วยงานส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพ' หรือ HEPA (Health Economy Promotion Agency) มีการเตรียมการจัดงานเอ็กซ์โปสุขภาพแห่งชาติ แต่พอเจอโควิด-19 จึงชะลอออกไป ซึ่งคาดว่า พอโควิด-19 คลี่คลาย กระทรวงสาธารณสุขจะกลับมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพอย่างจริงจังและทำให้เกิดขึ้นได้


เรื่องเศร้าประเทศไทย: ระบบสุขภาพพื้นฐานดีแต่กลับไม่มีระบบที่ดีรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

ถึงวันนี้ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงไอซีที ที่ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของกระทรวงดีอีเอส (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) มองเหตุการณ์จากโควิด-19 สรุปได้ว่า พื้นฐานด้านสุขภาพของประเทศไทยดีมาก แต่ระบบพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเรามีปัญหา เห็นชัดเมื่อปิดเมือง แล้วมีคนตกงาน ไม่มีระบบรองรับด้านเศรษฐกิจ วันนี้ระบบเศรษฐกิจไทยที่มีอยู่รองรับคนที่ตกงาน คนที่มีความทุกข์จากการปิดเมืองไม่ได้ การแจกเงิน 5,000 บาทไม่ใช่คำตอบ แต่ควรมีสิ่งที่เรียกว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า หรือ UBI ( Universal Basic Income) ที่จะทำให้ทุกๆ คนมีหลังพิง มีสิ่งที่เรียกว่า safety net เมื่อเกิดเหตุการณ์ประเภทที่จะอดอยากขนาดไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะกินอะไรได้ต่อไป ซึ่งการแจก 5,000 บาทไม่ได้ใช้หลักการแบบการสร้างรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าที่ว่า แต่กลับย้อนยุคไปแบบสังคมสงเคราะห์

"สิ่งที่เห็นชัดคือความเหลื่อมล้ำ ว่าพอเจออะไรที่เป็นสถานการณ์วิกฤตหน่อยหนึ่ง คนที่อยู่ข้างล่างจำนวนมาก รับมือไม่ได้ ทนแรงกระแทกไม่ไหว ขณะที่ระบบสุขภาพของเราทำให้ความเหลื่อมล้ำถูกลดทอนไปเยอะได้ ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ แต่ระบบเศรษฐกิจไม่สามารถทำให้เห็นตรงนี้เลย และเมื่อเจอวิกฤต ปัญหามันก็โผล่ออกมา สถานการณ์ที่เห็นคือระบบเศรษฐกิจของไทยมีปัญหา คือไม่ได้ดูแลและทิ้งคนไว้ข้างหลังเยอะมาก"

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หมอเลี้ยบ หมอเลี๊ยบ

"ผมพูดอยู่ตลอดเวลาว่า วันนี้ผมไม่ห่วงเรื่องสุขภาพเพราะประเทศเรามีระบบรองรับที่ดี ควบคุมโรคได้ดี แต่สิ่งที่เห็นอยู่ข้างหน้าเรื่องเศรษฐกิจ มันทะมึนอยู่ข้างหน้า เหมือนภูเขาน้ำแข็ง การที่มีผู้คนจำนวนมากต้องไปออกันที่หน้ากระทรวงการคลัง มันเป็นภูเขาน้ำแข็ง วันนี้เราเห็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง แต่ข้างล่างมีคนตกงานอีกมาก และจะทนแรงกระแทกยังไงไหว วันนี้ผมยังไม่เห็นนโยบายอะไรที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และรัฐบาลต้องเตรียมการอย่างเร่งด่วน มีทั้งแผนระยะสั้น กลาง และยาว เพราะผมว่า มันจะหนักหนามากกว่าสมัยต้มยำกุ้ง" นพ.สุรพงษ์ กล่าวปิดท้ายบทสนทนา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :