ครั้งแรกที่ทำแบบทดสอบวัดสติปัญญา (IQ) เราก็ได้แต่ภาวนาให้มันออกมาได้คะแนนเยอะ ให้ออกมาได้คะแนนดี เพราะนี่มันคือความฉลาดที่ติดตัวมาเลยนะ ขอไม่ให้ออกมาโง่มากก็แล้วกัน (อายคนอื่นเขา)
จริงๆ แล้วเราถูกหล่อหลอมด้วยทัศนคติของสังคมว่าการเรียนสายวิทย์เท่ากับคุณเป็นคนเก่งเช่นเดียวกับเด็กที่เกิดในสมัย...(หยุดก่อน) หมายถึงสมัยที่ผ่านๆ มา แล้วตอนนี้ต้องมาทนทุกข์ทรมานว่านั่งเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ มาทำไมวะเนี่ย!!!! ขึ้นมหาวิทยาลัยก็ไปเข้าคณะภาษา แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ระหว่างเรียน เรารู้สึกมาตลอดว่าทำได้ไม่ดีในวิชาพวกนี้ โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ แบบ “ฉันเก่งภาษาไง ฉันโง่เลขเป็นธรรมดา” แต่ว่าก็ ไม่ใช่ว่าฉันไม่เคยโง่ภาษานะ ฉันแค่ไม่เคยคิดว่าฉันโง่ภาษา
หนังสือเล่มนี้แบ่งหลัก ‘แนวคิด’ ออกเป็น 2 ประเภท คือ ‘Fixed Mindset’ และ ‘Growth Mindset’ ซึ่งแปลเป็นไทยแบบตรงตัวได้ว่า ‘แนวคิดคงที่’ และ ‘แนวคิดเติบโต’ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า บุคคลคนนึงจะเป็นแค่อย่างใดอย่างหนึ่งนะ
ในกรณีสะท้อนมุมมองจากเรา เรามีแนวคิดแบบคงที่กับวิชาคณิตศาสตร์ เรา(เคย)รู้สึกว่าเราไม่เก่ง และฟ้าคงลิขิตมาแล้วให้เราไม่เก่ง ทั้งๆ ที่เราก็ได้เกรด 4 มาตลอด แล้วก็ยังเก่งแยกตัวประกอบมากๆ (อันนี้ชอบมากไม่รู้ทำไม) แต่ก็นั่นแหละ เราไม่เคยรู้สึกว่าเราเก่ง และที่สำคัญ เราไม่เคยรู้สึกว่าเราจะเก่งได้ ในทางตรงกันข้าม เราโง่ภาษาอังกฤษมากนะช่วงเด็ก แต่เรากลับไม่เคยรู้สึกว่าเราโง่ เราแค่รู้สึกว่าเราไม่รู้ และเราก็เรียนรู้ เพื่อที่จะได้รู้ก็แค่นั่น
คุณเห็นความแตกต่างง่ายๆ ในแนวคิดของเราไหม แค่เราคิดว่าเราทำไม่ได้เพราะ ‘ฟ้า’ (ซึ่งให้ตายเถอะ ไม่มีฟ้าที่ไหนมากำหนดความฉลาดของคนเราได้หรอกนะ) เราก็ยอมแพ้ ไม่พยายามเรียนรู้กับมัน แนวคิดแบบนี้ทำให้คนเราไม่พัฒนาเต็มความสามารถ เพราะมันหลอกเราว่าเราทำไม่ได้ไง คำล่อหลอกเหล่านี้ยิ่งใช้เข้าไปได้ดีกับสิ่งที่เราเกลียด เพราะเราเกลียด เราก็ไม่อยากไปอยู่ใกล้ๆ ไปใช่เวลากับมัน
ความแตกต่างในแนวคิดแบบเติบโตคือมันบอกเราว่าคุณยังไม่รู้เรื่องนี้ คุณต้องศึกษา แล้วคำถามต่อไปคือคุณจะศึกษายังไง มันจะมีการตั้งคำถามตอบคำถามไปเรื่อยๆ แต่สุดท้าย นั่นคือกระบวนการแห่งการเรียนรู้แล้วเติบโต
ตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้พูดถึงความโหดร้ายที่ทัศนคติแบบคงที่สามารถทำร้ายผู้คนในจำนวนกว้างได้ แล้วอะไรมันจะดีเท่าการทำร้ายเด็กบริสุทธิ์ด้วยการตราหน้าว่าเด็กคนนั้น ‘โง่’ อีกจริงไหม
แท้จริงแล้วข้อสอบวัดสติปัญญา หรือ IQ ที่เรารู้จักกัน ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาโดย ‘อัลเฟรด บิเนต์’ แพทย์ชาวฝรั่งเศสที่สร้างข้อสอบวัดเชาว์ปัญญาเด็กเล็กเพื่อหวังตรวจหาทักษะของเด็กในด้านที่ยังต้องการการพัฒนาเพื่อให้ครูสามารถจัดเตรียมการเรียนการสอนที่ตรงกับตัวเด็กคนนั้นให้
ย้อนกลับมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เด็กที่สอบได้คะแนนน้อยกลายเป็น ‘เด็กโง่’ ที่ถ้าโชคดีก็อาจจะได้รับการใส่ใจหาทางพัฒนา แต่จะมีสักกี่คนที่โชคดีแบบนั้น และไม่ต้องเจอแรงดูถูกเสียดสีอย่างไม่รู้ตัว มีเด็กกี่คนที่ไม่ต้องรับมือกับพ่อแม่ที่ทำเสมือนว่าลูกตัวเองเป็นสิ่งของหรือเครื่องประดับเอาไว้โชว์ เอาไว้แข่งกันว่าลูกใครฉลาดกว่ากัน จนเหมือนลืมไปแล้วว่า เด็กทุกคนต้องเติบโตต้องเรียนรู้ ผลคะแนนสอบต่างๆ ไม่อาจตีตราได้ว่าเด็กคนไหนเป็นคน ‘โง่’ หรือ ‘ฉลาด’ และที่สำคัญคือเด็กไม่ใช่เครื่องประดับของพ่อแม่
ในทำนองเดียวกัน แนวคิดแบบคงที่ก็สะท้อนกับวงการการศึกษาของไทยเช่นเดียวกัน ลองคิดูสิ่ ประเทศเราเต็มไปด้วยโรงเรียนที่เปิดขึ้นมาเพื่อคนเก่ง เพื่อเด็กที่รู้แทบทุกอย่างก่อนเพื่อน และมีแต่เพียงเด็กที่เก่งที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถย่างเท้าเข้ามายืนในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่สูงส่งไหมไม่รู้ แต่คุณก็ยืนอยู่สูงกว่าคนอื่นๆ นั่นแหละ เพราะอะไรหน่ะหรอ ก็เพราะสังคมเขามีแนวคิดแบบนี้ไง เขามีแนวคิดกันแบบนี้ ยกย่องกันแบบนี้ จนเหมือนจะลืมจุดประสงค์ของการมี ‘โรงเรียน’
ไม่ใช่ว่าโรงเรียนเอาไว้สอนหรอ เด็กๆ เข้าไปศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้ถูกสอนในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ ในสิ่งที่พวกเขาไม่เชี่ยวชาญ ไม่ใช่ในสิ่งที่พวกเขารู้อยู่แล้ว ไม่ใช่ในสิ่งที่พวกเขาเชี่ยวชาญอยู่แล้ว แต่หันไปมองสิ่ ว่าในประเทศไทย มีกี่โรงเรียนที่สรรเสริญความฉลาดของเด็กและทอดทิ้ง ‘ผู้ไม่รู้’
เราไม่ได้บอกว่าเราไม่มีแนวคิดแบบคงที่ เราเพิ่งบอกไปอยู่ว่าเราก็เคยคิดว่าตัวเองโง่เลข แต่คำถามคือคิดแบบนั้นไปแล้วยังไงต่อ ก็คือโง่เหมือนเดิมอ่ะนะ เราไม่คิดว่าเราจะคิดแบบนั้นแล้วแหละ เราไม่ได้มี IQ เท่าอัจฉริยะ แต่ก็แล้วไงอ่ะ เราก็แค่อยากจะเรียนรู้ และเรารู้ว่าหัวสมองของเราที่ยังใช้งานได้อยู่ทุกวันนี้สามารถรองรับการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้ แค่นั้นก็พอแล้วป่ะ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคนเราพร้อมจะเรียนรู้รึเปล่า ไม่ใช่เราเกิดมาแล้วฉลาดแค่ไหน ไม่ใช่หรอ?