เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565. ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงว่า ประเทศไทยยังไม่มีรายงานโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานรจัดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จึงไม่มีการกักตัวจนกว่าจะเข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วย ได้ทำการเฝ้าระวังทั้งที่สนามบินในผู้เดินทางเข้าประเทศ สถานพยาบาล และคลินิกเฉพาะทางโรคผิวหนังหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
สำหรับนิยามผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หรือต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีอาการผื่น ตุ่มนูน ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นบริเวณใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยเป็นผื่นก่อน ตามด้วยตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และตุ่มตกสะเก็ด โดยต้องมี 1 ใน 2 อาการนี้ ร่วมกับประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาภายใน 21 วัน คือ 1.ประวัติเดินทางจากประเทศที่มีรายงานการระบาดโรคฝีดาษวานรภายในประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากแอฟริกา ยังมีแคนาดา อังกฤษ โปรตุเกส และสเปน 2.ประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้เดินทางมาจากต่างประเทศประจำ หรือ 3.ประวัติใกล้ชิดสัมผัสสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่นำเข้าจากแอฟริกา
ส่วนนิยามผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร คือ ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด โดยสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนของผู้ป่วย, เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้านที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วย หรือใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย หรือผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้องหรืออยู่ใกล้ผู้ป่วยฝีดาษวานร ในระยะ 2 เมตร ตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป ทั้งนี้ เมื่อได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยเข้าข่ายมารักษาในสถานพยาบาลจะตรวจคัดกรองและเก็บตัวอย่างจากแผลหรือลำคอ เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และพิจารณาแยกกัก เพื่อรอเวลาการตรวจหาเชื้อ หากไม่พบเชื้อฝีดาษวานรหรือเป็นโรคอื่นจะจบการแยกกัก แต่หากพบเชื้อหรือเป็น “ผู้ป่วยยืนยัน” จะได้รับการรักษาและแยกกักจนครบ 21 วัน นับจากวันที่เริ่มป่วย
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า กรณีประเทศออสเตรเลียแจ้งว่าพบผู้ป่วยฝีดาษวานร 1 ราย มีประวัติบินมาจากประเทศทางยุโรป และมาแวะต่อเครื่อง (Transit) ที่ประเทศไทย 2 ชั่วโมง จากการสอบสวนโรคพบว่า ขณะที่ผู้ป่วยรายนี้อยู่ในประเทศไทยไม่มีอาการ และไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดใคร มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอด โดยเริ่มมีอาการที่ประเทศออสเตรเลีย ดังนั้น ผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งหมด 12 คน ซึ่งเป็นผู้โดยสารและลูกเรือ จึงไม่ใช่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากการติดตาม 7 วันยังไม่พบอาการป่วย โดยจะติดตามจนครบ 21 วัน
ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวจากไอร์แลนด์ 3 ราย ที่สงสัยป่วยฝีดาษวานร แต่ผลตรวจออกมาเป็นเริมนั้น จากการสอบสวนโรคพบว่าเป็นพี่น้องกัน เดินทางเข้ามาเรียนมวยไทยโดยบินตรง จ.ภูเก็ต แต่เดินทางเข้ามาคนละวัน รายแรก เพศชาย อายุ 30 ปี อาชีพแพทย์ เดินทางมาวันที่ 4 พฤษภาคม เริ่มมีผื่นที่แขนซ้ายวันที่ 21 พฤษภาคม อีก 2 วันถัดมาเริ่มมีไข้ 38.9 องศาเซลเซียส รับยาที่คลินิกเอกชน จ.ภูเก็ต รายที่ 2 เพศชาย อายุ 27 ปี อาชีพนักแสดง เดินทางมาวันที่ 5 พฤษภาคม เริ่มมีผื่นที่หลังด้านขวาและคอ วันที่ 21 พฤษภาคม รับประทานยาและอาการไม่ดีขึ้น และรายที่ 3 เพศชาย อายุ 20 ปี เป็นนักศึกษา เดินทางมาวันที่ 13 พฤษภาคม เริ่มมีผื่นที่รักแร้ซ้าย วันที่ 22 พฤษภาคม รับประทานยา อาการไม่ดีขึ้น
นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยฝีดาษวานรที่ไอร์แลนด์ แต่เมื่ออยู่ในประเทศไทยมีการคลุกคลีใกล้ชิดกันตลอดเวลา ใช้อุปกรณ์ชกมวยและกระสอบทรายร่วมกัน เมื่ออาการไม่ดีขึ้น วันที่ 25 พฤษภาคมจึงมารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. เมื่อพบประวัติเข้าได้กับโรคฝีดาษวานรจึงรายงานมายังกรมควบคุมโรคเพื่อสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจ พร้อมทั้งส่งมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ส่วนผลการสอบสวนโรคในสถานที่เสี่ยง พบผู้ป่วยชาวต่างชาติอีก 2 ราย จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์โรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งผลการตรวจทั้ง 5 ราย พบว่าไม่ใช่โรคฝีดาษวานร แต่เป็นเชื้อเริม ทั้งหมดได้รับการรักษาด้วยยาอะไซโคลเวียร์ ขณะนี้แผลแห้งแล้ว
ทั้งนี้ สถานที่ออกกำลังกายที่มีการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ต้องเช็ดทำความสะอาดเป็นประจำ จะช่วยป้องกันทั้งโรคโควิดและโรคอื่นๆ ส่วนผู้ที่ไปร่วมงานเฟสติวัลในต่างประเทศ หรือร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง หากมีอาการขอให้มาพบแพทย์และแจ้งประวัติร่วมกิจกรรม