จากกรณีแคมเปญ #KuToo กระแสสตรีญี่ปุ่นต่อต้านค่านิยมการบังคับใส่รองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน ซึ่งมีผู้สนับสนุนกว่า 18,900 ราย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม เนโมโตะ ทาคุมิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่าการใส่เส้นสูงเป็นสิ่งจำเป็น
"เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในสังคม ว่าพอมีเรื่องงานมาเกี่ยวข้องแล้ว (การใส่ส้นสูง) เป็นสิ่งจำเป็นและเหมาะสม" เนโมโตะ กล่าวในที่ประชุมสภาเมื่อวันพุธ (5 มิ.ย.) ที่ผ่านมา
การสวมส้นสูงระหว่างการหางานหรือการทำงานนั้นแทบจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในญี่ปุ่น แม้ไม่มีการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ร่วมรณรงค์บางราย ชี้ว่าการใส่ส้นสูงก็เหมือนการบังคับรัดเท้าสตรีของจีนในอดีต
โอตสึจิ คานาโกะ สมาชิกสภารายหนึ่งชี้ว่ากฎระเบียบแบบนี้คร่ำครึ และการบังคับการแต่งกายกับผู้หญิงเป็นการเจาะจงนั้นเป็นการละเมิดสิทธิ
"มันเป็นการลุแก่อำนาจในที่ทำงาน ด้วยการบีบบังคับผู้หญิงที่เจ็บเท้าให้ใส่ส้นสูง" โอตสึจิ กล่าวในที่ประชุมเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ทาคากาคิ เอมิโกะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการฝ่ายรัฐสภา ไม่เชื่อว่าผู้หญิงควรถูกบังคับให้สวมส้นสูง
แคมเปญ #KuToo เริ่มขึ้นในทวิตเตอร์โดยอิชิคาวะ ยูมิ นักแสดงและนักเขียนอิสระชาวญี่ปุ่น โดยชื่อของแคมเปญ #KuToo หรือคุทู (สำเนียงญี่ปุ่นอ่านว่าคุตสึ) นั้นเป็นการเล่นเสียงจากคำว่าคุตสึ (靴: kutsu) ที่แปลว่ารองเท้าในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่าคุตซือ (苦痛: kutsuu) ที่แปลว่าความเจ็บปวด และเขียนให้คล้ายกับชื่อแคมเปญ #MeToo ซึ่งเป็นแคมเปญยุติการละเมิดและคุกคามสตรีซึ่งมีจุดเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา
ภายหลังเกิดกระแสผู้เห็นด้วยในทวิตเตอร์จำนวนมาก เธอได้ตั้งแคมเปญรณรงค์ยุติการบังคับผู้หญิงใส่ส้นสูงในที่ทำงานขึ้นผ่านเว็บ Change.org และนำชื่อผู้สนับสนุนกว่า 18,900 รายไปยื่นกับกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน
การแสดงความเห็นตอบโต้ของผู้ว่าฯ กระทรวงแรงงาน ส่งผลให้มีผู้ลงชื่อสนับสนุนแคมเปญในเว็บ Change เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยขณะนี้มีผู้สนับสนุนแล้วกว่า 23,500 คน และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"นี่สะท้อนมุมมองว่าภาพลักษณ์สำคัญกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย" อิชิคาวะ ผู้ตั้งแคมเปญกล่าวขณะสวมรองเท้าผ้าใบสีน้ำเงิน
ที่มา: The Japan Times / The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: