ไม่พบผลการค้นหา
ชาวบ้านรวมตัว คัดค้านเหมืองแร่หินเขากะลา หวั่นได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศ

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 เวลา 13.30 น. ณ ศาลาประชาคม หมู่ที่10 ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักษ์เขากะลาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเวทีการประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 (EIA) ของโครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ศาลาประชาคม หมู่ 10 ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจัดโดยบริษัท ตถาตาสิ่งแวดล้อม จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม) คำขอประทานบัตรที่ 3/2565 หมายเลขหลักหมายเลขเขตเหมืองแร่ที่ 32335 ของบริษัท 347 ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด.

เครือข่ายชุมชนและกลุ่มรักษ์เขากะลาให้เหตุผลการคัดค้านดังกล่าวว่า เนื่องจากการทำเหมืองแร่หินจะทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบ ชาวบ้านจึงออกมารวมกลุ่มคัดค้านในเวทีการประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 (EIA) พื้นที่หมู่ 7 และพื้นที่หมู่ 10 ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ คือหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่หินโดยตรง

โดยมีพื้นที่ที่จะเข้าข่ายได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ได้แก่ หมู่ที่ 3 บ้านพุหว้า หมู่ที่ 5 บ้านธารลำไย หมู่ที่ 7 บ้านซับผักกาด หมู่ที่ 9 บ้านสระบัวใต้ หมู่ที่ 10 บ้านพุวิเศษ และหมู่ที่ 12 บ้านเขาสนามชัย ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ หลายร้อยหลังคาเรือน

ตัวแทนชาวบ้านท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า เขากะลาเคยเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศให้ชาวบ้านกับป่าได้พึ่งพาอาศัยกันอย่างสมดุล แต่ถ้าหากเกิดการสร้างเหมืองแร่หินและระเบิดเขา มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง การทำเกษตรกรรมรวมถึงชุมชนเขากะลาที่เป็นแหล่งต้นน้ำของบึงบอระเพ็ด จะปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นำความความเดือดร้อนมายังชาวบ้านในพื้นที่

​ทั้งนี้ เครือข่ายชุมชนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างไกล้ชิด ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ต้องการให้คณะกรรมการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก้ไขปัญหาโดยเร็ว และต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ อุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติเวทีการประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 (EIA) ของ บริษัท ตถาตาสิ่งแวดล้อม จำกัด (บริษัทที่ปรึกษสิ่งแวดล้อม) ของบริษัท 347 ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด เพื่อให้ชาวบ้านและชุมชนกลับมาทบทวนอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานและทุกคนในชุมชน