ไม่พบผลการค้นหา
"พิชัย" แนะรัฐบาลต้องวางแผนแก้ปัญหามากกว่านี้ ไม่ใช่ถูกตำหนิแล้วจึงดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องงบบัตรทอง - ค่าไฟฟ้า - เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ส่วนการเข้าร่วม CPTPP ต้องพิจารณาให้ดีก่อน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การส่งออกเดือนมี.ค.ที่ขยายตัวร้อยละ 4.17 แต่เมื่อหักการส่งออกทองคำและการส่งคืนยุทโธปกรณ์ซ้อมรบกลับสหรัฐฯ ที่ไม่สะท้อนภาวะการค้าที่แท้จริงแล้ว การส่งออกจะหดตัวติดลบร้อยละ 2.5 ไม่ได้ขยายตัวตามที่กล่าวอ้างกัน อีกทั้งในวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมานี้ จะเป็นวันแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) กับสินค้าไทย 573 รายการ มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยย่ำแย่ลงไปอีก ทั้งนี้การค้าขายระหว่างประเทศของทั้งโลกภายหลังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีความผันผวนมากขึ้นไปอีก 

ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้า เพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) อยากให้รัฐบาลพิจารณาให้ดีถึงข้อดีข้อเสียที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศ อย่าเพียงคิดว่าประเทศไทยไม่สามารถเจรจาการค้ากับต่างประเทศมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี เพราะปัญหาของการปฏิวัติรัฐประหาร แล้วจะรีบแก้ไขโดยการเข้าร่วม CPTPP แบบไม่ลืมหูลืมตา ทั้งนี้เพราะไทยอาจจะต้องเจอปัญหาสิทธิบัตรยา และ ปัญหาลิขสิทธิ์เมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งทั้งปัญหาด้านสาธารณสุข และ ปัญหาความขาดแคลนอาหารของโลก หลังจากวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดจะเป็นเรื่องใหญ่ ที่รัฐบาลต้องคำนึง อีกทั้งประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการค้าและการลงทุนจากการเข้าร่วม CPTPP ก็ยังไม่ชัดเจนจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกภายหลังการเกิดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 นี้ โดยอยากให้รัฐบาลได้ฟัง และพิจารณา เสียงคัดค้านและเหตุผลของผู้มีชื่อเสียงและนักวิชาการจำนวนมากที่ได้ออกมาต่อต้านการเข้าร่วม CPTPP นี้ 

ทั้งนี้ ในภาวะวิกฤตกาณ์ไวรัสโควิด-19 นี้สถานการณ์ต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้วมาตลอด 5 ปีนี่ จะยิ่งทรุดหนักและย่ำแย่ลงไปอีกอย่างรุนแรงแบบที่จะไม่เคยพบมาก่อน เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกจะผันผวนและซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้แย่ลง ธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจสายการบิน และ ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว จะเป็นธุรกิจแรกๆ ที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และจะยังมีผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมากทั่วโลก รวมถึงไทยที่จะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นถึงกว่า 10 ล้านคน ซึ่งจะทำให้เกิดความลำบากกันอย่างมาก 

ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลได้วางแผนการรับมือปัญหาเศรษฐกิจที่จะหนักหนาสาหัสล่วงหน้า อย่าได้บริหารประเทศเหมือนในปัจจุบันที่ดูเหมือนรัฐบาลจะขับเคลื่อน โดยการโดนตำหนิ หรือ ต้องถูกตำหนิก่อนถึงจะยอมดำเนินการ ล่าสุดรัฐบาลมีความคิดที่จะตัดงบบัตรทองลง 2,400 ล้านบาท แต่เมื่อโดนตำหนิมากจึงยอมถอย การแจก 5,000 บาท ก็เกิดจากเสียงวิจารณ์ที่ปิดเมืองแล้วทำให้คนตกงานและขาดรายได้แต่กลับไม่มีการเยียวยา พอถูกวิจารณ์ว่าแจกแค่ 3 ล้านคน ทั้งที่มีผู้เดือดร้อนสมัครเข้ามากว่า 27 ล้านคน จึงขยายเป็น 9 ล้านคน และยังถูกตำหนิอีกจึงขยายเป็น 14 ล้านคน ต่อมาประชาชนบ่นว่าค่าไฟฟ้าแพงจึงคิดลดค่าไฟฟ้าทั้งที่ได้เตือนก่อนแล้ว การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ก็เช่นกัน ถ้าไม่ถูกตำหนิป่านนี้ก็ยังคงจัดซื้ออาวุธกันมากมายโดยไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน และหากมองย้อนหลัง ปัญหาหน้ากากอนามัย และ แอลกอฮอล์ ขาดแคลนก็ต้องถูกตำหนิกันก่อนถึงมาแก้ไข ซึ่งหากต้องถูกตำหนิก่อนถึงจะดำเนินการ รัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศให้ทันการณ์ได้

ในภาวะวิกฤตต่อไปนี้ การเปลี่ยนแปลงและความผันผวนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ประเทศไทยต้องการผู้บริหารประเทศที่ต้องคิดเป็น บริหารเป็น ไม่ใช่ต้องถูกตำหนิก่อนถึงจะคิดดำเนินการ ถ้าหากรัฐบาลยังบริหารประเทศแบบขับเคลื่อนโดยการโดนตำหนินี้ ประเทศไทยจะไม่สามารถฝ่าวิกฤตการณ์นี้ไปได้ และ ประชาชนจะยิ่งลำบากกันอย่างมาก