Artes Mundi ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัล Artes Mundi ครั้งที่ 8 ในวันนี้ 25 มกราคม 2562 (24 มกราคม เวลา 22:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น) ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ หรือ เจ้ย ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระชื่อดัง ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้ได้รับรางวัล ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลศิลปะร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ที่มอบให้กับศิลปินที่มีผลงานที่แสดงความเห็นและตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ ความเป็นจริงทางสังคม จิตวิญญาณของยุคสมัยที่สำคัญต่อโลก โดยจะได้รับเงินรางวัล £40,000 (ประมาณ 1.6 ล้านบาท)
‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ ได้นำเสนอผลงานวิดีโอ "Invisibility" (2016) ผลงานดังกล่าวจัดแสดงครั้งแรก ในสหราชอาณาจักร ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคาร์ดิฟฟ์ โดยนำเสนอ หนังขาวดำ ที่เปรียบตัวละครเสมือนกำลังฝัน ผ่านการฉายภาพเงาสองจอคู่กัน ซึ่งตัวละครอยู่บนเตียงนอน โดยพูดถึงการเมืองและประเด็นทางสังคมการเมืองไทย ซึ่งจัดแสดงผล��านร่วมกับผลงานของศิลปินที่ได้รับการเสนอชื่อในปีนี้อีก 4 คน อยู่ที่ Amgueddfa Genedlaethol Caerdydd - National Museum Cardiff ในเมืองคาร์ดิฟฟ์ ประเทศเวลส์ นอกจากนี้ ยังจะมีการฉายภาพยนตร์ "ลุงบุญมีระลึกชาติ" ให้ชมฟรีกันในวันที่ 27 มกราคม 2562 ที่ Chapter ในเมืองเดียวกัน'
ผลงาน Invisibility ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
โดยคณะกรรมการตัดสินกล่าวว่าวิดีโอชิ้นนี้ว่าเป็น “อาวุธอันทรงพลังในยุคสมัยแห่งความสับสนวุ่นวาย”
ขณะที่ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัล Artes Mundi
"วันนี้เป็นวันพิเศษและผมรู้สึกเป็นเกียรติมาก การได้รับรางวัลเช่นนี้ ช่วยกระตุ้นให้ผมทำงานต่อไป และยืนหยัดที่จะตั้งคำถามต่อโลก ที่พวกเราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมากยิ่งขึ้น"
สำหรับ ‘เจ้ย อภิชาติพงศ์’ สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ภาพยนตร์เรื่องแรก ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon) ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดี ที่เดินทางไปในงานแสดงนานาชาติเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกจารึกว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในปี 2543 โดยนิตยสาร Film Comment และ The Village Voice
ปี พ.ศ.2545 ภาพยนตร์ เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) ได้รับรางวัล Un Certain Regard ใน Cannes Film Festival โดยที่ Le Cashiers du Cinema โดย นิตยสารภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในฝรั่งเศสยกย่องว่าเป็น 1 ในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในเทศกาลนั้น
ปี พ.ศ. 2547 ภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด (Tropical Malady) ซึ่งร่วมกับบริษัท Anna Sanders Films ประเทศฝรั่งเศส ได้รับรางวัล Jury Prize และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเข้าเลือกในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
ปี พ.ศ. 2549 ภาพยนตร์ เรื่อง แสงศตวรรษ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถูกคณะกรรมการเซ็นเซอร์สั่งให้ตัดออก 4 ฉาก คือ ฉากการจูบกัน การดื่มสุราในโรงพยาบาล และ อรก 2 ฉาก เป็นฉากพระเล่นกีตาร์และเล่นจานบิน แต่ เจ้ย ปฏิเสธที่จะตัดฉากเหล่านั้น และพยายามต่อสู้ด้วยการเคลื่อนไหวให้เปิดเสรีภาพยนตร์ไทย
ปี พ.ศ. 2553 ภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) ได้รับรางวัล Palme d’Or รางวัลใหญ่ของ Cannes Film Festival เป็นผู้กำกับชาวไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
และในปี พ.ศ. 2560 – 2561 เขาได้ร่วมผลิตภาพยนตร์เรื่อง Ten Years Thailand กับผู้กำกับภาพยนตร์ไทยอีก 3 คน ได้แก่ อาทิตย์ อัสสรัตน์ . วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, และจุฬญาณนนท์ ศิริผล ภาพยนตร์ประกอบด้วย 4 ภาค โดยผู้กำกับแต่ละคน เอาแบบอย่างมาจากภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่อง Ten Years (2015) แต่มีเนื้อหาที่แตกต่างกัน
อ้างอิงข้อมูล : https://www.theartnewspaper.com/news/thai-film-maker-apichatpong-wee?fbclid=IwAR0Jeookzt5DkhbeO7WoFoR7l3W-8D2unVhrkijyovqTvqPrz-0VZT5pWMg