ฆ่าตัวตายพุ่งในยุคโควิด
องค์การอนามัยโลก ( WHO ) ระบุว่าปีหนึ่งมีคนฆ่าตัวตายเฉลี่ย 700,000 คน โดย 77% เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง อีกทั้งยังน่ากังวลมากในคนอายุ 15-19 ปี เพราะการฆ่าตัวตายนับเป็นสาเหตุการตายอันดับ 4
หากดูอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ช่วงการระบาดของโควิดก็พบว่ามีอัตราฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นสูง
*ตัวเลขของปี 2564 นั้นยังไม่มีการรายงานในระบบของกรมสุขภาพจิต แต่นำมาจากการรายงานข่าวการเปิดเผยของ ศ.พญ.สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น (จิตแพทย์ห่วงช่วงโควิด-19 คนไทยฆ่าตัวตายพุ่งเทียบเท่าช่วงต้มยำกุ้ง, 9 ก.ย.2564)
หากเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปีที่มีคนฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ ปี 2542 อยู่ที่ 8.59 ต่อแสนประชากร หรือคิดเป็นจำนวน 5,290 คน ดังนั้น หากข้อมูลปี 2564 เป็นจริงที่ 8.8 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้เสียชีวิตย่อมมากกว่าปี 2542
นั่นแปลว่า หากมีคนฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 5,000 คน เท่ากับประเทศสูญเสียประชากรเฉลี่ยวันละ 13 คน
ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า ตัวเลขชุดนี้เป็นชุดที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง โดยดูจากใบมรณบัตรเป็นหลัก แต่หากใช้ระบบ 3 ฐาน ของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ จะทำให้ตัวเลขคนฆ่าตัวตายปี 2561 2562 2563 ขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่ 8.81, 8.95 และ 10.08 ต่อแสนประชากร
หากดูช่วงอายุของผู้ฆ่าตัวตาย ข้อมูลกรมสุขภาพจิตอัพเดทถึงปี 2562 พบว่า กลุ่มที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวัยทำงาน และวัยรุ่นก็มีจำนวนไม่น้อย
อายุ 30-39 ปี 959 ราย
อายุ 40-49 ปี 937 ราย
อายุ 50-59 ปี 817 ราย
อายุ 20-29 ปี 667 ราย
อายุ 60-69 ปี 517 ราย
อายุ 80 ปีขึ้น 123 ราย
อายุ 10-19 ปี 111 ราย
จิตแพทย์-นักจิตวิทยา ไทยผลิตน้อยมาก
ปัญหานี้เป็นเรื่องเร่งด่วนโดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดที่เศรษฐกิจย่ำแย่ มีการเจ็บป่วย การสูญเสียคนรัก การล็อคดาวน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ
ขณะที่ทรัพยากรสังกัดกรมสุขภาพจิตมีจำกัดอย่างมาก ประเทศไทยมีพยาบาลวิชาชีพด้านจิตเวช 1,933 คน จิตแพทย์ 225 คน นักจิตวิทยา/จิตวิทยาคลินิก 179 คน นักวิชาการสาธารณสุข 195 คน เภสัชกร 121 คน นักสังคมสงเคราะห์ 82 คน นักกิจกรรมบำบัด 44 คน มีจำนวนเตียงจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิต มีทั้งหมด 4,362 เตียง ใน 20 สถานพยาบาล และมีผู้มารับบริการทั้งผู้ป่วยนอกผู้ป่วยในรวมแล้ว 1 ล้านคนต่อปี
สุขภาพจิตแย่ จากวัยรุ่นกลายเป็นวัยร่วง
จากข้อมูลปี 2562 เยาวชนคนรุ่นใหม่อายุ 10-29 ปี ฆ่าตัวตายเกือบ 800 คน (จาก 4,418 คน)
หากโฟกัสให้มากกว่านั้น ข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยอันดับ 1 อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ย่อมต้องมีการแข่งขันสูงกว่าที่อื่นๆ ถูกเปิดเผยภาพความหนักหน่วงของปัญหาสุขภาพจิตโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เมื่อ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา
“ปีการศึกษานี้เป็นที่ยากลำบากที่สุด จากโรคระบาดโควิดทำให้สังคมแทบทุกด้านย่ำแย่ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนิสิตอย่างน้อย 8 คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิต และมีนิสิตอีก 30 คนอาจจะถูกรีไทร์เพราะการเรียนออนไลน์ แม้ว่าครอบครัวทุกคนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ มหาวิทยาลัยกลับลดค่าเทอมให้เพียงร้อยละ 10 ทั้งกิจกรรมต่างๆ ก็ถูกห้ามจัด” เนติวิทย์ระบุ
ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในงาน Mind Market เมื่อ 18-19 มี.ค.2565 จัดโดยองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ร่วมกับ Chula Student Wellness จากผู้ให้ความเห็น 363 คน พบว่า ปัญหาอันดับ 1 คือ สุขภาพใจ คิดเป็น 41% รองลงมาคือ ปัญหาการเรียนออนไลน์ คิดเป็น 31% อันดับ 3 คือ ปัญหาค่าใช้จ่าย คิดเป็น 14%
แม้ปัญหาสุขภาพจิตในรั้วจามจุรีจะหนักหน่วง และจุฬาฯ เองก็มีหน่วยงานรองรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เรียกว่าก้าวหน้าเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ แต่ข้อมูลจาก Chula Student Wellness หน่วยงานที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตกับนิสิต ที่เคยทำการสำรวจก่อนหน้านี้เองพบว่า นิสิตจุฬาฯ ที่รู้สึกมีปัญหาถึงขั้นต้องการความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพ มีประมาณ 15% ของประชากร แต่ศูนย์รองรับได้ราว 1%
มีงานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศพยายามคำนวณว่าสัดส่วนนักจิตวิทยาต่อนักศึกษาควรเป็นเท่าไรจึงจะเหมาะสม องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าสำหรับช่วงวัยอุดมศึกษา ควรมีนักวิชาชีพด้านจิตวิทยา 1 คนต่อนักศึกษา 1,500 คน ขณะที่จุฬาฯ มีนิสิตทุกระดับราว 37,000 คน มีจิตแพทย์ 3 คน นักจิตวิทยาประจำ 4 คน และมี outsource เป็นทีมที่มาให้บริการให้คำปรึกษาเต็มรูปแบบอีก 10 คน
ถอดบทเรียนจาก Chula Student Wellness “จะคอยเป็นผู้รับไว้ไม่ให้ร่วงหล่น”
ธารีวรรณ เทียมเมฆ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาวะนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chula Student Wellness ระบุว่า สถิติการขอรับบริการเพิ่มทุกปีตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนิสิตเปิดใจและมองว่าการมารับบริการจากนักวิชาชีพ ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกหรือแย่
ลักษณะปัญหาส่วนมากก่อนหน้ายุคโควิดคือ อารมณ์ขุ่นมัวในโทนที่เรียกว่าซึมเศร้า จากปัญหาต่างๆ ที่เผชิญ แต่ในช่วงโควิดระบาด 2 ปีมานี้ ปัญหาอันดับหนึ่งที่เจอคือ การเรียนออนไลน์ และส่วนที่เปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญคือ จำนวนนิสิตที่ต้องการความช่วยเหลือที่มากขึ้นกว่า 1.4 เท่าในเดือนที่มีการสอบเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลายคนมีภาวะอยากฆ่าตัวตาย
“นิสิตที่ทำนัดหมายมาที่ศูนย์มากกว่า 50% มีแนวความคิดไม่อยากอยู่ อันนี้ก็ไปสอดคล้องกับการสำรวจในต่างประเทศที่พบว่า ในวัยนิสิตนักศึกษา เวลาเขารู้สึกไม่สบายใจ มีคนถึง 1 ใน 3 จะคิดแว๊ปไปแว๊ปมาว่าไม่อยากอยู่” ธารีวรรณให้ข้อมูล
ปีหนึ่งๆ ศูนย์ดังกล่าวจะให้บริการแบบ full service ทั้งหมดประมาณ 4,000 กว่า slot เฉลี่ยแล้วนิสิต 1 คน ใช้บริการประมาณ 3 ครั้งเพื่อไปสู่การจัดการปัญหาได้ หรือบรรเทาความย่ำแย่ของสภาพจิตใจจนดำรงชีวิตต่อได้ แต่ใน 2 ปีที่ผ่านมา การให้คำปรึกษาเฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้น จาก 3 slot เป็น 4 slot
“นิสิตในมหาลัย เขาไม่ได้เป็นคนที่มีความเจ็บป่วย แต่มีปัญหาชีวิต ดังนั้น แนวทางที่จะช่วยเยียวยาดูแลเขา ให้เขาก้าวผ่านได้จึงเน้นไปทางที่ให้ทักษะ ให้วิธีการ ให้วิธีคิดที่จะทำให้เขาจัดการกับปัญหาได้มากกว่า เพราะแม้อาการอาจเป็นเหมือนมีอาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล แต่มันมีสาเหตุมาจากเรื่องราวปัญหาชีวิต ถ้าเขาจัดการปัญหาชีวิตได้ อาการก็หาย ดังนั้น นิสิตที่มารับบริการจะมีประมาณ 30% ที่จะต้องหาจิตแพทย์ร่วมด้วยและต้องไปใช้ยา ในจำนวนนี้วินิจฉัยแล้วว่ามีอาการเจ็บป่วยจริงๆ ประมาณ 10% นั่นแปลว่า ไม่ใช่ทุกคนที่รับยาจะเป็นคนที่ป่วยทางจิต” หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาวะนิสิตกล่าว
บริการที่ทันท่วงที ตอบโจทย์นิสิตนักศึกษา
ธารีวรรณเล่าว่า เหตุที่นิสิตที่มารับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมีความรุนแรงสูง เป็นเพราะในด้านหนึ่งทางศูนย์ได้มีระบบจัดการกับผู้ที่ปัญหายังไม่หนักหน่วงด้วยเช่นกัน ผ่านบริการ Mind Hotline และ Mind Talk ซึ่งมาจากปรัชญาที่ว่า “ถ้าคนที่มีปัญหา ได้รับความช่วยเหลือทันท่วงทีในเวลาที่เหมาะสม เราจะแก้ปัญหาเขาน้อย เพราะปัญหายังไม่มาก แล้วเขาก็ยังมีแรงจัดการปัญหาตัวเอง”
“บริการเหล่านี้ตัดคนที่ต้องมาขอรับบริการ full service ต่อไปได้ถึง 70-80% เป็นเรื่อง surprise อยู่เหมือนกัน แต่การจะให้คำปรึกษาแบบเวลาจำกัด จะทำให้ดีได้ ต้องการนักจิตวิทยาที่เก่ง คือ มีเวลาแค่ 20 นาทีทองนั้น คุณต้องตัดโจทย์เขาได้ ดังนั้น จึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์พอสมควรด้วย” ธารีวรรณแนะนำ
สำรับ Mind Talk คอนเซ็ปท์คือ solution focus ใช้เวลาน้อย เหมาะกับนิสิตที่รู้และเข้าใจปัญหาของตัวเองชัดเจน ฉันไม่โอเคเรื่องอะไร มาเล่าปัญหา นักจิตวิยาก็จะสรุปโจทย์ หาสาเหตุให้และเน้นที่การแก้ไขปัญหา ขณะที่ Hotline คอนเซ็ปท์จะไม่เหมือนกัน เป็นการบริการดูแลใจยามฉุกเฉิน เมื่ออารมณ์ต่างๆ ท้วมท้นจนแบกรับไม่ไหว บริการของ Hotline จึงเน้นการประคับประคอง เน้นการรับฟังอย่างไม่ตัดสินเพื่อให้ได้ระบายอารมณ์ที่พุ่งพ่านที่อาจจะนำพานิสิตไปสู่พฤติกรรมที่เป็นอันตราย เช่นการทำร้ายตัวเอง
“ตอนนี้ Hotline ไม่ได้เป็นบริการ 24 ชั่วโมง แต่เราเก็บข้อมูลจำนวนมากเพื่อคำนวณออกมาว่า ช่วงเวลาไหนที่ traffic โหดๆ ที่นิสิตมักจะแย่ แล้วก็ต้องการความช่วยเหลือ ในเมื่อเรามีงบประมาณจำกัด มีคนไม่พอ เราจึงจัดคนให้บริการไปอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เป็นความโชคดีที่มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าการให้บริการไม่ควรจะเป็น 8 โมง ถึง 5 โมงเย็นแบบราชการ เพราะว่าเป็นเวลาที่นิสิตเขาเรียนอยู่ พอเขาเรียนเสร็จ เขาเครียด นี่เป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยต้องมีบริการไว้รองรับ ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของนิสิต” หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาวะนิสิต ให้รายละเอียด
ในส่วนการให้บริการการปรึกษาเต็มรูปแบบ มีการสร้าง Online Platform ชื่อว่า MindSpace เข้ามาช่วย เพื่อแก้ปัญหาการประสานงานหาเวลาว่างที่ตรงกันซึ่งค่อนข้างวุ่นวาย จึงสร้างตารางแบบออโต้ในระบบ นิสิตจะเห็น slot ที่ว่างแล้วไปเลือก slot ที่ตรงกับวันว่างของตัวเอง การทำนัดอาจได้คิววันรุ่งขึ้นหรืออาจต้องรอราว 2 สัปดาห์ แต่ในช่วงโควิดแบบนี้ความต้องการสูงขึ้นมาก อาจต้องรอประมาณ 1 เดือนโดยเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ระบบก็จะมีการคัดกรองให้คนที่มีความเสี่ยงสูง ได้ย้ายไปอยู่ในช่องทางการติดต่อแบบฉุกเฉิน หรือ Emergency Track ซึ่งจะมี admin ติดต่อกลับภายใน 24 ชม แล้วหา slot ที่เหมาะสมภายใน 3 วัน
“ทั้งหมดนี้คือการใช้นักวิชาชีพ ใช้คนบริหารจัดการ ใช้นักจิตวิทยาที่ต้องเป็นทีมที่มีใจมากๆ เข้มแข็งมากๆ แบบยอมโหดยอมเหนื่อยไปด้วยกัน ส่วนเทคโนโลยีพวกนี้ก็เกิดจาก bottom up เมื่อคนหน้างานเห็นปัญหาอะไร ก็จะเสนอขึ้นไป และมีผู้บริหารที่เข้าใจเห็นภาพจึงสนับสนุนแล้วก็อนุญาตให้ทำ การพัฒนาเทคโนโลยีนี้ก็ได้ทีมอาจารย์จากคณะวิศวะ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยสนับสนุน”
“ทีมนักจิตวิทยาก็เป็นอีกข้อจำกัด ซึ่งเป็นข้อจำกัดระดับประเทศ ไม่ใช้เพียงข้อจำกัดของสถาบันการศึกษาสถาบันใดสถาบันหนึ่ง ต่อให้เรามีอัตราที่จะเปิดรับสมัคร แต่หาคนมาทำไม่ได้ในนาทีนี้ เพราะระบบการศึกษาที่ผลิตนักจิตวิทยาที่ทำ Counselling and Psychotherapy ได้ ปีหนึ่งๆ ผลิตได้ไม่เท่าไร รุ่นนึงจบออกมา 10 กว่าคน สถาบันที่ผลิตก็มีไม่กี่สถาบัน อย่างจุฬาฯ ผลิตได้ปีละ 10 กว่าคน ทั้งรุ่น ถ้ามี 5-6 คนที่อยากทำวิชาชีพนี้โดยตรงก็สวยหรูมากแล้ว เราจึงต้องหาเครือข่ายใช้ outsource ถึง 10 คน ซึ่งก็เป็นศิษย์เก่ามีใจอยากกลับมาช่วย มีประมาณ 20% ที่ทำให้แบบ volunteer ทำเกินกว่าที่เราจ่ายไปมาก นับเป็นความโชคดีของหน่วยงานและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ธารีวรรณกล่าว
เรียนออนไลน์ สร้างปัญหา ‘ใจพัง’ มากกว่าที่คิด
ธารีวรรณ ขยายความปัญหาการเรียนออนไลน์ว่า นิสิตทุกข์ระทมกับเรื่องนี้มาก เนื่องจากเรียนผ่านช่องทางที่ไม่คุ้นชิน ลดทอนประสิทธิภาพในการสื่อสารจนหลายคนเรียนไม่รู้เรื่อง และยังมีเรื่องอุปกรณ์ที่ไม่พร้อมโดยเฉพาะตอนโควิดรอบ 1
“นิสิตจุฬาฯ มีความเหลื่อมล้ำสูงมากๆ เมื่ออยู่ในมหาวิทยาลัยได้ใส่ชุดนิสิตอาจจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง แล้วก็ใช้ facility เดียวกัน แต่พอกลับไปเรียนออนไลน์ บางคนไม่ได้มีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง บางคนไม่มีอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพพอ แล้วอาจารย์ก็ไม่รู้ถึงข้อจำกัดนี้ จึงอาจตั้งเกณฑ์บนความไม่เข้าใจ เช่น พยายามให้เด็กมีส่วนร่วมด้วยการให้คะแนนพิเศษคนที่เปิดกล้อง ให้คะแนนพิเศษกับคนที่ตอบคำถามได้ไว น้องบอกว่า ผมไม่ใช่ไม่อยากจะเปิดกล้อง แต่บ้านมันไม่พร้อมจริงๆ เขานั่งเรียนอยู่ใต้ต้นกล้วยริมทุ่งนา เขากดตอบไม่เคยทันเพื่อน เพราะว่าซิมมือถือที่ปล่อยสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่เสถียร”
“ถ้าเรานึกถึงบรรยากาศที่มันสนับสนุนให้เรียนรู้เรื่อง มันมีหลายองค์ประกอบมาก เพื่อนๆ ในชั้นจะคอยกระตุ้น ช่วยเหลือกัน แต่พอเป็น online มันไม่มีอะไร support ไม่มีอะไรพยุงเอาไว้เลย มันร่วงหมดจริงๆ มันจึงเป็นใจที่ไม่พร้อมด้วย” หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาวะนิสิตอธิบาย
นอกจากนี้การเรียนออนไลน์ทำให้นิสิตเรียนหนักกว่าเดิม 3 เท่า เพราะอาจารย์มักจะแขวนคลิปเอาไว้ แบ่งเวลาบางส่วนมาเจอกันผ่าน zoom แบ่งเวลาอีกบางส่วนให้นิสิตต้องไปทำงานส่งทั้งเดี่ยวหรือกลุ่ม เท่ากับว่าผู้เรียนต้องมี workload เพิ่มขึ้น บางคนบอกว่าเพื่อจะเรียนให้ทันแล้วก็ทำการบ้านให้ครบ ทำให้เปลี่ยนแปลงเวลานอนไปมาก บางคนมีคลาสตอน 2 ทุ่ม แล้วก็ต้องไปนัดเวลาทำงานกลุ่มกับเพื่อนตอน 3-4 ทุ่ม กว่าเขาจะได้นอน
ธารีวรรณมองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก จึงเน้นไปที่เรื่อง community support โดยพยายามสื่อสารบอกมหาวิทยาลัย บอกคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายวิชาการ เครือข่ายอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจ และชักชวนให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการในห้องเรียน ออกแบบการเรียนรู้ใหม่ ตอนนี้มีอาจารย์หลายคนที่ลดโหลดงานลง และไถ่ถามนิสิตมากขึ้นว่าควรออกแบบการเรียนอย่างไร นอกจากนี้ทางฝั่งวิชาการยังมีการอบรม มีการสอนเทคนิคการทำชั้นเรียนออนไลน์ ทำ application เสริมต่างๆ ให้อาจารย์ได้ใช้สอนมากขึ้น เพราะอาจารย์เองก็ต้องการการสนับสนุนเรื่องนี้เช่นกัน
‘Loneliness is killing me’ บริชนีย์ สเปียร์ บอกไว้
สิรภพ อัตโตหิ หรือ แรปเตอร์ นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ชนะเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ใหม่หมาด อธิบายปรากฏการณ์ของนิสิตจุฬาฯ ว่า 2 ปีที่ผ่านมาก็จะพบข่าวนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง เป็นสภาวะที่น่ากลัว นี่ยังไม่รวมคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คนที่มีอาการซึมเศร้า และคนที่สุขภาพจิตแย่ ซึ่งมีเยอะมาก
“เอาแค่เพื่อนรอบตัวก็มีหลายคนที่เครียด ซึมเศร้า มีกระทั่งบางคนพยายามจะฆ่าตัวตายด้วย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามันมากขึ้นเรื่อยๆ และใกล้ตัวเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ” แรปเตอร์กล่าว
ถามว่าเป็นเพราะอะไร แรปเตอร์คิดว่า มีหลายสาเหตุ แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญคือ สภาวะการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต แล้วเมื่อโควิดเข้ามาระบาด การจัดการของรัฐก็แย่ หาวัคซีนได้ช้า ล็อคดาวน์ติดกันเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีมาตรการรองรับ
“ต้องเข้าใจว่าสังคมไทยอำนาจนิยมสูง เราจึงมักรู้สึกสบายใจเมื่อยู่กับคนระนาบเดียวกัน ในมหาวิทยาลัย ก็คือ เพื่อน การล็อคดาวน์มันแยกตัวเองจากเพื่อน จากสังคม มันเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ไม่ได้ตั้งตัวว่าจะต้องอยู่คนเดียวนาน ทำให้ขาด human relation ที่เคยมี สำหรับบางคนก็หวังว่าจะมี คนก็เริ่มห่อเหี่ยว 'loneliness is killing me' บริสนี่ย์ เสปียร์บอก (หัวเราะ) มันกัดกิน ทำให้แย่”
“การที่รัฐไม่สามารถทำให้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุด คนก็ไม่เห็นความหวัง พออยู่กับความไม่แน่ไม่นอนมันก็พัง และเรื่องการเรียน การไม่ได้มาเจอเพื่อนก็หนัก เด็กไทยจำนวนหนึ่งเลยที่อยู่บ้านตลอดเวลาไม่ได้ เพราะสังคมไทยมีพื้นที่ส่วนตัวน้อยมาก พอเราไม่มีพื้นที่ โดนขังอยู่ในบ้านที่ใช้พื้นที่ร่วมกับพ่อแม่ตลอดเวลา มันก็ลำบาก เจ๊งเหมือนกัน เด็กวัยรุ่นที่ติดเพื่อนก็เพราะเขาต้องการพื้นที่ส่วนตัว บางคนมีปัญหากับพ่อแม่อยู่แล้วถูกขังอยู่อย่างนั้นก็ยิ่งไปกันใหญ่ และถ้าบ้านไหนสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี หรือธุรกิจล้ม ความเครียดก็ยิ่งเพิ่มหนัก”
“ขณะเดียวกันประเทศไทยจิตแพทย์ นักจิตวิทยาก็น้อยมาก และไม่ได้เข้าถึงง่าย ไม่ได้เข้าถึงได้ทุกที่ ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงได้ มันมีสวัสดิการของนิสิตจุฬาฯ ที่จะเข้าถึงจิตแพทย์ได้ แต่คนต่อคิวยาวเป็นเดือน เพราะนักจิตมีน้อยมาก บางคนคือแบบต่อคิวจนหายเครียดแล้ว ไม่มีเรื่องจะคุยด้วยแล้ว” แรปเตอร์สะท้อน
นายกฯ อบจ.คนนี้ยังเสนอด้วยว่าอยากให้แต่ละคณะมีนักจิตวิทยาประจำคณะตนเอง เนื่องจากแต่ละคณะ มีธรรมชาติการเรียนการสอนไม่เหมือนกัน ความเครียดของคนในแต่ละ community จึงไม่เหมือนกัน นักจิตส่วนกลางอาจไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะอาจไม่ได้เข้าใจความเซนสิทีฟของปัญหาเฉพาะแต่ละพื้นที่ เช่น คณะสถาปัตย์ เขามักทำงานทั้งคืน โต้รุ่ง และสภาวะความกดดันภายใน การแข่งขัน ในขณะที่อีกคณะหนึ่งอาจมีธรรมชาติการเรียนอีกแบบ และมีความเครียดอีกแบบ
ทรัพยากรจำกัดก็ทำงานได้ อยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ
ธารีวรรณยังให้ข้อมูลด้วยว่า การจะทำเรื่องสุขภาพจิตในนิสิตนักศึกษาให้ประสบผลสำเร็จมีองค์ประกอบหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่นโยบายที่เข้าใจว่าการบริการเชิงวิชาชีพเป็นสิ่งที่ “จำเป็นต้องมี” ส่วนข้อจำกัดด้านงบประมาณกำลังคน เป็นสิ่งที่แก้ปัญหาได้ หากมีวิชั่นในเรื่องนี้เสียแล้ว
“งานสุขภาวะเป็นงานเดิมๆ ที่มหาลัยมีงบทำได้เลยทันที เพราะมันเป็นงานกิจการนิสิต ทุกมหาลัยมีงบกิจการนิสิตอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามองว่าการพัฒนานิสิตในนาทีนี้ คือการต้องหล่อเลี้ยงใจให้เขารอดก่อน แล้วเขาจึงค่อยไปทำอะไรใดๆ ได้ ก็ต้องผันเอางบกิจการนิสิตมาทำ wellness ทุกคนร่วมกันทำงานเรื่องการดูแลใจได้ เริ่มได้ตั้งแต่การไม่เพิ่ม toxic ในใจ เช่น การยืดหยุ่นมากขึ้นต่อกฎระเบียบในนาทีที่มันมีข้อจำกัด หรือการจะทำ event ก็สามารถเอางบประมาณตรงนั้นมารณรงค์ในเรื่องการสร้าง self awareness ในเรื่องการดูแลจิตใจได้ไหม หรือว่ามหาวิทยาลัยจะผันงบตรงนั้นมาสร้างเครื่องมือเล็กๆ บางอย่างที่จะทำให้คน connect กันได้ ตรงนี้สามารถทำได้ทันที ถ้าไม่มีคน ก็ไปเอาคนฝ่ายกีฬา คนฝ่ายสวัสดิการ มาทำ wellness เพราะในหอพักทุกมหาวิทยาลัยก็ต้องดูแลจิตใจ ไม่อย่างนั้นมหาวิทยาลัยก็จะปวดหัวกับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น overdose ยา การพยายามกระโดดตึก ฯลฯ ดังนั้น สุดท้ายทุกที่ก็ต้องทำงานเรื่องของสุขภาพจิตหมดในนาทีนี้” หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาวะนิสิตกล่าวทิ้งท้าย