ไม่พบผลการค้นหา
6 ต.ค. 2519 เป็นเวลาผ่านมา 45 ปี ที่คนรุ่นหลังและคนรุ่นใหม่หลายคนต่างยกให้เป็นวันที่อยากจะลืม แต่ก็ลืมไม่ได้ ไม่อยากจำแต่ก็จำไม่ลง มรดกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกภายในรั้วสถาบันการศึกษาในวันนี้ยังคงถูกบั่นทอนไม่แตกต่างไปจากเหตุการณ์ในอดีต วันนี้นิสิต นักศึกษาต่างร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้วันที่ 6 ต.ค.ของทุกปีได้รับการยอมรับจากสากล

"สิ่งที่เราอยากได้ ไม่ได้ยากอะไร เป็นเรื่องความถูกต้องและความยุติธรรมที่อยากได้" 

ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตคนเดือนตุลา 2519 ซึ่งในเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค. 2519 เขามีสถานะเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุตอนหนึ่งในคลิปวิดีโอของเฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย ถึงเหตุการณ์สังหารผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 45 ปีก่อน

เช่นเดียวกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล และนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 ม.มหิดล ปี 2519 และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่าน 'วอยซ์' ถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ที่เหมือนเพิ่งผ่านมาเมื่อไม่นาน แต่กินเวลามายาวนานจนแทบลืมไม่ได้ จำไม่ลง

"มันเป็นเหตุการณ์สูญเสียที่ไม่ควรสูญเสีย การถูกปราบปรามถึงชีวิตโดยไม่ได้เป็นความผิด ทั้งที่เราคิดว่าเป็นผู้ถูก ความคิดเห็นถูก แต่เป็นผู้ถูกกระทำจำกัดด้วยวิธีที่รุนแรง เพราะเขาไม่อาจจำกัดเราด้วยการ ถ้าจำกัดให้เราพูดไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีสุุดท้าย" นพ.พรหมิทร์ ระบุ

เหตุการณ์สะเทือนการเมืองไทยและช็อกโลก 6 ต.ค. 2519 ถูกยกให้เป็นการก่ออาชญากรรมทางการเมืองครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย 

เพราะถูกบันทึกไว้ว่าคนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง มีผู้เสียชีวิต 45 ราย แบ่งเป็นนักศึกษา ประชาชน 40 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 5 ราย มี 145 รายได้รับบาดเจ็บ อีก 3,049 รายถูกจับกุม ส่วน 18 รายตกเป็นผู้ต้องหาในคดี 6 ต.ค. 2519

6ตุลาคม2519 ธรรมศาสตร์  M_6 ตุลา_211006_16.jpg6ตุลาคม2519 ธรรมศาสตร์ 607447B7D.jpegLINE_ALBUM_6 ตุลา_211006_26.jpg

(งานรำลึก 45 ปี 6 ต.ค. 2519 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 6 ต.ค. 2564)

"วิธีการฆ่ามันเหลือเชื่อ มีนักข่าวที่ถ่ายภาพในเหตุการณ์ นักข่าวช่วงนั้นมักเป็นนักข่าวสงครามเวียดนาม อย่างน้อย 2 คน 3 คนที่ผมคุยด้วย เขาบอกตรงกันว่า โหดที่สุดที่เขาเคยเจอมา ถึงแม้คนตายใน 6 ตุลา แค่ 40 กว่าคน เทียบไม่ได้เลยกับเป็นพัน เป็นหมื่นในเวียดนาม" ศ.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ม.วิสคอนซิน แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) สหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ตอนหนึ่งผ่านรายการ Big Dose ทาง ‘วอยซ์ทีวี’ เมื่อ 2 ต.ค. 2559 ถึงเหตุการณ์ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” กับ 6 ตุลา 2519  

ภาพนักศึกษาร่างไร้วิญญาณที่ถูกลากกลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังถูกนำไปแขวนคอใต้ต้นมะขาม ท้องสนามหลวง พร้อมทั้งถูกประชาชนรุมประชาทัณฑ์ ด้วยความโกรธแค้นของประชาชนกลุ่มหนึ่งที่มองว่า นักศึกษา นิสิตที่กำลังเป็นอนาคตของชาติ คือ ศัตรู

ภาพที่ไม่น่าจดจำในสายตาประชาคมโลกถูกเผยแพร่ส่งต่อความจริงไปทั่วโลก เมื่อเก้าอี้ฟาดใส่ร่างไร้วิญญาณอย่างไม่ยั้งทั้งที่ร่างกายของผู้เสียชีวิตนั้นไร้ลมหายใจไปแล้ว เพียงเพราะคิดว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้เห็นต่างทางความคิดและอุดมการณ์

’ขวาพิฆาตซ้าย’ จึงถูกเรียกขานมาถึงทุกวันนี้

ศ.ธงชัย ในฐานะอดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา 2519 ขณะนั้นเขาเป็นนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ บอกผ่าน 'วอยซ์ทีวี' เมื่อปี 2559 ว่า "นักข่าวของเอพีคนที่ถ่ายรูปแขวนคอแล้วเอาเก้าอี้ฟาด เขากลับจาก ธรรมศาสตร์ สนามหลวง กลับไปสำนักงาน บอกหัวหน้าข่าวเขา คำแรกหัวหน้าข่าวเขาบอกว่า เป็นไปไม่ได้ คนไทยไม่ทำขนาดนี้ เขาจึงล้างฟิล์มออกมาโชว์หัวหน้าข่าวเขา"

วันเวลาล่วงเลยมาถึง 45 ปี ในวันนี้คนรุ่นใหม่ที่เป็นนิสิต นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยหลายคนกลับมาตื่นตัวถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกำลังถูกละเมิดสิทธิการแสดงออกไม่ต่่างจากรุ่นพี่

คนรุ่นใหม่ในวันนี้ต่างสงสัยว่าทำไม 45 ปีที่แล้วถึงมีการสังหารนิสิต นักศึกษากลางเมืองหลวงของประเทศตัวเอง

ทำให้ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) และเครือข่ายแนวร่วมนิสิต นักศึกษาหลายสถาบัน ร่วมกันจุดประเด็นเชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์ผ่าน เว็บไซต์ Change.org ภายใต้หัวข้อ "เสนอให้วันที่ 6 ต.ค. เป็นวันปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียนนักศึกษาสากล ต่อองค์การสหประชาชาติ (UN)" 

ล่าสุดเมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 26 ต.ค. 2564 มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญผ่าน Change.org จำนวน 5,221 คน

นันท์นภัส เอี้ยวสกุล นิสิต จุฬา วิชิตชัย อมรกุล 6ตุลาคม2519 70C718.jpeg

(นันท์นภัส เอี้ยวสกุล อุปนายกฯ อบจ. และภาพ วิชิตชัย อมรกุล อดีตนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519)

นันท์นภัส เอี้ยวสกุล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 อุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผลักดันวันปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียน นักศึกษาสากล เพราะมองว่า 6 ต.ค. 2519 แม้จะผ่านมา 45 ปีแล้ว แต่จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์ยังไม่ถูกจดจจำหรือถูกตีแผ่มากพอ ขณะเดียวกันรัฐไทยไม่เคยออกมายอมรับหรือรับผิดชอบกับความรุนแรงตรงนี้  

"6 ต.ค. 2519 ในปัจจุบันก็ยังมีความรุนแรงในลักษณะเดียวกันเกิดซ้ำอยู่ คือพยายามปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการคิด หรือการตั้งคำถามของนิสิต นักศึกษา เยาวชน เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระบอบอำนาจนิยมที่กดทับ" นันท์นภัส ระบุ

นิสิตจุฬาฯ ตัวแทน อบจ. บอกว่า แคมเปญ ใน change.org ก็มีคนมาลงชื่อเข้าร่วมเกือบ 5,000 คนแล้วและจะโปรโมทต่อเนื่องสนับสนุนให้มากขึ้น เพราะหลายประเทศก็ถูกกดทับ อย่างฮ่องกง สหภาพนักศึกษาของฮ่องกงโดนยุบและตรวจค้นห้อง หรือสหภาพนักศึกษาในเมียนมาก็โดนจับจากการประท้วงรัฐบาล อยู่ในคุกหลายคน ซึ่งหากมีรายชื่อสนับสนุนเกิน 10,000 ชื่อ ก็จะกำหนดวันที่เดินทางไปยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติทันที

"เราในฐานะเด็กรุ่นใหม่แอบหวาดกลัวว่ามันจะเกิดซ้ำกับเราและถูกลบไปเหมือนกัน"

ขณะที่ นพ.พรหมินทร์ บอกถึงแนวคิดการผลักดัน 6 ต.ค. ให้เป็นวันสากลของคนรุ่นใหม่ว่า ได้ยินข่าวว่ามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาที่จะพยายามให้วันที่ 6 ต.ค. ของทุกปีเป็นวันสากลในการปกปักรักษาสิทธิ การแสดงออกเพื่อประชาธิปไตยเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม

"เราไม่เคยคิดมาก่อน เพราะกว่าจะโงหัวขึ้นก็แทบแย่แล้ว กว่าจะเป็นที่ยอมรับ แล้วรุ่นหลังๆ จางลงไป แล้วบังเอิญรุ่นนี้มาต่อสู้อีกทีหนึ่ง แล้วก็รำลึกถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยจิตสำนึกเดียวกัน"

พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช 6ตุลาคม2519 1BA-1CE477522605.jpeg

(นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตนักศึกษาแพทย์ ม.มหิดล ช่วงปี 2519)

อดีตนักศึกษาแพทย์ ม.มหิดล บอกว่า การผลักดันเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่ผลักดันเพื่อพวกเรา (คนเดือนตุลา 2519) แต่เอาเหตุการณ์การสูญเสียนี้มาเป็นบทเรียนที่ห้ามปรามหรือไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ โดยการผลักดันให้เป็นเรื่องของสากล ถ้าหากเคลื่อนได้ดีๆ จะได้รับการสนับสนุนอย่างมาก คนอย่างพวกเราเองที่ผ่านเหตุการณ์เหล่านี้พร้อมสนับสนุน หากผลักดันเรื่องนี้จริงจัง โลกสากลเองมีเหตุการณ์คล้ายๆกัน ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ เป็นการต่อสู้เหมือนกัน ซึ่งเกิดก่อน 14 ต.ค. 2516

"ตอบชัดๆ เห็นด้วยและสนับสนุนถ้าเคลื่อนไหวให้ดีโดยใช้กลุ่มที่เป็นเหยื่อมาแล้วเป็นตัวตั้ง ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่ายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและทำประโยชน์ให้สังคม" นพ.พรหมินทร์ ระบุ

พวงทอง ยืนหยุดขัง นักวิชาการร่วมยืนหยุดขัง หน้าศาลฎีกา_๒๑๑๐_4.jpg

(รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ผลักดันโครงการบันทึก 6 ตุลา (https://doct6.com/) ระบุกับ 'วอยซ์' ในช่วงที่ 6 ต.ค. 2519 เดินมาถึงปีที่ 45 และเพิ่งผ่านพ้นวันที่ 6 ต.ค. 2564 มาเพียงไม่กี่สัปดาห์ว่า ส่วนตัวสนับสนุนและเห็นด้วยกับ การผลักดันของ อบจ.ที่ต้องการให้ 6 ต.ค.ของทุกปี เป็น 'วันปกป้องเสรีภาพการแสดงออกของนักเรียน นักศึกษาสากล'

"ถ้าทำได้สำเร็จจะดีมากจะช่วยให้คนทั้งโลกมาสนใจว่าทำไมต้องเป็นวันที่ 6 ต.ค. จะทำให้คนสนใจเหตุการณ์รุนแรงในเมืองไทย ทำให้เรื่อง 6 ต.ค. แม้รัฐไทยจะไม่ยอมรับว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้น หรือไม่บรรจุไว้ในแบบเรียน แต่มันจะกลายเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ"

รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า " ดิฉันคิดว่าเป็นประเด็นร่วมสมัยของเยาวชนที่ต้องการที่จะมีสิทธิมีเสียงในการที่จะพูดถึงประเด็นปัญหาของสังคมของโลกนี้ แล้วในหลายประเทศพวกเขาก็ถูกคุกคามแล้วถ้าผลักดันน่าจะได้รับการสนับสนุนจากเยาวชนในหลายประเทศด้วยกัน"

ส่วนประเด็นที่ยูเอ็นจะมีโอกาสประกาศให้วันที่ 6 ต.ค.เป็นวันปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียน นักศึกษาสากลได้หรือไม่นั้น รศ.ดร.พวงทอง บอกว่า มีความเป็นไปได้แต่ว่าอาจจะต้องใช้เวลา เรื่องพวกนี้ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะเกิดได้ แต่ถ้าสามารถผลักดันให้เป็นเรื่องเป็นราวให้เหตุผลที่ดีกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาหมายถึงอะไรด้วย อาจจะกว้างกว่าเรื่องทางการเมือง อาจจะรวมถึงในเรื่องสิทธิ เสรีภาพในสถาบันการศึกษาในโรงเรียนในประเทศที่เป็นระบอบอำนาจนิยม การควบคุมเยาวชนมันฝังรากลึกลงไปในระบบการศึกษาโรงเรียนด้วย 

"ดิฉันคิดว่ายูเอ็นจะเห็นว่าการกำหนดวันเหล่านี้จะเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นอนาคตของโลกมาให้ความสนใจให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาสังคมมากขึ้น"

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ยังมองถึงคุณประโยชน์ในอนาคตถ้าวันที่ 6 ต.ค.เป็นวันสากลด้วยว่า "คนไทยจะสนใจกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น คนไทยหลายรุ่นทีเดียวไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้ก็จะสนใจมากยิ่งขึ้น ส่วนการปราบปราม การกดขี่ สิทธิเสรีภาพของเยาวชนของรัฐบาลไทยก็จะทำได้ยากมากยิ่งขึ้น เพราะว่าจะยิ่งถูกจับตาจากประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น"

พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช 6ตุลาคม2519 43CB780D-F85D-43B9-A093-4ED74160BFC1.jpeg

นพ.พรหมินทร์ อดีตคนเดือนตุลา 2519 ยังบอกด้วยว่า หากวันที่ 6 ต.ค. เป็นวันสากล จะถือเป็นแรงกดดันที่ให้เห็นว่าสากลยังยอมรับการเคลื่อนไหวแบบนี้ไม่ต้องการให้กดดันปิดบังเสรีภาพการแสดงออก เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อคนในยุค 6 ตุลา 2519 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะดำรงอยู่และสืบทอดตลอดไป เป็นอนุสรณ์รูปธรรม สืบทอดเจตนารมณ์ปกปักรักษาไม่ให้มีการใช้การปราบปรามรุนแรงกันถึงชีวิต หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพจนถูกจับกุมคุมขัง

'นันท์นภัส' ก็มองด้วยว่า 6 ต.ค.วันปกป้องเสรีภาพนักเรียน นักศึกษาสากลนี้ จะเป็นการตบหน้ารัฐไทย เพราะว่ามันกลายเป็นคุณค่าสากลที่รัฐไทยไม่เห็นความสำคัญแล้วกลายเป็นว่าวันที่รัฐไทยใช้ความรุนแรงกับประชาชน

"สิ่งนี้จะทำให้เกิดความตระหนักที่ถูกส่งต่อออกไปในระดับสากลและระดับประเทศคุณเอง ประวัติศาสตร์ที่คุณพยายามที่จะลบทำลาย มันก็จะถูกจดจำในระดับสากลไปเลย โดยที่คุณไม่สามารถไปทำอะไรตรงนั้นได้"

ขณะที่เสียงสะท้อนจากประชาชน โดยประชาชนรายหนึ่งที่ขับรถแท็กซี่ บอกผ่าน 'วอยซ์'ว่า เห็นด้วยหาก 6 ต.ค.จะได้รับการประกาศจากยูเอ็น เพราะทุกวันนี้ มีโซเชียล โลกข่าวสารเห็นรู้หมด จะใช้แบบเดิมหรือทำแบบยุคเก่าไม่ได้แล้ว

ส่วนชายคนหนึ่งที่มีอาชีพนักดนตรีอิสระ ก็สนับสนุนเช่นกัน โดยบอกว่าคงเป็นได้เชิงสัญลักษณ์เป็นที่รู้กันในหมู่คนรุ่นใหม่ หรือนักศึกษา หรือคนที่หัวก้าวหน้า แต่ถ้าจะทำให้สังคมวงกว้างยอมรับ หรือคนรุ่นเก่าที่ยังยึดติดอะไรที่มันเก่าๆ ก็เป็นไม่ได้

สุธรรม ธรรมศาสตร์ 6ตุลาคม2519  06215076080_n.jpg

(สุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการ ศนท. นำชมลานประติมากรรม ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19)

ภาพจำของคนเดือนตุลา 2519 แม้วันนี้พวกเขาจะอยู่ในวัยที่เกินกว่า 60 กว่าปีแล้วก็ตาม แต่หากให้พูดถึงหรือบอกความรู้สึกภาพจำของ 6 ต.ค. 2519 แล้ว

ทำให้ นพ.พรหมินทร์ พูดด้วยความรู้สึกที่น้ำเสียงสั่นเครือว่า "วันที่ 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่ลืมไม่ได้ แต่จำไม่ลง คือเป็นเหตุการณ์ที่ทุกครั้ง จะสังเกตว่าถ้าคุณ (เสียงสั่น) สัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์ แล้วพูดถึงเรื่องนี้ทีไร ก็อดไม่ได้ ทุกคน คุณสังเกตดู พอพูดถึงแตะถึงต่อมนี้ปั๊บ ถามว่ารู้สึกยังไงมันออกมาเอง"

"มันเป็นเหตุการณ์สูญเสียที่ไม่ควรสูญเสีย การถูกปราบปรามถึงชีวิตโดยไม่ได้เป็นความผิด ทั้งที่เราคิดว่าเป็นผู้ถูก ความคิดเห็นถูก แต่เป็นผู้ถูกกระทำจำกัดด้วยวิธีที่รุนแรง เพราะเขาไม่อาจจำกัดเราด้วยการ ถ้าจำกัดให้เราพูดไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีสุดท้าย" อดีตรองนายกรัฐมนตรี ย้ำ

พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช 6ตุลาคม2519 501842E8-AF0A-4622-853A-DECDF8FB44B7.jpeg

เมื่อถามถึงผลตอบแทนของเหตุการณ์ที่ผ่านมา 45 ปี วันนี้สังคมเริ่มตาสว่างและคนรุ่นหลังต่างให้ความสนใจถึงความจริงในวันนั้น นพ.พรหมินทร์ บอกว่า "เจตนารมณ์คนหนุ่มสาวที่บริสุทธิ์ไม่มีผลประโยชน์ คิดถึงประโยชน์ของสังคมและดำรงความมุ่งหมายต่อสู้จนยอมสละแม้ชีวิตนะครับ เพราะมันสูงสุดแล้ว สิ่งเหล่านี้หลายคนพูดคำเดียวกัน โดยไม่ได้นัดเลยนะครับว่า เรานอนตายตาหลับ ปีนี้รุ่นเด็กๆ ทำเองหมด รุ่นหลังๆ ทำเองหมดมันจะไม่ใช่รุ่นเด็กแล้ว"

"สบายใจ นอนตายตาหลับ เพราะมีคนสืบทอดเจตนารมณ์เหล่านี้ ที่เราอึดอัดอยู่ในใจตลอด"

เช่นเดียวกับ 'สุธรรม แสงประทุม' อดีตผู้ต้องหา 6 ตุลา 2519 และอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ (ศนท.) ปี 2519 ก็พูดในทำนองเดียวกันผ่าน 'วอยซ์' ว่า "คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์กลับมาถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขาอยากรู้ว่าฆ่าคนทำไม ทำไมเด็กถึงถูกขัง ฆ่าเพื่ออะไร และความจริงเป็นอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ วันนี้มาสู่เรื่องนั้นแล้ว และเสียงก็ค่อยๆดังขึ้น"

ส่วน ศ.ธงชัย เคยระบุในฐานะนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ทาง 'วอยซ์ทีวี' ว่า "ประสบการณ์ทั่วทั้งโลกรวมทั้งในแอฟริกาใต้ มันต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง regime change ถ้าไม่เกิด regime change จะไม่สามารถกลับไปทบทวนอดีตได้อย่างจริงจัง"

ภาพ - วิทวัส มณีจักร / ณปกรณ์ ชื่นตา / ปฏิภัทร จันทร์ทอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง