ไม่พบผลการค้นหา
ลักเซมเบิร์กประกาศให้ประชาชนใช้รถสาธารณะฟรีทั่วประเทศ โดยหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหารถติดและปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่แนวคิดการใช้บริการขนส่งสาธารณะฟรีแก่ประชาชนก็มีอุปสรรคหลายประการ อีกทั้งยังไม่สามารถตอบได้ว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่

ลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่เล็กที่สุดในยุโรป มีประชากรอยู่ประมาณ 602,000 คนเท่านั้น แต่กลับเผชิญปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก แต่เมื่อเดือนธันวาคม 2018 ลักเซมเบิร์กได้ประกาศแผนเปลี่ยนผ่านให้ผู้โดยสารได้ใช้บริการบริการขนส่งสาธารณะ ได้แก่ รถไฟ รถราง และรถประจำทาง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2020 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลลักเซมเบิร์กหวังว่า นโยบายบริการขนส่งสาธาณณะฟรีจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน

ลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่รวยที่สุดในยุโรป โดยมีจีดีพีต่อหัวสูงสุดที่สุดในสหภาพยุโรป ราคาอสังหาริมทรัพย์ในลักเซมเบิร์กซิตี้ก็ค่อนข้างสูงมาก จึงเป็นเหตุผลให้คนมากกว่า 180,000 คน เลือกที่จะอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านแล้วเดินทางเข้าไปทำงานให้เมืองหลวงของลักเซมเบิร์กแทน โดยพวกเขาสามารถเดินทางจากเบลเยียม ฝรั่งเศส และเยอรมนีถึงลักเซมเบิร์ก ซิตี้ด้วยรถยนต์โดยใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

จอฟฟรีย์ คารูโซ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ที่ดินและคมนาคมจากมหาวิทยาลัยลักเซมเบิร์กและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมลักเซมเบิร์กกล่าวว่า ลักเซมเบิร์กเป็นแหล่งงานที่น่าสนใจ เศรษฐกิจกำลังเติบโต แต่ก็กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด

รายงานของกระทรวงการพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืนของลักเซมเบิร์กระบุว่า การขับรถยนต์เป็นวิธีหลักในการเดินทางไปทำงาน โดยปี 2016 ลักเซมเบิร์กมีรถยนต์ 662 คันต่อประชากรทุก 1,000 คน และผู้ขับขี่รถยนต์ในลักเซมเบิร์กซิตี้เผชิญกับรถติดเฉลี่ย 33 ชั่วโมงในปี 2016 เมื่อเทียบกับเมืองที่มีขนาดประชากรใกล้เคียงกันอย่างโคเปนเฮเกนและเฮลซิงกิที่เจอรถติดเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเท่านั้น

ระบบขนส่งสาธารณะทั่วประเทศลักเซมเบิร์กมีค่าใช้จ่ายในการให้บริการประมาณ 491 ล้านดอลลาร์ (17,735 ล้านบาท) ต่อปี รัฐบาลลักเซมเบิร์กเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ แต่คารูโซก็แสดงความกังวลว่าการให้บริการขนส่งสาธารณะฟรีอาจไปเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่ปกติเดินหรือขี่จักรยานไปทำงาน แทนที่จะเดิน 500 เมตรก็เลือกที่จะขึ้นรถประจำทางแทน เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 

นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังกังวลว่า การให้บริการขนส่งสาธารณะฟรีอาจไม่ช่วยลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนและลดมลพิษใดๆ โดยปี 2013 กรุงทาลลินน์ เมืองหลวงของเอสโตเนียได้ให้บริการขนส่งสาธารณะฟรี แต่กลับไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากเท่าที่เจ้าหน้าที่คาดไว้ โดยปริมาณการใช้รถยนต์ลดลงไปร้อยละ 3 เท่านั้น และจากการสำรวจในปี 2014 ก็พบว่า คนที่หันมาใช้ขนส่งสาธารณะก็คือคนที่เคยเดินหรือขี่จักรยานไปทำงาน มากกว่าคนที่เคยขับรถยนต์

อย่างไรก็ตาม ทาลลินน์ยังคงให้บริการขนส่งสาธารณะฟรีต่อมาจนถึงปัจจุบัน เพราะรัฐบาลสามารถหารายได้มาทดแทนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ โดยขนส่งสาธารณะฟรีได้ดึงดูดให้คนเข้าเมืองมากขึ้น และจ่ายภาษีเงินได้สูงขึ้น จึงต่างจากอีกหลายเมืองที่ไม่สามารถสร้างรายได้มาทดแทนค่าใช้จ่ายส่วนนี้

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า บริการขนส่งสาธารณะฟรีอาจไม่ช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ลงได้ แต่ทางแก้ที่น่าจะได้ผลกว่าคือการออกนโยบายที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ต่างๆ เช่น การปรับปรุงทางจักรยาน การบริหารจัดการให้รถประจำทางตรงเวลามากขึ้น ลดค่าบริการขนส่งสาธารณะในช่วงเวลาเร่งด่วน และบริหารจัดการพื้นที่ให้ประชาชนเดินทางจากบ้านไปยังสถานีรถไฟและป้ายรถประจำทางได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น เพราะการจะโน้มน้าวให้คนละทิ้งความสะดวกสบายของรถยนต์ได้ ก็คือการสร้างทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกสบายไม่แพ้รถยนต์ส่วนตัวของตัวเอง

ที่มา : CNN, Asian Correspondent