วันที่ 31 พ.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเรื่องด่วนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท โดยวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง งบประมาณช้างป่วย งบเรียกค่าไถ่ งบประมาณส่อโกง งบประมาณสิ้นหวัง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องตาบอดคลำช้าง แม้จะอยู่ฝ่ายรัฐบาลแต่ขอเอาข้อเท็จจริงมาให้ประชาชนได้ฟัง
วีระกร กล่าวว่า มันจะไปสิ้นหวังได้อย่างไร จะไปเอาปีที่แล้วเป็นเกณฑ์ไม่ได้ เพราะปีก่อน ปัญหาโควิด-19 สาหัสเหลือเกิน รัฐบาลต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้การค้าขายมีปัญหา รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้ตามที่พูด
วีระกร เสริมว่า ตลอด 50-60 ปีที่ผ่าน หน่วยงานที่ต่างประเทศให้ความยอมรับคือ สภาพัฒน์ก็ดี สำนักงบประมาณก็ดี เขาเคยทำผิดพลาดเกิน 3% หรือ 5% หรือไม่ ยกเว้นปีที่แล้วปีเดียว ฝ่ายค้านจะมาด่าว่า เขาแย่ใช้ไม่ได้ หรือสิ้นหวัง ไม่ได้ ส่วนเรื่องที่เกิดวิกฤตกับประเทศตัวเองแล้วรัฐบาลแก้ไขปัญหาสำเร็จจนองค์การอนามัยโลก (WHO) ชื่น แล้วเอามาด่ารัฐบาลนั้นไม่ถูก
วีรกร กล่าวว่า รัฐบาลบริหารจัดงบในระบบ Progressive หรือผลักดันประเทศไปข้างหน้า โดย GDP ขยายตัวในปี 2565 ถึง 3.5-4.5% และจากการคาดการณ์โดยสภาพัฒน์ว่า ในปี 2566 GDP จะขายตัวมากกว่าเดิมถึง 3.2-4.2% ส่วนภาวะเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.5-1.5% ถือว่าต่ำ และการที่จัดงบ 2.74% จึงเหมาะสมในแง่ที่ว่าเหนือภาวะเงินเฟ้อ และที่สำคัญงบลงทุนของเราซึ่งอยู่ในจำนวน 3,185,000 ล้าน เป็นงบเพื่อการลงทุนถึง 695,077 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 13.59% ถ้ามองด้วยความเป็นกลางจะพบว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นจะลดภาวะรายจ่ายประจำ เพิ่มงบลงทุน ส่งผลประเทศเดินหน้า
"การจัดงบ คือเครื่องมือของรัฐบาลที่จะบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความผาสุขของพี่น้องประชาขน อยู่ดีกินดี มีสุขภาพถ้วนหน้า ทำมาหากินได้ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมการค้าและการลงทุน ผมถือว่างบประมาณปีนี้ผมพอใจ" วีระกร กล่าว
วีระกร กล่าวอีกว่า ไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเอง ที่งบกรมการข้าวเพิ่มจาก 2,000 ล้านไปเป็น 17,000 ล้าน สูงถึง 8 เท่าครึ่ง ไม่ใช่เฉพาะแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกร แต่มันหมายถึงการที่รัฐบาลใส่ใจเอาจุดแข็งของประเทศคือการเกษตรที่มีพันธุ์พืชเป็นหมื่นพันธุ์ แต่เราไม่ได้ใช้ศักยภาพประเทศให้เกิดประโยชน์ เราไม่กล้าเข้า CPTPP เราไม่กล้าเข้าเขตเศรษฐกิจเสรีของยุโรป เพราะเรากลัวคำว่า เราต้องกลัวเสียค่าซื้อเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ
วีระกร กล่าวอีกว่า ขอชื่นชมรัฐบาลที่ทำเขตพัฒนาพิเศษด้านตะวันออก (EEC) ถ้ารัฐบาลไม่คิดทำมาตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว เราจะมีอะไรไปขายให้นักลงทุน นักลงทุนก็จะไม่มีแรงจูงใจ
'ไพบูลย์' ยันงบฯปี 66 ไทยเป็นช้างที่แข็งแร็ง ซัด ฝ่ายค้าน 'ด้อยค่า' รวมหัวโหวตคว่ำ
จากนั้น ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่น่าเสียดายที่เรื่องดีๆ แบบนี้ แกนนำพรรคฝ่ายค้านไปตั้งฉายาว่า ขอทานจัดงานวันเกิด เป็นการด้อยค่า ซึ่งฝ่ายค้านไม่น่าด้อยค่า ไม่ว่าจะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการคนละครึ่ง แกนนำพรรคฝ่ายค้านอีกท่านก็ไปเปรียบเปรยว่า เหมือน 'งบช้างป่วย' ที่ปรับตัวไม่ได้ ตนยืนยันว่า ช้างนี้ไม่ได้ป่วย แม้จะพบปัญหาสารพัด แต่นายกฯ ก็ยังดูแลขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าฝ่าวิกฤตไปได้
ไพบูลย์ กล่าวว่า หลังเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จะเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว ประเทศไทยเป็นช้างปรับตัวได้อย่างดี ภายใต้แกนนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนี้ หาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจะโหวตคว่ำ ก็ไม่เป็นไร เพราะพวกท่านมีเงินเดือนประจำตำแหน่ง ไม่เดือดร้อน แต่ประชาชนที่รอความข่วยเหลือจากงบฉบับนี้ เขาเดือดร้อน ไม่มีเงินเดือน ดังนั้นตนนั้นไม่เห็นด้วยที่จะไปโหวตคว่ำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชน อีกทั้ง งบรายการจ่ายการลงทุนถึง 695,077 ล้านบาท คิดเป็น 21.82% ซึ่งเป็นเงินที่ไปลงทุนพัฒนาสร้างความเจริญขึ้นมาจะกระทบไปหมด ตนเชื่อว่า ส.ส.ที่รักประชาชน จะมุ่งมั่นดูแลให้ประชาชนได้งบนี้ จะช่วยกันโหวตให้ร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 ผ่านไปได้
ไพบูลย์ กล่าวว่า "พรรคพลังประชารัฐจะสนับสนุนงบประมาณปี 2566 เพราะเห็นว่างบฯฉบับนี้เป็นเหมือนสายฝนที่พร่างพรม โปรยปรายทั่วแผ่นดิน อำนวยความสดชื่น ชื่นฉ่ำมีชีวิตชีวาให้กับประชาชนทั้งปวง"
‘ทวี’ เตือนความจำ ‘ประยุทธ์’ ใช้งบแผ่นดินมาแล้ว 11 ปี 31 ล้านล้าน แต่ยังไม่เห็นหัว
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายโดยระบุว่า ขอเตือนความจำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ว่าท่านได้ใช้งบมา 11 ปี เป็นจำนวนเงิน 31 ล้านล้านบาท นับแต่ยึดอำนาจ เป็นจำนวนมากกว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพี เกือบ 2 เท่า
การอ่านแถลงงบฯ ของนายกรัฐมนตรีในแต่ละปีก็เหมือนๆ กัน คือมาจากมุมมองของนายกฯ แต่สิ่งที่ตนเห็นเป็นตรงกันข้าม คือการจัดงบโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่อยู่บนฐานความต้องการของประชาชน ไม่ให้ความสำคัญต่อสวัสดิการของประชาชน ไม่กระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม จัดงบอย่างไม่คุ้มค่า ซ้ำซ้อน และไม่เกิดสัมฤทธิภาพต่อประชาชน
พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ดังกล่าวมีความอยุติธรรมต่อประชาชน จะเห็นได้จากรายได้ 2.49 ล้านล้านบาท แต่ใช้จ่ายเป็นรายจ่ายประจำ 2.396 ล้านล้านบาท ในจำนวนนั้นมีงบบุคลากรภาครัฐกว่า 7 แสนล้านบาท แต่รายได้เก็บไม่ได้ตามเป้าทุกปี รายได้ในปี 2566 จึงคาดการณ์ได้จากข้อมูลเก่าได้ว่า รายได้ในปี 2566 น่าจะน้อยกว่ารายจ่ายประจำ
“เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่ายประจำ เท่ากับประชาชนทั้งประเทศเสียภาษีมาเป็นทาสท่านนายกฯ เพราะนายกฯ เป็นข้าราชการของรัฐที่ใช้งบประมาณ ไม่มีเงินสักสลึงเดียวที่กลับไปสู่ประชาชน เพราะเงินทั้งหมดนายกฯ เอาไปเป็นรายจ่ายประจำ”
พ.ต.อ.ทวี ยังชี้ให้เห็นถึงการบริหารงบที่กระจุกรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ ถึง 2.3 ล้านล้านบาท ต่อประชากร 5 ล้านคน คิดเป็น 76% ของงบประจำปี ขณะที่ประชาชนที่เหลืออีก 76 จังหวัด กว่า 60 ล้านคน กลับได้รับจัดสรรงบเพียง 0.8 ล้านล้านบาท หรือ 26% ของงบประจำปี อีกทั้ง ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีเข้าสู่อำนาจ เงินบำนาญของข้าราชการยังเพิ่มขึ้นเป็น 322,790 ล้านบาท ขณะที่บำนาญประชาชนยังอยู่ที่ 71,407 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำรุนแรง ให้ข้าราชการมากดทับประชาชน