ไบเดนแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์ของสหรัฐฯ เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น พร้อมย้ำเตือนว่าสหรัฐฯ ต้องการพูดคุยในประเด็นความมั่นคง และย้ำเตือนรัสเซียเช่นเคยว่า การตัดสินใจบุกยูเครนของรัสเซียเอง จะนำมาซึ่งการคว่ำบาตรอย่างรุนแรง นอกจากนี้ หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐฯ รายงานว่า รัสเซียอาจทำการบุกยูเครนในวันนี้ (16 ก.พ.)
ไบเดนยังได้ระบุไปทางรัสเซียอีกว่า สหรัฐฯ พร้อม “ระดมพันธมิตรทั่วทั้งโลก” เพื่อต่อต้านปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซีย โดยการต่อต้านจะมุ่งเป้าไปที่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ก่อนย้ำเตือนว่า สหรัฐฯ “จะไม่ส่งทหารของตนไปรบในยูเครน” ทั้งนี้ ไบเดนกล่าวชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะทำการคว่ำบาตรในรูปแบบที่แตกต่างจากที่ระบุไป หากพรมแดนใดๆ ของชาติสมาชิกสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) หรือประชาชนของสหรัฐฯ ถูกโจมตีโดยรัสเซีย
“เราไม่ต้องการแสวงหาการเผชิญหน้าโดยตรงกับทางรัสเซีย ทั้งนี้ ผมได้ระบุอย่างชัดเจนมาตลอดว่า หากรัสเซียมุ่งเป้าโจมตีประชาชนสหรัฐฯ และยูเครน เราจะตอบรับอย่างเด็ดขาด” ไบเดนกล่าว “หากรัสเซียโจมตีสหรัฐฯ หรือพันธมิตรผ่านการกระทำที่ไม่สมดุล เช่นการโจมตีทางไซเบอร์ต่อบริษัทเอกชนของพวกเรา หรือโครงสร้างพื้นฐาน เราได้เตรียมตัวพร้อมสำหรับการโต้ตอบแล้ว”
ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์กระทรวงกลาโหม เว็บไซต์ของกองทัพ ตลอดจนเว็บไซต์ธนาคารเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของยูเครนเพิ่งถูกการโจมตีทางไซเบอร์จนเว็บไซต์ถูกปิดตัวลงไป โดยจากรายงานของหนังสือพิมพ์ The Washington Post ระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นด้วยการกระทำของแฮกเกอร์จากรัฐบาลรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่ารัสเซียได้ถอนกำลังทหารของตนบางส่วนออกจากบริเวณใกล้ชายแดนยูเครน อย่างไรก็ดี ไบเดนระบุกับผู้สื่อข่าวว่า “เรายังคงไม่ได้รับการยืนยันว่าหน่วยของกองทัพรัสเซียได้กลับไปยังฐานที่มั่นในประเทศของพวกเขา อันที่จริงนักวิเคราะห์ของเราพบว่า พวกเขายังอยู่ในพื้นที่ที่เป็นภัยคุกคาม” ไบเดนระบุ “ข้อเท็จจริงในตอนนี้คือ รัสเซียมีกองกำลังมากกว่า 150,000 นาย ล้อมรอบยูเครนอยู่ การบุกรุกยังคงเป็นไปได้อย่างชัดเจน”
อย่างไรก็ดี รัสเซียปฏิเสธมาโดยตลอดว่า ตนไม่ได้มีแผนการในการบุกรุกยูเครน และการซ้อมรบในเขตแดนของตนเองนั้นย่อมทำได้ ทั้งนี้ ไบเดนย้ำเตือนว่า “สหรัฐฯ จะยังคงยืดถือการพูดคุยบนความคิดที่ตั้งอยู่บนฐานของสภาพแวดล้อมของความมั่นคงในยุโรป เราได้เสนอมาตรการควบคุมอาวุธใหม่ มาตรการความโปร่งใสใหม่ มาตรการเสถีตรภาพทางยุทธศาสตร์ใหม่ เรายังคงยืดมั่นในการปฏิบัติมาตรการต่างๆ บนฐานทางผลลัพธ์ที่สามารถยกระดับความมั่นคงร่วมกัน เราจะไม่ยอมเสียหลักการขั้นพื้นฐานว่า ชาติต่างๆ มีสิทธิเหนืออธิปไตยของตนเอง ตลอดจนบูรณภาพทางดินแดนของตน”
ไบเดนยังได้ยอมรับกับสื่อมวลชนอีกว่า หากเกิดการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียจริง การรุกรานดังกล่าวอาจส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก และสหรัฐฯ ยอมรับว่า การโจมตีดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาเชื้อเพลิงอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ สัญญาณของรัสเซียที่ส่งมายังฝั่งยูเครนอย่างชัดเจน เกิดขึ้นหลังจากที่สภาของรัสเซียลงคะแนนเสียง เพื่อเสนอให้ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียให้การรับรองการประกาศเอกราชของเขตแดนภายใต้การควบคุมของรัสเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของตนเองออกจากยูเครน ทั้งนี้ ปูตินย้ำว่าตนพร้อมพูดคุยกับตะวันตกเพื่อจัดวางข้อตกลงด้านความมั่นคงใหม่ได้เสมอ ก่อนที่ทุกอย่าง “จะสายเกินไป”
ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเข้าประชุมกับปูตินในเครมลิน โดยลาฟรอฟระบุกับปูตินว่า ตนเชื่อว่ายังคงมีพื้นที่ในการพูดคุยบนฐานข้อเรียกร้องของรัสเซีย เพื่อการหาข้อตกลงด้านความมั่นคงใหม่กับทางชาติตะวันตก ในขณะที่กองทัพของรัสเซียกว่าแสนนายเดินทางเข้าประชิดชายแดนยูเครนแล้วตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
“เราขอเตือนไปถึงบทสนทนาที่ไม่สิ้นสุด ในประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ไขลงในวันนี้ อย่างไรก็ดี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผมต้องบอกว่ามันยังคงมีโอกาสเสมอ” ลาฟรอฟกล่าวกับปูตินในที่ประชุม โดยการประชุมดังกล่าวถูกบันทึกภาพอย่างระมัดระวัง เพื่อส่งข้อความจากทางรัสเซียไปยังพันธมิตรตะวันตกว่า ตนพร้อมพูดคุยเสมอเพื่อหาทางออกจากวิกฤตนี้
อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยของปูตินกับ ไบเดน ตลอดจน เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยังคงไม่มีความคืบหน้าในการหาข้อตกลงสู่ทางออกใดๆ บนวิกฤตยูเครนเช่นเคย
ที่มา:
https://www.cbsnews.com/live-updates/biden-russia-ukraine-invasion-possible-diplomacy/