ไม่พบผลการค้นหา
ศาลจีนตัดสินโทษสองพลเมืองแคนาดาในเวลาไล่เลี่ย รายหนึ่งจำคุก 11 ปี ส่วนอีกรายเจอโทษประหาร เชื่อเกี่ยวข้องกรณีควบคุมตัว 'เมิ่ง หว่านโจว' ลูกสาวทายาทหัวเว่ย

ศาลในเมืองตานตง ของจีนได้มีคำพิพากษาสั่งจำคุกพลเมืองชาวแคนาดาเป็นเวลา 11 ปี ต่อนายไมเคิล สเปเวอร์ ในข้อหามีพฤติกรรมสอดแนม หลังเขาถูกจับกุมพร้อมกับอดีตนักการทูตชาวแคนาดาอีกรายที่ชื่อ ไมเคิล โคววิก 

ในคำแถลงตัดสินของศาลเมืองตานตง มีใจความตอนหนึ่งว่า "สำหรับอาชญากรรมในฐานการสอดแนมและการจัดหาข้อมูลความลับของรัฐต่อต่างชาติ สเปเวอร์จะถูกตัดสินจำคุก 11 ปี พร้อมยึดทรัพย์ 50,000 หยวน ราว 257,000 บาท พร้อมให้เนรเทศออกนอกจีน" แม้คำตัดสินของศาลจีนจะระบุถึงการจำคุกเป็นเวลา 11 ปี พร้อมให้เนรเทศ แต่ไม่ได้ระบุระยะเวลาอย่างชัดเจนถึงระยะเวลาการเนรเทศดังกล่าว

สำหรับ ไมเคิล สเปเวอร์ เป็นนักธุรกิจชาวแคนาดา ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับสถานทูตแคนาดาในกรุงปักกิ่ง เขาเป็นผู้อำนวยการของ Paektu Cultural Exchange หน่วยงานที่ส่งเสริมการลงทุนและท่องเที่ยวในเกาหลีเหนือ 

เมิ่งหว่านโจว - หัวเว่ย -AFP
  • เมิ่งหว่านโจว ผู้บริหารและทายาทหัวเว่ย

ธันวาคม 2561 ขณะที่เขาอาศัยและทำงานในเมืองตานตง เมืองสำคัญใกล้ชายแดนจีน-เกาหลีเหนือ สเปเวอร์ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่จีน ในการจับกุมเขาถูกตั้งข้อหาว่าดำเนินการเป็นสายลับให้กับรัฐบาลต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การจับกุมสเปเวอร์ เป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่าเกิดขึ้นเพียงไม่นานหลังจากที่ในปีเดียวกันนั้น รัฐบาลแคนาดาได้จับกุม 'เมิ่ง หว่านโจว' นักธุรกิจสาวและทายาทของผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมจีน 

ก่อนหน้านี้รัฐบาลแคนาดาาเรียกร้องให้ปักกิ่งปล่อยตัวสเปเวอร์พร้อมโคววิก เพื่อนชาวแคนาดาที่ถูกจับกุมพร้อมกับ ซึ่งการจับกุมทั้มคู่ถูกมองว่าเป็นการตอบโต้ที่แคนาดาจับกุมทายาทหัวเว่ยที่สนามบินในนครแวนคูเวอร์

โดมินิก บาร์ตัน เอกอัครราชทูตแคนาดา พร้อมคณะผู้สังเกตการณ์ของรัฐบาลออตตาวา ซึ่งร่วมไปฟังการตัดสินของศาลด้วย มองว่าคำตัดสินและการพิจารณาของระบบศาลจีน ชี้ให้เห็นถึงอคติในระบบยุติธรรมพร้อมประณามว่าขาดความโปร่งใส

การตัดสินคดีของสเปเวอร์ เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่ ศาลอีกแห่งของจีนมีคำพิพากษาตัดสินโทษประหารชีวิตต่อ โรเบิร์ต ลอยด์ เชลเลนเบิร์ก ชายสัญชาติแคนาดาอีกราย ที่ถูกจับกุมเมื่อ 2557 ข้อหาวางแผนขนยาเสพติด เมทแอมเฟตามี น้ำหนักเกือบ 227 กก. จากจีนไปยังออสเตรเลีย ซึ่งเชลเลนเบิร์กปฏิเสธ พร้อมยืนยันว่าเขามาจีนในฐานะนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม พฤศจิกายน 2561 เขาก็ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 15 ปี ก่อนจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ต้าเหลียนในมณฑลเหลียวหนิง จนนำไปสู่คำตัดสินโทษประหารชีวิตดังกล่าว 

เป็นที่น่าสังเกตว่าคำตัดสินโทษต่อพลเมืองสัญชาติแคนาดาทั้งสองราย มีขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแคนาดา เปราะบางสืบเนื่องจากการจับกุมบุตรสาวของผู้ก่อตั้งหัวเว่ย จนนำไปสู่ความขัดแย้งสามเส้าระหว่างประเทศคือสหรัฐฯ จีน และแคนาดา เนื่องจากการจับกุมของแคนาดานั้นกระทำไปตามหมายจับผู้ร้ายข้ามแดนของสหรัฐฯ พร้อมมีการสั่งให้ส่งตัวเธอไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าผู้บริหารหญิงของหัวเว่ยรายนี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับรัฐบาลอิหร่านซึ่งถูกสหรัฐฯคว่ำบาตร