ไม่พบผลการค้นหา
"ตุลาคม" เดือนแห่งความทรงจำของประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519 เวลาได้เดินทางมาจนถึง ตุลาคม 2562 การต่อสู้ระหว่างประชาชน และกลุ่มอำนาจเดิม ยังคงดำรงอยู่ให้เห็นเป็นขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน

เนื่องในวาระครบรอบ 43 ปี '6 ตุลา' เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา และประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 'วอยซ์ ออนไลน์' ชวนคุยกับ 'ธนาพล อิ๋วสกุล' บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และบทบาทของผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมบอกเล่าประวัติศาสตร์ความรุนแรงนี้ ในฐานะผู้จัดการโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา

ทำไมต้องศึกษาประวัติศาสตร์ 6 ตุลา?

ธนาพล อธิบายว่า ทุกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มีความสัมพันธ์กัน เราไม่สามารถมองประวัติศาสตร์เป็นเรื่องๆ ไปได้ เราไม่สามารถแยกเหตุการณ์นี้ ออกจากเหตุการณ์อื่นโดยสิ้นเชิง ทุกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะหลัง 2475 มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน เราจะไม่มี 6 ตุลา ถ้าไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ปลดปล่อยพลังซึ่งถูกกดไว้เกือบ 20-30 ปี หลังรัฐประหาร 2490 และ 6 ตุลา คือ พลังที่ปะทุขึ้นอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ถูกโต้กลับโดยฝ่ายขวา หรือกลุ่มคนที่เสียอำนาจหลัง 14 ตุลา ดังนั้น 6 ตุลา 2519 จึงเป็นการโต้กลับแบบสุดขั้วของฝ่ายขวา โดยการใช้ระบบเผด็จการแบบขวาจัด แต่สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ จนต้องรัฐประหารกันเอง ในปี 2520 กลายมาเป็นระบบที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" อยู่กันตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2522-2534 (เกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535) หรือที่เรียกว่า "ระบอบเปรม" (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองมนตรี และรัฐบุรุษ)

เขากล่าวว่า "นี่คือความต่อเนื่อง เราไม่สามารถบอกได้ว่า อะไรสำคัญกว่าอะไร เราเพียงแต่บอกว่า แต่ละเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มันสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันอย่างไร ส่งผลอย่างไร และมันมีมรดกตกทอดอย่างไร จนถึงทุกวันนี้" 

"เหมือนทำไมเราถึงต้องศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา การเสียกรุงเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว ทำไมเราถึงต้องบอกว่าประเทศไทยเสียเอกราช เพราะเราขาดความสามัคคีกัน หรือว่าการสร้างอคติเกี่ยวกับพม่า ที่จริงไม่จริงก็ไม่รู้ เวลาที่มีเหตุการณ์อะไรที่เกี่ยวกับพม่า คนยังไปนึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 200 กว่าปีที่แล้วเลย แต่ 6 ตุลา แค่ 40 กว่าปีเอง มันไม่ใช่ว่านานกี่ปี ไม่ใช่บอกว่าคนไทย ลืมง่ายไม่ง่ายด้วย ถ้าคนไทยลืมง่าย แล้วทำไมคนไทยยังจำเรื่องราวของอยุธยาว่า ถูกพม่าเผาเมือง"

“คนไทยไม่ได้ลืมประวัติศาสตร์ แต่คนไทยจำประวัติศาสตร์ จำแบบไหน อย่างไรมากกว่า”

อนุรักษนิยมไทย กับความพยายามลบประวัติศาสตร์ที่ไม่เข้าขนบ

ธนาพล กล่าวว่า "ฝ่ายขวามีความพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์แบบขนบว่า ประเทศไทยมีความสามัคคี สมัครสมาน คนในชาติอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร หากมีความขัดแย้งขึ้นมา ก็จะมีผู้หลักผู้ใหญ่ เข้ามาแก้ไขปัญหาให้นำมาสู่การรู้รักสามัคคี ปรองดองกัน ดังนั้น ภายใต้พล็อตเรื่องนี้ ความขัดแย้งใหญ่ๆ ที่นำมาสู่การใช้ความรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง เหตุการณ์เหล่านี้ก็เลยไม่เข้ากับขนบของประวัติศาสตร์ไทย ไม่ใช่แค่ว่า 6 ตุลาไม่เข้ากับขนบเท่านั้น ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ อันนี้ก็ไม่เข้ากับขนบใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทยที่เรียกว่า รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยที่ไหนละ เขาเป็นมลายู แล้วก็มีความรุนแรงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่า หลายเรื่อง มันไม่ใช่แค่บอกว่า ชนชั้นนำไทยตั้งใจลืมเฉพาะ 6 ตุลา แต่ชนชั้นนำไทย ตั้งใจทำให้ประวัติศาสตร์ที่ไม่เข้ากับขนบของประวัติศาสตร์ไทยออกไป"

ธนาพล ยกตัวอย่างว่า ความพยายามอย่างหนึ่งคือการเพิกเฉยไปเลย ไม่ใส่ในแบบเรียน ถ้าจำได้สมัยประยุทธ์ 1 มีหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยออกมาเล่มหนึ่ง จัดทำโดยกรมศิลปากรด้วยซ้ำ ก็คือมาเขียนประวัติศาสตร์เพื่อให้เข้ากับขนบ ให้มารับใช้คณะรัฐประหาร ประเทศไทยมีความขัดแย้งอะไรยังไง แล้วก็มีคณะรัฐประหารขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง มันมีกระบวนการตั้งหลายอย่างที่ทำให้ สิ่งที่เรียกว่า การลบความทรงจำ การทำให้ประวัติศาสตร์ที่ไม่เข้ากับขนบของประวัติศาสตร์ไทย ไม่มีที่ยืน

สัมภาษณ์ ธนพล ประเด็น6ตุลา

2475 - 2562 การลุกขึ้นสู้ของประชาชน และการโต้กลับของกลุ่มอำนาจเก่า ที่ยังไม่สิ้นสุด

เมื่อพูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองไทย นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดย 'คณะราษฎร' ในปี 2475 ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรง และการรัฐประหารหลายครั้ง ดูเหมือนกับสังคมไทยยังตกลงกันไม่ได้ว่า เราจะอยู่ในระบอบแบบไหน ฝ่ายหนึ่งต้องการให้อำนาจเป็นของประชาชน หรือ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งบางคนอาจเรียกว่า "อนุรักษนิยม" - "ชนชั้นนำจารีต" - "ฝ่ายขวา" ก็ต้องการลดอำนาจของประชาชนลง เราจึงชวนธนาพลมาวิเคราะห์โฉมหน้าการเมืองไทย เพื่อทำความเข้าใจกับความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างถึงรากถึงโคน

ธนาพล อธิบายว่า ถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะเรียกว่าแย่งชิงอำนาจได้ แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องชนชั้นนำแล้ว การเมืองไทยสมัยก่อน (ก่อน 2475 การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจกัน การจัดสรรอำนาจกัน ประณีประนอมกัน แต่พอประณีประนอมไม่ได้ก็ใช้ความรุนแรง มีการรัฐประหารเกิดขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าไปดูประวัติศาสตร์อยุธยา 440 ปี ทุก 10 ปี มีการรัฐประหาร 1 ครั้ง ความรุนแรง การรัฐประหารเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงเป็นของ "ชนชั้นนำ" แล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรียกว่าโครงสร้าง เปลี่ยนแปลงแค่จากกษัตริย์องค์หนึ่งเป็นองค์หนึ่ง จากราชวงศ์หนึ่งเป็นอีกราชวงศ์หนึ่งเท่านั้น

"2475 จะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นของชนชั้นนำก็ได้ แต่สิ่งที่ 2475 ต่างจากการเปลี่ยนแปลงในอยุธยา ในกรุงธนบุรี เป็นรัตนโกสินทร์ คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รัฐธรรมนูญ 2475 อันดับแรกบอกว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” อันนี้จะบอกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแย่งชิงอำนาจกันไม่ได้ นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มาก แต่ทุกการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไหน ที่มันสามารถจบในวันเดียว ในเหตุการณ์เดียวได้ ยกตัวอย่าง ปฏิวัติฝรั่งเศส กว่าจะจบได้ กว่าจะลงตัว มีการฆ่ากันแหลกลาน มีการเปลี่ยนกลับไปกลับมา จากระบบสาธารณรัฐ (Republic) กลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้ง สู้กันจนกลับไปหาสาธารณรัฐ อีกครั้ง"

"อย่างน้อยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจแน่ๆ แต่ 2475 วางรากฐานไม่เข้มแข็งพอ มีสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ มีการต่อสู้กัน จนนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่าการรัฐประหาร 2490 ที่ล้มพลังของคณะราษฎรลง แล้วจัดสรรแบ่งอำนาจใหม่ ให้กลุ่มอำนาจเดิมกลับมา แต่การกลับมาของกลุ่มอำนาจเดิมหลัง 2490 ก็ไม่ได้กลับไปถึงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อน 2475 แน่ๆ เขาก็ยังมีระบบเลือกตั้ง มีรัฐสภา เพียงแต่อำนาจจากการเลือกตั้งมันถูกลดลง เพื่อไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "อำนาจเก่า" ฝ่ายอำมาตย์มากขึ้น แล้วถ้าเรามาดูเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่มีความพยายามที่เปลี่ยนครั้งใหญ่"

"14 ตุลา เป็นการปลุกพลัง ของประชาชนขึ้นมา คนมาชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน 5 แสนกว่าคน จนปัจจุบันคุณยังไม่เห็นภาพแบบนี้เลยนะ พันธมิตร กปปส. ยังทำไม่ได้เลย นี่ยังไม่รวมคนทั้งประเทศที่ชุมนุมทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กูไม่เอาแล้ว ถนอม-ประภาส 3 ทรราชย์ต้องออกไป แต่อย่างที่บอก หลังจากนั้น ฝ่ายขวาก็พยายามโต้กลับเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลา"

เร่งรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาญาติ 14 ตุลา

(ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนต่อต้านอำนาจเผด็จการ ถนอม-ประภาส เรียกร้องรัฐธรรมนูญ)

"กระทั่งมีรัฐธรรรมนูญ 2540 เราคิดว่าจะสถาปนาอำนาจประชาชนแล้ว สิ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นครั้งแรกที่ทำให้สมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หลายคนบอกว่านี่เป็นการทำให้เป็นสภาผัวเมีย ผมคิดว่ามันเป็นการไปหยิบจุดเล็กๆ เพื่อทำลายเจตนารมณ์อันใหญ่ แม้แต่ 2475 ยังทำไม่ได้เลยนะ ที่สภาทั้งสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่หลังจากนั้นก็มีความพยายามที่จะดึงอำนาจกลับไป เลยกลายเป็นรัฐประหาร 2549 เรียกว่าทำลายการปฏิรูปการเมือง 2540 ที่สภาทั้งสภามาจากการเลือกตั้ง จนมีรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ขอครึ่งๆ ส.ว. ครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง แต่ดึงอำนาจกลับไปยังไม่พอ ยังไม่แรงพอ ก็เลยต้องรัฐประหาร 2557 อีกครั้งหนึ่ง เราก็เลยมี ส.ว. 250 คน ทั้งหมด ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร มีองค์กรอิสระ มีศาล มาตัดแข้งตัดขาพลังอำนาจทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง"

ดังนั้น ผมคิดว่า จุดชี้ขาดทางการเมืองไทยที่เห็นอยู่ว่าพลังอำนาจเก่า ไม่ยอมอย่างเด็ดขาดที่ให้ประชาชนตัดสินใจเอง เลือกผู้นำเองทั้งหมด รูปแบบก็เลยกลายเป็นความขัดแย้งอย่างที่เราเห็น
https://scontent.fbkk8-2.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/71009407_129598161752800_7582280563654918144_o.jpg?_nc_cat=107&_nc_eui2=AeH5CpTs894zb1CYnJWUBUxxRO8futMf8PNU3zG470wZhgNdeDQ7PFs4gmcTMUnbdGnNRVsLdLaUsF5hpT0FCnMmqeyipexwCiIUn1QY_CSEvA&_nc_oc=AQlEDBxtG793HRcEJZkQo_Q7B3UuTufBOtuZdNSuCMmUnM_VhOC3K6KZi4dW-RhLSr8&_nc_pt=1&_nc_ht=scontent.fbkk8-2.fna&oh=07ef8cf9704671eb9129f1aa7ed62984&oe=5E254652

ประจักษ์ | พยาน ความรุนแรง 6 ตุลา

จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนความขัดแย้งทางการเมืองไทย 6 ตุลา นับเป็นประวัติศาสตร์นอกขนบที่สะท้อนการโต้กลับด้วยการใช้ความรุนแรงของอนุรักษนิยมไทยให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ธนาพล และกลุ่มเพื่อนริเริ่มอยากทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา แต่ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทรัพยากร เวลา และงบประมาณ สิ่งที่สามารถทำได้เลยก็คือการนำวัตถุที่มีอยู่มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ ประจักษ์ | พยาน

ธนาพล เล่าถึงที่มาของนิทรรศการว่า "ถ้าคนสนใจประวัติศาสตร์ เลี่ยงไม่ได้ต้องมีหลักฐาน ด้านหนึ่งเป็นความสนใจของเรา อะไรที่ไม่เข้าพวก อะไรที่ถูกถีบออกไป โอเคเราอาจจะตามประเด็นกระแสหลัก ให้รู้ว่าเขาทำอะไร แต่สิ่งที่เราสนใจ คือ ประวัติศาสตร์นอกขนบ นอกกระแส มันมีการต่อสู้ มีการนิยามแบบไหน ผมสนใจประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย คือการเก็บของ เก็บเอกสารหลักฐานก็เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าพูดถึง 6 ตุลา ตอนที่ผมเพิ่งเรียนจบ เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล ของคณะกรรมการจัดงาน คือเราก็มีหน้าที่ไปตามเก็บภาพ ตามสัมภาษณ์คน เรียกว่าเราก็มีฐานข้อมูลระดับหนึ่ง"

"ประมาณปี 2559 -2560 มีการจัดทำโครงการ 'บันทึก 6 ตุลา' ที่กลุ่มของอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธ์ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ริเริ่มขึ้นมา ผมก็ไปช่วยอยู่เล็กน้อย ในฐานะที่เรามีข้อมูลอยู่ในมือ เราก็เอาไปสนับสนุนเขา บอกแหล่งที่มาให้เขาไปหาอะไร แต่ตอนนั้นข้อจำกัดของโครงการบันทึก 6 ตุลา คือเขาคิดว่าจะเอาเอกสารหลักฐานขึ้นเว็บไซต์ ตอนนั้นเราไปค้นหาประตูแดง ที่ จ.นครปฐม เพื่อทำเป็นคลิปเปิดตัวโครงการฯ คำถามของผมคือ เราไปเจอประตูแดงแล้วเราจะจัดการอย่างไร เราจะเอาประตูแดงขึ้นเว็บไซต์ไอย่างไร ก็เป็นคำถามคาใจตั้งแต่วันนั้น"

เก็บประตูแดง.jpg

(ประตูแดง ที่จะถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ประจักษ์ | พยาน)

"ผมสนใจเรื่อง 2475 พอรู้ว่าศาลาเฉลิมไทยสร้างในทศวรรษ 2480 เป็นส่วนหนึ่งของการฉลองเอกราชหลัง 2475 ต่อมาศาลาเฉลิมไทยถูกทุบ แล้วป้ายที่ถูกเขียน มันไปอยู่ที่ร้านขายของเก่า คำถามง่ายๆ คือว่า มันสำคัญขนาดนี้ ทำไมหอภาพยนตร์ไม่เก็บไว้ เราคิดว่า ถึงที่สุดถ้าเราสนใจเรื่องนี้ เราจะไม่ยอมให้เหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นอีกแล้ว"

"เราก็คุยกับเพื่อนๆ ว่า เราจะขอซื้อประตูแดง ขอซื้อในความหมายที่ว่า เราจะทำประตูใหม่ให้เขา แล้วเอาประตูแดงมา ก็ใช้เวลาในแง่ของการไปอธิบายให้เจ้าของ ทำความเข้าใจ แล้วก็นำไปสู่การรื้อ ใช้เงินเป็นแสนนะ ต้องใช้เวลาทำประตูใหม่ การรื้อมาเก็บ ทำชั้น ขาตั้ง แต่มันก็เป็นภารกิจของชีวิตอันหนึ่ง อย่างน้อยทำออกมาก่อน ริเริ่มกับเพื่อน 4 คน นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา"

"เราคิดถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา แต่โครงการนี้ถ้าพูดกัน ก็ใช้เวลา 5-10 ปี แล้วก็พูดจริงๆ นะ มีแนวโน้ม มีความเป็นไปได้ที่จะไม่สำเร็จ ผู้จัดทำอาจจะมีปัญหาบางอย่าง แต่เราคิดว่าต่อให้โครงการพิพิธภัณฑ์ฯ ไม่สำเร็จ อย่างน้อยของที่เราได้เก็บในตอนนี้ มีประตู ลำโพง สิ่งพิมพ์อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึง กางเกงของผู้เสียชีวิตในวันนั้น ที่พี่สาวเขายังเก็บไว้อยู่ในปัจจุบัน แล้วเขาเอาออกมาให้ยืม เราอยากจะได้ สิ่งที่มีพลัง (Powerful) พอสมควร ในแง่ของการจัดแสดง คือมันไม่ได้เป็นพิพิธภัณฑ์ หรือนิทรรศการที่มันสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว มันเป็นแค่ตัวจุดประเด็น เปิดขึ้นมา เราคิดว่าประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่จำนวนของ มันอยู่ที่ประเด็น อยู่ที่สิ่งของว่า มันส่งผลกระทบ (Impact) แค่ไหน ผมเคยไปดูนิทรรศการบางอย่าง มีของจัดแสดงแค่ชิ้นเดียวเอง ชิ้นเดียวแต่พื้นที่ทั้งฮอล เพื่อที่จะบอกว่า เห้ย นี่มันสำคัญอย่างไร มันไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากมาย เราแค่เอาของที่มีอยู่ในมือ เพื่อทำให้กระตุ้นว่า โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เริ่มขึ้นแล้ว"

ประตูสีแดง

(ประตูแดงที่ จ.นครปฐม )


จากประตูแดง สู่ความรุนแรง 6 ตุลา

"ความสำคัญของประตูแดง ต้องเข้าใจว่าตอนที่เราไปเจอ ประมาณ ปี 2560 ห่างจากปีที่เกิดเหตุถึง 41 ปีนะ คือประตูมันยังอยู่ที่เดิมเลย เหมือนรอให้เราไปหา ประตูแดงสำหรับผม ก็คือปฐมบทของความรุนแรง ในวันที่ 6 ตุลา"

"ตอนนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้ามาประเทศไทย ช่วงเดือนกันยายน (หลังถูกขับไล่ในปี 2516) ก็มีการชุมนุม คัดค้าน ทั่วประเทศ เหตุการณ์อันหนึ่งก็คือ ช่างไฟฟ้าที่นครปฐม 2 คน ที่เขาเป็นแนวร่วม ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ไปติดโปสเตอร์ คือต้องเข้าใจตอนนั้นมีเครือข่ายทั่วประเทศ เกิดเหตุการณ์ฆาตรกรรม มีการฆ่า แล้วนำไปแขวนคอ ที่ประตูรั้ว ในเขตอำเภอเมือง จ.นครปฐม แล้วก็เป็นข่าวไปทั่วประเทศ ลักษณะของการฆ่าแขวนคอ มันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสะพรึงกลัว"

เหมือน 6 ตุลา คุณแค่ยิงก็ตายแล้ว ทำไมต้องเอาศพมาแขวนคอ มาฟาด มันคือกระบวนการเดียวกัน นอกจากฆ่าแล้วก็คือการสร้างความสยองขวัญ บอกเห้ย กูเอาจริง กูสามารถฆ่าได้ทุกคน แล้วกูเหี้ยมโหดมาก

"ดังนั้น พอมีเหตุการณ์ที่ช่างไฟฟ้านครปฐมถูกแขวนคอ ก็นำมาสู่การชุมนุมประท้วง มีการแสดงแขวนคออันหนึ่ง (การแสดงที่เป็นข่าวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดาวสยามว่านักศึกษาแสดงละครแขวนคอคนเหมือน ร.10 ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ) เหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ตั้งแต่คืนวันนั้น จนถึงวันที่ 5 มีการปลุกระดมโดยวิทยุยานเกราะ เครือข่ายอะไรทั้งประเทศ โหมทั้งคืนว่า "นักศึกษา พวกนี้ล้มเจ้า" ตั้งใจทำลายสถาบัน จริงๆ วันที่ชุมนุม วันที่ 6 ตุลา ไม่ใช่แค่ธรรมศาสตร์ มีการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าด้วย (การชุมนุมของกลุ่มนวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน) คนก็เป็นหมื่น ฝ่ายขวาเรียกร้องให้จัดการนักศึกษาอย่างเด็ดขาด"

สัมภาษณ์ ธนพล ประเด็น6ตุลา ดาวสยาม

(หนังสือพิมพ์ดาวสยามฉบับจริง ตีพิมพ์เมื่อวันทืี่ 6 ตุลาคม 2519 และลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถานที่แสดงละครเหตุการณ์แขวนคอช่างไฟฟ้า ที่ จ.นครปฐม ของนักศึกษา)


ลำโพงที่มีรอยกระสุน ตัวแทนเสรีภาพที่ถูกปิดกั้น

สำหรับวัตถุที่จะนำมาจัดแสดงในนิทรรศการอีกชิ้น คือ 'ลำโพง' ที่มีรอบกระสุน ธนาพล เล่าว่า เขาไปเจอลำโพงตัวนี้ด้วยความบังเอิญ ในห้องกิจกรรม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อครั้งที่เขาศึกษาอยู่ แต่ก็ยังไม่ได้คิดจะทำอย่างไรกับลำโพงตัวนี้ กระทั่งต่อมามีการปรับปุงอาคาร และห้องกิจกรรม ธนาพลจึงนำลำโพงตัวนี้ออกมา และเมื่อเขาได้คิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา ลำโพงตัวนี้จึงเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานของความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา

ธนาพล ให้ความหมายว่า "ลำโพงเป็นตัวแทนของ เสรีภาพ กระจายเสียง แล้วก็รอยกระสุนที่เราเห็น กระสุนเท่าที่เช็คมาเป็นปืนลูกซอง ที่ยิงแล้วมันกระจาย 1 เป็น 8 อย่างน้อย 3 นัด ที่ยิงเข้ามาในนี้ ยิงจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ลักษณะของตัวนี้ มันก็ทำให้เวลายิงเข้ามา อย่างน้อยทำให้ลำโพงตัวนี้ เสียงมันจะเงียบ ดังนั้น ผมคิดว่า อย่างน้อย อันนี้คือสัญลักษณ์อย่างดีเลย ทั้งในแง่ของตัวแทนของเสรีภาพ เสียง ความรุนแรง และการปิดปาก"

สัมภาษณ์ ธนพล ประเด็น6ตุลา

(ธนาพล และลำโพงที่มีรอยกระสุน ที่เขาค้นพบในห้องกิจกรรมของมหวิทยาลัย)

แสดงว่ามีความพยามปิดกั้นเสียงที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้สื่อสารกันในขณะนั้น?

"เป็นปกติอยู่แล้ว เวลาคุณปราบปรามการชุมนุม อันแรกสุดคุณต้องจัดการสื่อสาร การสื่อสารที่สำคัญที่มีอยู่ตอนนั้น คือเสียงที่มันกระจาย อันแรกที่คุณจะปราบคือเสียง ก็ยิงมาที่เวที"

AFP-เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519-ธรรมศาสตร์หกตุลา.jpg

(การปราบปรามการชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519)


กางเกงของผู้เสียชีวิต ความเจ็บปวดของคนที่ยังมีลมหายใจ

"ส่วนกางเกง เป็นของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันนั้น คือ คุณดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง เป็นคนนครศรีธรรมราช เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง รับหน้าที่เป็นการ์ด หน่วยรักษาความปลอดภัย แล้วก็เสียชีวิตในวันที่ 6 ตุลาคม ถ้าประตูแดงคือตัวแทนเรื่องความรุนแรง ฆาตรกรรมที่เรียกว่า ความสยองขวัญ ลำโพงแทนเสรีภาพที่ถูกปิดกั้น ผมคิดว่าตัวกางเกงก็คือ ประวัติศาสตร์บาดแผล ที่พี่สาวเขายังเก็บเอาไว้ แล้วรอวันที่จะเปิดเผยออกมา ก็เป็นหน้าที่ของเราในแง่ของคนทำนิทรรศการทำพิพิธภัณฑ์ ที่จะดึงวัตถุจัดแสดงเอาพวกนี้มา ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างไร ในแง่ของการจัดแสดง" ธนาพล กล่าว

ทั้งนี้ นิทรรศการดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2562 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นอกจากนี้ ทุกท่านสามารถร่วมสนับสนุนทางการเงิน เพื่อความเป็นไปได้ของพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ให้เกิดขึ้นได้จริง ที่ ชื่อบัญชี โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา หมายเลขบัญชี 172-0-31365-2 ธนาคารกรุงไทย สาขา ซอยอารีย์ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา- October 6 Museum Project