การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ละครั้งจะ มีการจ้างงานชั่วคราวหลายอาชีพ โดยมีสถาบัน Leadership Institute ที่วอชิงตันดีซีเป็นผู้ฝึกอบรมให้ เช่น การจัดตั้งกลุ่มชาวบ้าน การพูดจาสื่อสาร รวมถึงทักษะที่จะได้รับการจ้างจากบริษัทสำรวจความคิดเห็น องค์กรระดมทุน องค์กรสื่อมวลชน แต่ทั้งนี้ก็เป็นงานที่ค่อนข้างหนักเพื่อให้แคมเปญเป็นไปตามที่ทางพรรคตั้งเป้าหมายไว้ ชะตากรรมส่วนใหญ่ของผู้สมัครชิงตำแหน่งจะขึ้นอยู่กับลูกจ้างชั่วคราวอย่างมาก ตั้งแต่ขัดห้องน้ำที่สำนักงานใหญ่จนถึงการเดินไปเคาะประตูบ้าน ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ชี้ว่าในเดือน ต.ค. 2012 ซึงเป็นเดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี หน่วยงานต่าง ๆ ของผู้ชิงตำแหน่งมีการจ้างพนักงานรวมกัน 19,073 คน ทั้งนี้เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง ไม่ว่าคนที่เหล่าพนักงานชั่วคราวทำงานให้จะชนะหรือแพ้ก็ตาม หลายคนต้องกลับไปว่างงานอีกครั้ง
ในฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 ช่วงที่ยังเป็นการชิงตำแหน่งตัวแทนของพรรค มีบริษัทที่ปรึกษาของพรรครีพับลิกันที่ไม่มีใครรู้จักได้จ่ายเงิน จ้างบริษัทวิจัย Fusion GPS เพื่อขุดคุ้ยเรื่องไม่ดีของโดนัลด์ ทรัมป์ มาแฉในช่วงโค้งสุดท้ายของการชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคในเดือน เม.ย. 2016 ทั้งนี้อาชีพขุดคุ้ยเรื่องไม่ดีของฝั่งตรงข้าม (opposition research) เป็นอาชีพปกติในการเลือกตั้งสหรัฐฯ อยู่แล้ว แม้จะไม่สามารถล้มทรัมป์ได้ แต่จากนั้นไม่กี่วันมือกฎหมายของฮิลลารี คลินตัน และกรรมการบริหารพรรคเดโมแครตได้เข้าไปจ้างบริษัทนั้นต่อจนถึงไม่กี่วันก่อนเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2016 ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็เป็นผู้ขุดคุ้ยทั้งพฤติกรรมส่วนตัวและความเชื่อมโยงกับเครือข่ายนักธุรกิจรัสเซียของทรัมป์
ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปี 2016 มีตัวอย่างการจ้างงานระหว่างการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ เช่น จ้างบริษัทออกแบบเว็บไซต์และการตลาด Giles-Parscale Inc. โดยจ้างงานเพิ่มประมาณ 100 ตำแหน่งจากเดิมที่มีพนักงาน 60 คน ดำเนินการช่วงแคมเปญของทรัมป์ตั้งแต่รอบชิงตัวแทนภายในพรรคจนถึงทรัมป์ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้นำประเทศ โดยทีมทรัมป์จ่ายให้บริษัทนี้เกือบ 2 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ได้จ้างบริษัทการตลาดอีกแห่ง 17.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, จ้างบริษัทรับทำเสื้อผ้า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ก็มีเงินไหลเข้าสู่ ธุรกิจครอบครัวของเขา 8.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเงินที่มาจากผู้สนับสนุนเขาทั่วประเทศ แบ่งเป็นค่าเช่าสำนักงานสำหรับแคมเปญในอสังหาริมทรัพย์ของเขา ค่าอาหารและสถานที่สำหรับจัดอีเวนท์และจัดประชุม และค่าจ้างพนักงานในธุรกิจของเขาที่มีตั้งแต่ดูแลความปลอดภัยในการไปหาเสียงในที่ต่าง ๆ จนถึงเขียนบทสุนทรพจน์ให้ภรรยาเขา โดยเงินที่เข้าธุรกิจของเขาคิดเป็นประมาณ 7% ของค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของทรัมป์ ยังไม่พอแค่นั้น Forbes รายงานเมื่อเดือน ธ.ค. 2018 ว่าการลงเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งของเขาในปี 2020 หลายบริษัทของทรัมป์คิดค่าใช้จ่ายรวมกันไปแล้ว 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเงินที่ผู้สนับสนุนเขาทั่วประเทศได้บริจาคไว้ สำหรับทำแคมเปญหาเสียงที่จะเกิดขึ้น แบ่งเป็นค่าเช่าต่างๆ ค่าโรงแรม ค่าทำอาหาร ค่าการปรึกษาทางกฎหมาย แต่ตัวทรัมป์เองไม่ได้ออกเงินเลยสำหรับการชิงตำแหน่งอีกครั้งของเขา โดยเมื่อปี 2000 ทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Fortune ไว้ว่าเป็นไปได้อย่างมากที่เขาจะเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกที่ลงแข่งขันแล้วทำเงินไปด้วย
สำหรับการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ย. 2018 เป็นเลือกตั้งกลางเทอมที่มีการใช้จ่ายเงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ มีการคาดการณ์ว่าทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันใช้จ่ายรวมกันถึง 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าปี 2014 ถึง 35% เป็นการใช้จ่ายเงินที่มีอยู่แล้วของพรรคเดโมแครตถึง 1.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเงินของพรรครีพับลิกันใช้ไป 890 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินจากการระดมทุนของทั้งสองฝั่งใช้จ่ายรวมกันกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าเมื่อปี 2014 ถึง 60% โดยเดโมแครตระดมทุนได้มากกว่ารีพับลิกัน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง การใช้จ่าย ในพื้นที่แข่งขันสูงเป็นการจ่ายให้กับสถานีโทรทัศน์มากที่สุด ส่วนในภาพรวมจ่ายให้กับโฆษณาในโลกดิจิตัลมากที่สุด ซึ่ง Facebook ได้กินสัดส่วนมากที่สุด แล้วเดโมแครตก็ได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ในวุฒิสภารีพับลิกันจากที่ครองเสียงข้างมากอยู่แล้วก็ยังแย่งที่นั่งจากเดโมแครตมาได้อีกสองที่นั่ง
ในสหรัฐฯ ยังมีธุรกิจรับจ้างหาเสียงชื่อบริษัท NationBuilder โดย Jim Gilliam เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็น อุตสาหกรรมรับจ้างทำแคมเปญออนไลน์สำหรับการเลือกตั้งโดยเฉพาะ เขาเริ่มธุรกิจนี้ในปี 2009 ที่ลอสแองเจลิส ตามข้อมูลของบริษัท เขาก่อตั้งด้วยเงินของเขาเองทั้งหมด 250,000 ดอลลาร์ ณ เดือน ธ.ค. 2018 เขาให้บริการกับนักการเมืองไปแล้วกว่า 9,000 คนใน 112 ประเทศ ลูกค้าของเขามีตั้งแต่เอมมานูเอล มาครง ที่ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส จนถึงพรรคการเมืองขนาดกลางที่ไม่มีใครรู้จักในแคนาดา และที่มลรัฐโอไฮโอยังมี บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ทางการเมือง Burges & Burges Strategists ที่รวมถึงให้คำปรึกษาด้านการจัดการวิกฤตทางการเมือง (crisis management), กลยุทธ์ในการหาเสียงกับประชาชนรากหญ้า, การซื้อสื่อเพื่อโฆษณา, อบรมเรื่องเกี่ยวกับสื่อ, การระดมทุน และยังมีบริษัทอื่น ๆ ในสหรัฐฯ เกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการเมืองอีกอย่างน้อย 21 บริษัท
นอกจากนี้ยังเคยมีธุรกิจที่ทำการตลาดเกาะกระแสช่วงก่อน เลือกตั้งสหราชอาณาจักรปี 2010 บริษัทมันฝรั่งทอดกรอบ Real Crisps ได้ทำการตลาดโดยเปิดตัวถุงมันฝรั่งแบบมีจำนวนจำกัด โดยสร้างหน้าเว็บหนึ่งขึ้นมาในเว็บไซต์ของบริษัท ให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตร่วมกันลงคะแนนว่าอยากได้ถุงมันฝรั่งสีอะไรในพื้นที่ของพวกเขา ซึ่งสีของถุงก็เป็นสีประจำแต่ละพรรคและมีใบหน้านักการเมืองตัวแทนพรรคที่ลุ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังมีวิดีโอให้ผู้เข้าเว็บเลือกดูได้เอง เสร็จแล้วก็จับฉลากลุ้นของรางวัลจากบริษัท แล้วจึงจะสามารถลุ้นผลโพลล์ในพื้นที่ของผู้เข้าเว็บที่จัดโดยการตลาดครั้งนี้