ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรแชะสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณวัดไชยวัฒนาราม อ.เมือง, วัดอินทาราม และประตูระบายน้ำคลองตานึ่ง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ตลอดจนสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยมี นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
รมว.นฤมล กล่าวว่า จากการรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำ ให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ เหมือนในปี 2554 แน่นอน เนื่องจากปริมาณน้ำยังสามารถเก็บกักได้เพิ่ม โดยที่สถานีบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,044 ลบ.ม/วินาที คิดเป็น 70% ของความจุ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และประสานกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เตรียมแผนรองรับหากเกิดพายุฝนตกหนักในกรุงเทพฯ โดยเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางบริเวณคลองต่างๆ เพื่อการระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และประสานกับกระทรวงมหาดไทยเรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง ได้เตรียมแผนงาน/กิจกรรมเพื่อฟื้นฟูเกษตรกรหลังน้ำลด งบประมาณ 3,700 ล้านบาท พื้นที่เกษตรเสียหายประมาณ 1 ล้านไร่ เช่น สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว พืชไร่ พืชสวนอื่น ๆ รวมทั้งพันธุ์สัตว์น้ำ และช่วยเหลือภาคปศุสัตว์ที่ได้รับความเสียหาย คาดว่าจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในสัปดาห์นี้ (8 ต.ค.67)
ทั้งนี้ จากข้อมูลกรมชลประทาน รายงานว่า ปัจจุบัน (5 ต.ค.67) พื้นที่ทางตอนบนยังคงมีฝนตกอยู่ ส่งผลให้มีปริมาณสะสมไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง โดยที่สถานีวัดระดับน้ำ C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,367 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มสูง ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามลำดับ
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด ซึ่งการระบายน้ำในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำในพื้นที่
1) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณคลองบางบาล และบริเวณแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จังหวัดอ่างทอง บริเวณคลองโผงเผง และ อ.ป่าโมก วัดไชโย อ.ไชโย
2) จังหวัดสิงห์บุรี บริเวณ อ.พรหมบุรี อ.เมือง และ อ.อินทร์บุรี
3) จังหวัดชัยนาท บริเวณ อ.วัดสิงห์ และ ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 60-70 เซนติเมตร
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 2567 ประสบภัย 6 อำเภอ ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ ได้แก่ อำเภอเสนา บางบาล ผักไห่ บางไทร พระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางปะอิน พื้นที่ได้รับผลกระทบ 16 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 14 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น 2 ไร่
จากนั้น รมว.เกษตรฯ และคณะ เดินทางไปยังสถานีสูบน้ำและอาคารประกอบ โครงการสถานีสูบน้ำ ถาวร ปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จังหวัดปทุมธานี เพื่อติดตามความก้าวหน้าการการก่อสร้าง ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ สามารถสูบน้ำได้เพิ่มขึ้น 120 ลบ.ม./วินาที แก้ปัญหาอุทกภัยและป้องกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมพื้นที่จังหวัดสระบุรี ปทุมธานี กรุงเทพและปริมณฑล ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (2569-2571)