เนธาเนียล เกลเชอร์ ประธานฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเฟซบุ๊ก เผยแพร่รายงานการลบบัญชีซึ่งทำผิดมาตรฐานการใช้งานชุมชนเฟซบุ๊ก Removing Coordinated Inauthentic Behavior in Thailand, Russia, Ukraine and Honduras โดยระบุว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้ลบบัญชีปลอม เพจปลอม และกลุ่มในเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับบัญชีปลอมเหล่านั้นใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย รัสเซีย ยูเครน และฮอนดูรัส
เฟซบุ๊กไม่ได้ระบุว่ากลุ่มผู้สร้างบัญชีปลอมและเพจปลอมที่พบใน 4 ประเทศเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกันหรือไม่ แต่ทั้งหมดมีการกระทำที่คล้ายกัน นั่นคือการสร้างเครือข่ายบัญชีเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา เพื่อจงใจชี้นำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนของผู้จัดการ รวมถึงสิ่งที่ทำ โดยเฟซบุ๊กพยายามดำเนินการตรวจสอบและหยุดยั้งการกระทำของผู้สร้างบัญชีปลอมเหล่านี้ เพราะไม่ต้องการให้บริการของเฟซบุ๊กถูกนำไปใช้ในการครอบงำผู้คน แต่ย้ำว่าการลบทิ้งพิจารณาจากพฤติกรรมของกลุ่มผู้สร้างบัญชีปลอมเป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาจากเนื้อหาที่เผยแพร่
ในกรณีของประเทศไทย เฟซบุ๊กลบบัญชีปลอม 12 บัญชี และเพจอีก 10 เพจที่ผู้สร้างบัญชีปลอมเหล่านี้เป็นผู้บริหารจัดการ มีจำนวนผู้ติดตามเพจมากสุดประมาณ 38,000 ราย โดยพบว่า 'พฤติกรรมบิดเบือน' เหล่านี้เกิดขึ้นในไทย แต่การเผยแพร่ข้อมูลพุ่งเป้าไปยังความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังเครือข่ายขนาดเล็กแห่งนี้สร้างบัญชีปลอม ตัวตนปลอม เพื่อดูแลเพจที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่ข้อมูล กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กให้เชื่อมโยงไปยังบล็อกอื่นที่อยู่นอกแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก และบล็อกดังกล่าวยังอ้างตัวว่าเป็นแหล่งรวม 'รายงานข่าว' อีกด้วย
รายงานของเฟซบุ๊กระบุว่า บล็อกที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเฟซบุ๊กปลอมที่ถูกลบทิ้ง มักเผยแพร่บทความแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ การประท้วงในฮ่องกง ทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มนักกิจกรรมที่หนุนประชาธิปไตยในประเทศไทย
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังกล่าวด้วยว่า แม้กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังบัญชีปลอมเหล่านี้พยายามปิดบังตัวตนที่แท้จริง แต่การตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลของเฟซบุ๊กพบว่า กิจกรรมเหล่านี้เกี่ยวพันกับบุคคลหนึ่งซึ่งอยู่ในประเทศไทย และเกี่ยวพันกับ New Eastern Outlook องค์กรสื่อในกรุงมอสโกที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซีย
ขณะเดียวกัน 'วอยซ์ออนไลน์' ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมไปยังบล็อกที่เกี่ยวโยงกับบัญชีปลอมและเพจปลอม (LD) ที่เฟซบุ๊กระบุว่า 'บิดเบือนความจริง' พบบล็อกดังกล่าวใช้ชื่อว่า Land Destroyer เผยแพร่บทความต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ และระบุในหน้า About Us ว่า บล็อกนี้ดำเนินการโดย Tony Catalucci นักวิเคราะห์อิสระชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งประจำการอยู่ในประเทศไทย พร้อมแจ้งบัญชีทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กให้แก่ผู้ที่สนใจติดตามข่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อความในบล็อกย้ำว่า Tony Catalucci ไม่ให้สัมภาษณ์ทางวิดีโอหรือบันทึกเสียงใดๆ แต่สะดวกให้ติดต่อทางอีเมลเท่านั้น และภายในบล็อกยังปรากฎโลโก้ของ New Eastern Outlook (NEO) ซึ่งเฟซบุ๊กระบุว่าเป็นองค์กรสื่อในรัสเซีย
ส่วนบทความล่าสุดที่เผยแพร่ใน Land Destroyer มีชื่อว่า US Puppet Wants Help Making Thailand Like America ซึ่งกล่าวถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยกล่าวหาว่าเขาเป็น 'หุ่นเชิดของสหรัฐฯ' ที่ต้องการความช่วยเหลือในการทำให้ไทยเป็นเหมือนอเมริกา และบทความอื่นๆ ในหน้าแรก เป็นการพูดถึงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่พยายามสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ตุรกี รวมถึงบทความซึ่งพาดพิงสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษว่า 'รายงานความจริงเพียงบางส่วน' กรณีรัฐบาลจีนใช้แรงงานชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง
เมื่อสืบค้นเพิ่มเติมพบว่า สำนักข่าวอิศรา โพสต์ทูเดย์ และเมเนเจอร์ออนไลน์ เคยนำบทความของ Tony Catalucci ไปอ้างอิงเช่นกัน บ่งชี้ว่าสื่อมวลชนในไทยจำนวนหนึ่งติดตามข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวพันกับบัญชีปลอมในเฟซบุ๊กที่เพิ่งถูกลบไป
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กได้ระบุในมาตรฐานชุมชนว่า เหตุผลในการห้ามการบิดเบือนความจริงคือ "เราเชื่อว่าผู้คนจะมีความรับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของตนเองมากขึ้น เมื่อใช้ข้อมูลระบุตัวตนที่แท้จริง จึงเป็นเหตุผลที่เราขอให้ผู้ใช้งานใช้ชื่อที่แท้จริงของตนเองบน Facebook นโยบายตัวตนที่แท้จริงของเรามุ่งหวังที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยซึ่งผู้คนสามารถไว้ใจและเชื่อถือกันได้"
ส่วนการ 'บิดเบือนความจริง' หรือ misrepresentation ตามมาตรฐานชุมชนของเฟซบุ๊ก หมายถึง 'การแสดงตัวตนอันเป็นเท็จ' ซึ่งหมายถึงการใช้ชื่อที่ไม่เป็นไปตามนโยบายชื่อ ให้วันเกิดปลอม และใช้โปรไฟล์ในทางที่ผิด เช่น สร้างโปรไฟล์สำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่าสิบสามปี มีหลายบัญชีผู้ใช้ การสร้างโปรไฟล์ปลอม หรือปลอมเป็นบุคคลอื่นด้วยการใช้รูปภาพที่เจตนาหลอกลวงผู้อื่นอย่างเปิดเผย หรือสร้างโปรไฟล์ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นบุคคลหรือเป็นตัวแทนของบุคคลหรือองค์กรอื่น หรือมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังนี้ เฟซบุ๊กถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้งานและหน่วยงานรัฐบาลในหลายประเทศเช่นกันว่าไม่ดำเนินการกับบัญชีปลอมที่เผยแพร่ข้อมูลปลอมได้อย่างทันท่วงที และในขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กก็เพิ่งเจรจาไกล่เกลี่ยกับคณะกรรมาธิการการค้าแห่งรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FTC) กรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 87 ล้านคนได้รับผลกระทบ ข้อมูลรั่วไหลไปยังหุ้นส่วนธุรกิจของเฟซบุ๊กที่ลอบเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ได้รับความยินยอม และเฟซบุ๊กจะต้องจ่ายค่าปรับราว 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายค่าปรับที่แพงเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: