ไม่พบผลการค้นหา
นักกิจกรรมเพื่อสิทธิสัตว์ไม่พอใจหลังจีนอนุญาตให้ใช้ดีหมีในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และกังวลว่าวิธีนี้จะบ่อนทำลายความพยายามยุติการค้าสัตว์ป่าที่ถูกชี้ว่าเป็นต้นตอการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ไปทั่วโลก

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ทางการจีนเพิ่งห้ามการขายสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหาร โดยอ้างความเสี่ยงของเชื้อโรคที่จะแพร่จากสัตว์ไปสู่มนุษย์ แต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนได้ออกแนวทางแนะนำให้ใช้ 'Tan Re Qing' ยาฉีดที่มีผงดีหมี เขาแพะ และสมุนไพรอีก 3 ชนิดเป็นส่วนประกอบในการรักษาผู้ป่วยวิกฤตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ยาชนิดนี้ถือเป็น 1 ใน 6 ผลิตภัณฑ์ยาแผนจีนที่อยู่ในแนวทางดังกล่าว โดยในดีหมีมีกรดเออร์โซดีออกซีโคลิกเป็นสารออกฤทธิ์ ซึ่งสารนี้ถูกนำไปใช้รักษานิ่วในถุงน้ำดีและโรคตับ แต่ก็ไม่มีข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันถึงประสิทธิภาพในการรักษาโควิด-19

จีนใช้ทั้งการแพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบันในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่คร่าชีวิตประชาชนในประเทศไปกว่า 3,300 ราย และมีผู้ติดเชื้อกว่า 83,000 ราย อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่านักกิจกรรมเพื่อสิทธิสัตว์มองว่าการอนุญาตให้ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในการรักษาเป็นเรื่องน่าสลดและย้อนแย้ง เมื่อมองว่าต้นกำเนิดของโรคนี้เกี่ยวข้องกับการค้าและบริโภคสัตว์ป่า โดย 'ไบรอัน เดลี' โฆษกของ 'แอนิมอลส์ เอเชีย ฟาวเดชั่น' (Animals Asia Foundation) ระบุว่าเราไม่ควรพึ่งพาผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าเช่นดีหมี มาใช้เป็นวิธีต่อสู้กับการระบาดของไวรัสที่ดูเหมือนว่ามีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ป่า การส่งเสริมให้ใช้ดีหมีรักษาโรคยิ่งมีแนวโน้มให้เพิ่มปริมาณการใช้ ซึ่งไม่เพียงผลกระทบต่อหมีที่ถูกขังกรงเอาไว้ตามฟาร์มดีหมีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหมีที่อยู่ในป่าด้วย   

เชื่อกันว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้มาจากค้างคาว แต่นักวิจัยสันนิษฐานว่าเชื้ออาจแพร่สู่มนุษย์ผ่านโฮสต์ (host) ที่เป็นสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่หน่วยงานควบคุมโรคของจีนระบุว่า การค้าสัตว์ป่าในตลาดเมืองอู่ฮั่นเป็นแหล่งกำเนิดของการระบาดใหญ่ของไวรัสครั้งนี้ ขณะที่นักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้กล่าวหาจีนมาอย่างยาวนานถึงการปล่อยให้มีการค้าสัตว์ป่าเพื่อประกอบเมนูหายาก และเพื่อนำไปผลิตยาแผนดั้งเดิมที่ไม่มีการยืนยันประสิทธิภาพด้วยวิทยาศาสตร์โดยชี้ว่านี่เป็นการค้าที่โหดร้ายทารุณ 

รายงานระบุว่า ตอนนี้ทั่วประเทศจีนมีหมีประมาณ 20,000 ตัว ที่ถูกขังอยู่ในกรงเล็กๆ ภายใต้สภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในเรื่องการผลิตยาแผนดั้งเดิม ซึ่งองค์กร 'เวิลด์ แอนิมอล โพรเทกชั่น' (World Animal Protection) ประเมินว่ามูลค่ารวมทั้งหมดของตลาดเภสัชภัณฑ์ดีหมีอยู่ที่กว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการทำฟาร์มดีหมีนั้นถูกกฎหมายในจีนแต่ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์หรือยารักษาที่ทำจากดีหมีได้ เนื่องจากถูกแบนโดยอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชพรรณจากป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือ CITES ที่จีนก็ลงนามในอนุสัญญานี้ด้วย

ขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอเพื่อสิทธิสัตว์อย่าง 'แทรฟฟิก' (Traffic) เผยว่าการค้าดีหมีนั้นแพร่หลายอยู่ทั่วเอเชีย แม้เป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศส่วนใหญ่ก็ตาม ซึ่งความจริงแล้วกรดเออร์โซดีออกซีโคลิกสามารถสังเคราะห์ได้แล้วในห้องแล็บ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ดีหมีมาเป็นส่วนประกอบในตัวยา 

ทั้งนี้ การประกาศของจีนที่ห้ามค้าและบริโภคสัตว์ป่าเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้รับเสียงชื่นชมจากนักสิ่งแวดล้อม โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนก็เคยใช้มาตรการคล้ายกันมาแล้วหลังการระบาดของโรคซาร์ส เมื่อช่วงต้นทศววรษ 2000 ซึ่งมาจากไวรัสโคโรนาเช่นกัน แต่ในภายหลังการค้าและบริโภคสัตว์ป่าทั้งค้างคาวและงูก็กลับมาอีกครั้ง 

เซินเจิ้นห้ามบริโภคสุนัขและแมว มีผลเดือน พ.ค. นี้

อย่างไรก็ตาม มาตรการห้ามการค้าและบริโภคสัตว์ป่าของจีนครั้งนี้ถูกมองว่ามีสัญญาณจริงจังมากขึ้น โดยรัฐบาลมณฑลและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศได้เดินหน้าบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว แต่ที่เมืองเซินเจิ้นทางตอนใต้ของประเทศได้ขยายคำสั่งห้ามครอบคลุมไปถึงการบริโภคเนื้อสุนัขและแมวด้วย โดยกฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พ.ค. นี้ 

รัฐบาลเมืองเซินเจิ้นระบุว่า สุนัขและแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ การห้ามบริโภคสุนัข แมวและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เป็นเรื่องปกติในประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงฮ่องกงและไต้หวัน การห้ามครั้งนี้จึงเป็นการตอบสนองต่อความต้องการและจิตวิญญาณแห่งอารยธรรมของมนุษย์ 

อ้างอิง AFP/Reuters/BBC