ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอแนวทางแก้ปัญหามะพร้าวตกต่ำให้คณะกรรมการนโยบายพืชน้ำมันและน้ำมันพืชพิจารณาการกะเทาะเนื้อมะพร้าวต้องกำหนดพื้นที่ให้ชัด โรงงานใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบแสดงใบอนุญาต รง.4-รง.5 คาดจะมีการเรียกประชุมต้นเดือน ก.ย. นี้

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมหารือแก้ปัญหามะพร้าวราคาตกต่ำ ร่วมกับหน่วยงานรัฐเอกชนและเกษตรกรว่า ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนวทางวิธีการบริหารจัดการมะพร้าวในภาวะราคาตกต่ำ ได้แก่ การขนย้ายมะพร้าวนำเข้า และมะพร้าวผลิตในประเทศสำหรับมะพร้าวผลแก่ตั้งแต่ 7,000 กิโลกรัมขึ้นไป เนื้อมะพร้าวขาวตั้งแต่ 2,500 กิโลกรัมขึ้นไป และเนื้อมะพร้าวแห้งตั้งแต่ 1,500 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องมีใบอนุญาตการขนย้ายจากแหล่งที่มาและปลายทางใน 8 จังหวัดติดชายแดนควบคุมพื้นที่ 

การกะเทาะเนื้อมะพร้าวโดยทุกโรงงานต้องกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน ผู้นำเข้าและผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบต้องแสดงใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน (รง.4) และใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.5) โดยจะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอที่ประชุมอนุกรรมการมะพร้าวที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน โดยคาดว่าจะเรียกประชุมต้นเดือน ก.ย. นี้ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพืชน้ำมันและน้ำมันพืชที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ส่วนกรณีเกษตรกรมีความกังวลในเรื่องการนำเข้าว่าจะเป็นสาเหตุทำให้ราคามะพร้าวในประเทศตกต่ำนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลการนำเข้ามะพร้าวช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ (2562) ในกรอบอาฟต้า (AFTA) ที่เสียภาษีเป็นร้อยละ 0 พบว่าปีนี้ยังไม่มีนำเข้า แต่ในส่วนการนำเข้ากรอบองค์การการค้าโลก (WTO) นอกโควต้าที่เสียภาษีนำเข้าร้อยละ 54 มีการนำเข้า 52,605 ตันและพบว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การนำเข้ามะพร้าวใน 2 กรอบลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นจึงร้องขอให้เข้มงวดในเรื่องการลักลอบนำเข้า เพราะราคามะพร้าวจากต่างประเทศต่ำกว่าไทย 2 บาทต่อผล

ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานคาดการณ์ผลผลิตมะพร้าวในประเทศปี 2562 มีปริมาณ 874,000 ตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (2561) ร้อยละ 2.51 ขณะที่ความต้องการใช้มีปริมาณ 1.04 ล้านตัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง