หลังรัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือทยอยอพยพแรงงานไทย จากพื้นที่การสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล นับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา
จากข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ (17 ต.ค.) มีการอพยพคนไทยทั้งหมด 254 คน จากการลงทะเบียนผู้ขออพยพกลับราว 7,500 คน โดยรัฐบาลตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้
‘วายุ อ้ายเยอ’ วัย 26 ปี ชาว จ.เชียงราย แรงงานไทยในเมืองโอฮาส ทางตอนใต้ ประเทศอิสราเอล หนึ่งในผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ และเดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 15 ต.ค.เล่าถึงสถานการณ์ที่เขาต้องเผชิญภาวะสงคราม และความลำบากในการใช้ชีวิตแรงงานในต่างแดนกับ ‘วอยซ์’ ว่า
“ในวันที่ 7 ต.ค. วันแรกของสงคราม ตอนนั้นก็ไม่คิดอะไร เพราะมันเกิดขึ้นบ่อย” แต่ผ่านไปเพียงข้ามคืน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ ‘วายุ’ รู้สึกถึงภัยสงครามกำลังใกล้ตัวเขาแล้ว
“วันที่สองผมเริ่มได้ยินข่าวว่ามีคนไทยถูกจับเป็นตัวประกัน หลังจากนั้นผมเริ่มติดต่อไปยังสถานทูต ติดต่อกรมแรงงาน เพราะพื้นที่ของผมมันเริ่มร้ายแรง ทางสถานทูตบอกให้รอ ก็รออยู่ประมาณ 3-4 วัน”
ห่างจากแคมป์คนงานของวายุ ราว 2 กิโลเมตรเริ่มมีข่าวแรงงานไทยอีกแคมป์เสียชีวิต 2 คน จากการโดนระเบิด เนื่องจากนายจ้างให้ไปทำงานขณะที่สงครามยังไม่สงบ
“ตอนนั้นก็ยังไม่มีใครมาช่วยออกจากพื้นที่ ผมก็ไปลงคลิปในติ๊กต๊อก มีนักข่าวมาบอกว่าเดี๋ยวจะช่วยติดต่อให้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก ตอนนั้นผมก็ไปลงทะเบียนว่าจะขอกลับไทยในวันแรกๆ ที่เขาประกาศเลย”
‘วายุ’ เป็นหนึ่งในแรงงานจำนวน 100 คน ที่อยู่ในเที่ยวบินอพยพรอบที่ 3 และปัจจุบันเขากลับสู่บ้านเกิดอย่างปลอดภัย ที่ จ.เชียงราย
เขาเล่าถึงประสบการณ์ที่เขาได้เจอในการค้าแรงงานที่ต่างแดน ในการทำงานปลูกมะเขือเทศในอิสราเอล ด้วยการชักชวนจากคนในหมู่บ้าน ที่นิยมการไปทำงานที่ต่างประเทศมาแล้วหลายรุ่น
ส่วนใหญ่หากอยู่ไทย หมู่บ้านที่เขาอยู่จะทำงานรับจ้างได้ค่าแรง 300-500 บาทต่อวันซึ่งไม่พอกับรายจ่าย จึงชักชวนกันไปสมัครที่กรมการจัดหางาน
“จริงๆ ผมจะไปเกาหลี แต่มันไปยากเพราะมีเรื่องผีน้อย เราก็ไม่มีทางเลือกเลยต้องไปทำที่อิสราเอล”
วายุตัดสินใจกู้เงิน 120,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในอิสราเอล เขาคำนวณตามฐานเงินเดือนจากการสอบถามรุ่นพี่ในหมู่บ้านว่าที่อิสราเอล การทำงานในเวลาปกติจะเริ่มตั้งแต่เวลา 06.30-14.30 น. หลังจากนั้นจะเป็นการทำโอทีรวมแล้วจะตกที่เดือนละประมาณ 50,000 บาทซึ่งเพียงพอในการหาเงินมาใช้หนี้
“รู้ว่าในประเทศเขามีภัยสงคราม แต่เราก็เลือกไม่ได้ว่าจะไปทำพื้นที่ปลอดภัย อยู่ไทยได้แค่สี่ห้าร้อย มันต้องจ่ายในเรื่องครอบครัว และมีลูกที่ต้องไปเรียน”
วายุทำงานได้ประมาณ 10 วัน หลังเดินทางจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2566 ก่อนที่จะเจอภัยสงคราม โดยยังไม่เห็นเงินที่จะถูกนำมาใช้เพื่อล้างหนี้เก่าและใหม่เกือบ 5 แสน ตามความตั้งใจ
“ผมตั้งใจว่าจะทำงานสักครึ่งปีเพื่อเก็บเงินมาใช้หนี้ เพราะอยู่บ้านผมก็มีหนี้เก่ารวมที่กู้มาก็ 5 แสน ถ้ามีรายได้แค่ 300-500 บาท มันต้องเก็บเงินกันอีกกี่ปี ถึงจะใช้หนี้หมด”
สำหรับสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานในแคมป์ของวายุ เขาเล่าว่าระบบรักษาความปลอดภัย มีเพียงบังเกอร์ที่อยู่รอบๆ ไว้ให้คนงานเข้าไปหลบ เพื่อป้องกันสะเก็ดระเบิด
“ที่ผ่านมามีแค่การโจมตีทางอากาศ เราก็พอไปหลบได้ตามบังเกอร์ แต่รอบนี้มันแรงเพราะมีการโจมตีกันภาคพื้นดิน” วายุเล่าความรุนแรงที่ยกระดับ
สถานที่ทำงานที่เป็นสวนมะเขือเทศ วายุเล่าว่าไม่มีระบบป้องกันใดๆ เวลามีการสู้รบกันแรงงานก็ทำได้แค่หมอบ ถ้าระเบิดลงจุดนั้นก็คือตาย
ในส่วนการดูแลของนายจ้างซึ่งเป็นคนอิสราเอล จากประสบการณ์ของวายุเขาตอบทันทีว่าไม่ดี หลังเขาเข้าไปทำงาน แม้แต่หมอนใบเดียวในที่พักเขายังไม่ได้รับ และในตอนเกิดการสู้รบตลอด 4-5 วันที่ผ่านมา เขาไม่เห็นหน้านายจ้างเลย
“ส่วนมากเขาไม่สนหรอก เขาต้องการแค่เงิน คุณทำงานได้เขาก็เอา คุณทำงานไม่ได้เขาก็ไล่ให้เราไปสมัครที่อื่น แล้วมันพูดอะไรไม่ได้ เพราะเราอยู่ในประเทศเขา เราก็กลัว”
จากข้อจำกัดที่ไม่มีทางเลือก ทำให้แรงงานหลายคนต้องจำใจก้มหน้าทำงานต่อไป ถ้าต้องการย้ายงานมีเพียงทางเลือก 2 ทางคือ
1.ย้ายงานแบบถูกกฎหมาย นายจ้างจะส่งแรงงานไปที่บริษัทแม่ แล้วย้ายแรงงานไปตามบริษัทในเครือ
2.ย้ายงานแบบผิดกฎหมาย คือไปสมัครเอง ซึ่งส่วนใหญ่นายจ้างจะไม่พาไปทำวีซ่า เรียกง่ายๆว่า อยู่แบบ ‘ผีน้อย’ ถ้าตายจากสงครามก็ไม่ได้อะไร
ในอนาคตแม้เหตุการณ์จะคลี่คลาย วายุยืนยันชัดเจนว่าเขาจะไม่กลับไปทำงานที่อิสราเอลอีก เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาจะโชคดีรอดชีวิตกลับมาอีกไหม
“ผมวางแผนไว้ว่าต้องหางานที่ไทยไปก่อน เพราะเรามีภาระเรื่องหนี้ เรื่องครอบครัว แล้วจะไปเรียนภาษาเกาหลี เพื่อรอโอกาสที่จะได้ไปหางานทำ”
เช่นเดียวกับ ‘สมชาย บุตรศรี’ อายุ 45 ปี ชาว จ.ชัยภูมิ แรงงานปลูกผลไม้ในเมืองเยชา ติดชายแดนด้านฉนวนกาซา หนึ่งในเพื่อนร่วมชะตากรรมในเที่ยวบิน ที่เดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 15 ต.ค. เล่านาทีหนีภัยสงครามกับ ‘วอยซ์’ ว่า “พวกผมเข้าไปหลบในที่ปลอดภัยจากคำแนะนำของสถานทูตและนายจ้าง ประมาณ 3 วัน ก่อนที่ทหารอิสราเอลเข้ามาช่วยเหลือ”
เขาขยายเพิ่มว่าจากการสู้รบที่รุนแรงขึ้น เขาได้ติดต่อไปที่สถานทูตไทยและนายจ้างชาวอิสราเอล โดยนายจ้างได้แจ้ง 32 แรงงานไทยในแคมป์คนงานปลูกอะโวคาโด ให้ไปที่สถานที่หลบภัยให้เร็วที่สุด เนื่องจากกลุ่มฮามาสกำลังเดินเท้าเข้ามาตามหมู่บ้านแล้ว
“ตั้งแต่ผมอยู่มา 5 ปี 1 เดือน 15 วัน การรบครั้งนี้รุนแรงที่สุด” สมชาย วิเคราะห์จากประสบการณ์ “ที่ผ่านมาเขาจะรบกันปีละ 1-2 ครั้ง แต่เป็นการโจมตีกันทางอากาศ แต่รอบนี้เขาเปลี่ยนรูปแบบ ผมคุยกับคนอิสราเอลที่มาช่วยผมไว้ เขาว่าสงครามครั้งนี้คงยืดเยื้อไม่จบภายในปีนี้”
สมชายเหลือเวลาทำงานในอิสราเอลเพียง 45 วัน ก่อนครบกำหนดวีซ่าทำงาน 5 ปี 3 เดือน แต่สิ่งที่เขาต้องเผชิญทำให้เขารู้สึกว่าเป็นการนับถอยหลังที่บีบหัวใจเขามากที่สุด ในสภาวะสงครามครั้งนี้
“ต้องขอบคุณสถานทูตไทย ขอบคุณนายจ้าง ขอบคุณคนอิสราเอล” เขาย้ำถึงกลุ่มคนที่ทำให้เขารอดชีวิตกลับมาที่บ้านเกิด
สมชายตัดสินใจเดินทางไปทำงานที่อิสราเอลในช่วงปี 2561 โดยมีเหตุผลเรื่อง ‘เงิน’ หากยังก้มหน้าก้มตาทำไร่อ้อยต่อไป ก็คงไม่เพียงพอ ‘จ่ายหนี้’ ที่เขาต้องแบกไว้ จึงเกิดการชักชวนกันในหมู่บ้าน เพื่อไปสมัครทำงานที่กรมจัดหางาน ตามรอยรุ่นพี่ที่เคยไปทำแล้วเขาส่งเงินมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ต่างจากการทำไร่ทำนาที่ต้องมาคอยลุ้นฟ้าฝนสงสาร
“ผมรู้ว่ามันมีสงคราม แต่เราก็ต้องไปเพราะเงินที่ได้มาอย่างน้อยก็ 40,000-50,000 บาทต่อเดือน มันก็คุ้มที่จะต้องเสี่ยง” เขาคิดก่อนไปกู้เงินจำนวน 100,000 บาท เพื่อเป็นเงินในการใช้จ่ายในต่างแดน
ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี เขาสามารถปลดหนี้ทั้งหมดของครอบครัว และยังสร้างเนื้อสร้างตัวจากน้ำพักน้ำแรง ด้วยการส่งเงินมาให้ที่บ้านอย่างน้อยเดือนละ 45,000 บาท ท่ามกลางความขัดแย้งที่ลอยไปลอยมากลางอากาศ
“ส่วนใหญ่คนไทยนะที่มาทำงานเกษตร เพราะเคยทำไร่ทำนาและเงินมันดี ก็มาจากภาคอีสานกับภาคเหนือ แต่ในพื้นที่ผมมีการจ้างคนอาหรับจากกาซ่ามาเก็บผลไม้บ้างนะ แล้วเขาจะกลับบ้านทุกวันศุกร์”
เขาตั้งข้อสังเกตว่าการจ้างงานคนจากฝั่งปาเลสไตน์เข้ามาทำงาน อาจจะมีการแฝงตัวจากกลุ่มก่อการร้ายได้
“ผมว่ามันมีนะ เพราะเวลาเขาจะโจมตีกันทางอากาศ เขารู้หมดเลยว่าจุดตรวจกลุ่มทหารอิสราเอลอยู่ตรงไหนบ้าง” สมชาย สวมหมวกนักวิเคราะห์
ประสบการณ์ที่อยู่ในอิสราเอลมากว่า 5 ปี ทำให้สมชายสามารถใช้ภาษายิวได้บ้าง ซึ่งข้อดีตรงนี้มันก็ทำให้เขาทำงานกับนายจ้างได้อย่างราบรื่น โดยไม่เคยเปลี่ยนงานเลยตั้งแต่มาอยู่ต่างแดน
“ผมโชคดีที่เจอนายจ้างที่ดี ผมรอดชีวิตครั้งนี้มาได้ก็เพราะเขา” แรงงานจากแดนอีสาน ระลึกถึง
ในฐานะรุ่นพี่ที่เตรียมเกษียณการทำงานในอิสราเอล และกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในแดนอีสาน เขายังฝากไปยังกลุ่มแรงงานไทยด้วยความห่วงใยว่า
“มันอันตรายมากนะคนที่คอยถ่ายคลิปลงโซเชียลตอนเขาสู้รบกัน ไม่ควรไปอยู่ตรงนั้น เพราะมันมีสะเก็ดระเบิดที่ตกลงมาอีก แล้วการสู้รบกันล่าสุดได้ยินว่าคนไทยที่โดนจับไปเป็นตัวประกัน 1 คน คือคนที่กำลังถ่ายคลิปนี่แหละ ผมอยากวิงวอนว่าเราควรออกจากพื้นที่แล้วไปหาที่หลบภัยให้เร็วที่สุด”
‘นันทนา แซ่ลี’ ภรรยา ‘สมมา แซ่จ๊ะ’ ชาว จ.ตาก ซึ่งเป็นแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงบริเวณเข่าซ้าย บอกกับ ‘วอยซ์’ ว่า ขณะนี้สามีอาการดีขึ้นแล้ว ปัจจุบันรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพระเจ้าตากสินมหาราช จ.ตาก ซึ่งเป็นภูมิลำเนา โดยกระทรวงแรงงานได้ให้ประสานให้การช่วยเหลือในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด
เธอเล่าย้อนไปเมื่อหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล สามีได้โทรมาบอกว่าได้รับบาดเจ็บจากการโดนยิง ระหว่างเดินทางไปที่หลบภัย พร้อมกับเพื่อนแรงงานไทย ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.
ในส่วนการเดินทางไปทำงานในต่างแดนของสามี ได้ไปประกอบอาชีพด้านเกษตรกร รับผิดชอบในการปลูกแตงกวา และ มะเขือเทศ ตั้งแต่ปี 2564 โดยสมัครผ่านกรมการจัดหางาน สำหรับค่าแรงที่ได้รับอยู่ที่วันละ 1,458 บาท หรือ 160 นิวเชเกลอิสราเอล และจะส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 30,000-50,000 บาท
ด้านความเป็นอยู่สามีเคยเล่าให้เธอฟังว่า เหล่าแรงงานไทยจะพักอาศัยอยู่ในแคมป์คนงาน โดยมีนายจ้างเป็นคนอิสราเอล และมีหัวหน้าทีมเป็นคนไทย เพื่อจะประสานเวลามีปัญหาในการทำงาน
“พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้คงไม่ให้ไปแล้ว และตัวสามีก็ไม่อยากกลับไป เพราะมันอันตรายเกินไป” นันทนา บอกทิ้งท้าย
เช่นเดียวกับ ‘มานิต หอมสะอาด’ น้องชาย ‘วิชัย คำศรี’ แรงงานไทยจาก จ.อุบลราชธานี ที่เดินทางมาถึงประเทศไทยเป็นชุดแรก เมื่อวันที่ 12 ต.ค. บอกกับ ‘วอยซ์’ ว่าหลังทราบข่าวการสู้รับในอิสราเอล
ครอบครัวได้ประสานไปที่หน่วยงานของจังหวัดเพื่อขอให้มีการเข้าไปช่วยเหลือ ขณะที่พี่ชายบอกกับเขาว่ากลุ่มแรงงานไทยได้พยายามติดต่อไปยังสถานทูตไทยในอิสราเอล จนไปสู่การช่วยเหลือได้กลับมาที่บ้านเกิดเป็นชุดแรก
มานิตเล่าว่าพี่ชายเดินทางไปทำงานปลูกกล้วยตั้งแต่ปี 2565 ผ่านการชักชวนของคนในหมู่บ้าน ซึ่งนิยมไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลอยู่แล้ว โดยสมัครผ่านกรมจัดหางาน
ในส่วนรายได้ของพี่ชายนั้น เคยบอกกับเขาว่าได้รับค่าแรงเดือนละประมาณ 50,000 บาท และจะส่งเงินกลับบ้านผ่านทางญาติอีกคน เพื่อจุนเจือในครอบครัว เนื่องจากมีฐานะยากจน และหนี้สินอีกจำนวนหนึ่ง
“คนที่นี่ส่วนใหญ่ที่จะไปทำงาน ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามาอย่างน้อยก็หลักแสน”
มานิตเล่าเสริมว่ากลุ่มแรงงานที่มาจากภาคอีสาน จะอยู่ในแคมป์คนงาน และมีนายจ้างอิสราเอลคอยดูแล อย่างไรก็ตามในอนาคตนั้น หากพี่ชายจะตัดสินกลับไปทำงานหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวของพี่ชาย เพราะเขาก็มีหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบ
“แต่ทางครอบครัวได้ลงมติแล้วว่า ไม่อยากให้พี่ชายเขากลับไป เพราะเป็นห่วงกลัวได้รับอันตรายจากการสู้รบ” มานิต กล่าว