พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เดือนพ.ย.ได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา พบว่าการบริโภคออนไลน์ยังคงทรงตัว ขณะที่มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐได้รับความนิยมหลายโครงการ
ทั้งนี้ ผลการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคทั่วประเทศใน 7 กลุ่มอาชีพทุกอำเภอ จำนวน 8,072 คน พบว่า ผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ใกล้เคียงกับเดือนส.ค.ที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ซื้อเท่าเดิม 46.14% ซื้อลดลง 35.83% และซื้อเพิ่มขึ้น 18.03% ผู้ที่ซื้อเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานรัฐ และกลุ่มนักศึกษา โดยนิยมซื้อสินค้าและบริการผ่าน Platform สมัยใหม่ อาทิ Lazada, Shopee มากที่สุด คิดเป็น 46.45% รองลงมา คือ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ 25.32% และ Facebook 16.44%
สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์เฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ส่วนใหญ่มียอดซื้อต่ำกว่า 1,000 บาท/เดือน คิดเป็น 49.23% รองลงมา คือ 1,001 – 3,000 บาท 37.57% และมากกว่า 3,000 บาท 13.20% สอดคล้องกับเดือนสิงหาคมและช่วงรายได้ของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยผู้ที่มีรายได้สูงจะมีแนวโน้มซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ยต่อเดือนสูงมากกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า
ทั้งนี้ สนค.ประมาณการยอดการใช้จ่ายออนไลน์รายเดือนตามข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่า มีมูลค่าถึง 52,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 7.80% ของยอดการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมของประเทศ
สำหรับ สินค้าและบริการที่นิยมซื้อผ่านออนไลน์มากที่สุดยังคงเดิม ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 27.46% อาหารและเครื่องดื่ม 21.13% ผลิตภัณฑ์และของใช้ภายในบ้าน 18.69% และสุขภาพและความงาม/ของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 17.71 โดยเหตุผลหลักในการซื้อสินค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องความสะดวก 33.28% รองลงมา คือ ราคาถูก 20.30% และมีให้เลือกหลากหลาย 18.94%
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมและทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อได้อย่างมีนัยสำคัญได้ ซึ่ง สนค.ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวและอยู่ระหว่างการศึกษาพฤติกรรมราคาสินค้า/บริการออนไลน์ เพื่อกำหนดวิธีการจัดทำเงินเฟ้อให้สอดคล้องกับบริบทโลกใหม่โดยเร็ว
ส่วนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐ พบว่า โครงการคนละครึ่งได้รับความนิยมเข้าร่วมมากที่สุด คิดเป็น 50.18% ตามด้วยชิม ช้อป ใช้ 45.30% เราเที่ยวด้วยกัน 21.06% และช้อปดีมีคืน 7.70% ทั้งนี้ ประชาชนที่เข้าร่วมกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เห็นว่าช่วยลดค่าใช้จ่าย 39.63% สอดคล้องกับความต้องการ 22.81% สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้จริง 22.66% และเห็นว่าใช้สะดวก 14.90% ทั้งนี้ โครงการที่ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุด ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง สูงถึง47.95% ชิม ช้อป ใช้ 25.82% เพิ่มวันหยุดยาว 19.04% เราเที่ยวด้วยกัน 4.70% และช้อปดีมีคืน 2.49.%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :