ไม่พบผลการค้นหา
การซ้อมทรมานและอุ้มหาย จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ จะไม่เป็นปกติต่อไป เมื่อมีกฎหมายบังคับใช้แล้ว

ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ กฎหมายป้องกันการอุ้มหายฯ ที่ถูกผลักดันจากเครือข่ายภาคประชาชนมากว่า 10 ปี เพื่อเป็นเกราะป้องกันการละเมิดสิทธิและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในระหว่างนั้นได้เกิดคดีอีกหลายกรณี เฉพาะหลังรัฐประหารปี 2557 iLaw ระบุว่ามีผู้ถูกบังคับให้สูญหายและซ้อมทรมาน

อาทิกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง สุรชัย แซ่ด่าน, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ สหายภูชนะ, ไกรเดช ลือเลิศ หรือ สหายกาสะลอง, สยาม ธีรวุฒิ, วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินอย่าง เด่น คำแหล้ และ บิลลี่ พอละจี นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง 

นอกจากนี้ยังมีเคสอื้อฉาวในแวดวงสีกากี กรณี ‘ผู้กำกับโจ้’ ที่ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติด จนเสียชีวิตบนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ที่กฎหมายดังกล่าวถูกกลับมาพูดถึงและผลักดันอีกครั้ง

ซึ่งร่างกฎหมายอุ้มหายที่ร่างโดยกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2550 ถูกเสนอเข้าไปในสภาฯ เมื่อปี 2564 ก่อนฝ่าด่านผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ซึ่งกำหนดให้มีผลการบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ก.พ. 2566

แต่กว่าจะคลอดออกมาใช้ได้ทั้งฉบับ ระหว่างทางก่อนมีผลบังคับใช้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) ได้ทำหนังสือถึงให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประวิงเวลาในการบังคับใช้ เนื่องจากให้เหตุผลถึงเรื่องงบประมาณ ในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่ยังไม่มีความพร้อม จนนำไปสู่การออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย ใน 4 มาตรา ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

  • มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
  • มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

ทำให้ ส.ส.จำนวน 99 คน ที่นำโดย นิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาลและเป็น ส.ส.พลังประชารัฐ เข้าชื่อยื่นประธานสภาฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการออก พ.ร.ก. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งในวันที่ 18 พ.ค. ศาลมีมติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรค 1 ทำให้ พ.ร.บ.อุ้มหาย มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566 ดังเดิม 

แต่งตั้งบุคคลภายนอก แต่ยังเสียงน้อยกว่าข้าราชการ

อีกประเด็นที่น่าจับตาในกฎหมายอุ้มหายนั้น ในมาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการแต่งตั้งบุคคลภายนอกซึ่งมาจากการเสนอโดยกระทรวงยุติธรรม  ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบ 6 รายชื่อ ดังนี้ 

1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านสิทธิมนุษยชน และยังเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2.สมชาย หอมลออ ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านสิทธิมนุษยชน และเป็นที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งผลักดันประเด็นการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย

3.ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านกฎหมาย และเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านนิติวิทยาศาสตร์ และยังเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

5.พล.ต.ท. นายแพทย์พรชัย สุธีรคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ อดีตผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ

6.พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ และในปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสุขภาพจิต

นอกจากบุคคลภายนอกที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีขึ้นมาทั้ง 6 คน ยังมีกรรมการที่มาโดยตำแหน่ง ซึ่งประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ประธาน) , ปลัดกระทรวงยุติธรรม (รองประธาน) ,ปลัดกระทรวงกลาโหม, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, ปลัดกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, นายกสภาทนายความ, และประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

สำหรับบทบาทหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันการอุ้มหาย มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

1.เสนอความเห็นต่อ ครม.ขอให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบอื่นที่จำเป็นตาม พ.ร.บ.นี้

2.กำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการเพื่อป้องกันการทรมานและการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย

3.กำหนดแผนฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหาย โดยคำนึงถึงการทำให้กลับสู่สภาพเดิมเท่าที่จะเป็นไปได้

4.กำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินและจิตใจ โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

5.กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและการปกปิดการควบคุมตัวบุคคล และมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งข้อมูลการกระทำผิด

6.ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย หรือทำให้บุคคลสูญหาย พร้อมติดตมตรวจสอบข้อร้องเรียน

7.พิจารณาเกี่ยวกับการทรมานและการทำให้สูญหาย และรายงานผลดำเนินการประจำปีต่อ ครม. เพื่อเสนอต่อสภาและเผยแพร่ต่อประชาชน

ทั้งนี้ในส่วนการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมคณะกรรมการชุดนี้ให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเท่ากันให้ ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพื่อชี้ขาด ซึ่งหากวัดสัดส่วนแล้วบุคคลภายนอกที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา จะมีคะแนนเสียงน้อยกว่ากรรมการที่มาโดยตำแหน่ง

914 เรื่องรับลูกกฎหมายอุ้มหาย

สำหรับความคืบหน้าในการรับแจ้งเหตุความคุมตัวจากเจ้าหน้าที่รัฐ หลังกฎหมายประกาศใช้ตั้งแต่ 22 ก.พ.- 22 พ.ค. โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด รายงานว่า ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการ กระทำให้บุคคลสูญหาย สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับแจ้งการคุมตัวจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบทั้งหมด 914 เรื่อง

เป็นการเเจ้งเหตุการทรมานการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายจากผู้พบเห็นหรือทราบเหตุ จำนวน 3 เรื่อง รับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษไปแล้ว 2 เรื่อง แต่ปัจจุบันยังไม่มีเรื่องที่ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำทรมานการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยี

อ้างอิง

https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17227592.pdf

https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551/10164897263770551/?type=3