ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ เข้ายื่นหลักฐานสอบมรรยาททนายความของ ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ต่อสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี วัชระ สุคนธ์ กรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มารับคำร้อง เนื่องจากเห็นว่า พฤติกรรมของ ษิทรา ไม่เหมาะสมกับการเป็นทนายความ จึงมายื่นคำร้องเพื่อขอให้สภาทนายความลบชื่อ ษิทรา ออกจากการเป็นทนายความ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
อีกทั้งยังเห็นว่า มีทนายความโซเชียลอีกหลายคนที่มีพฤติกรรมเหมือนกับ ษิทรา ที่ชอบให้สัมภาษณ์ ไลฟ์ หรือออกรายการโทรทัศน์ชี้นำสังคมในคดีต่างๆ ก็อาจเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความเช่นกัน
ด้าน สมพร เปิดเผยว่า หลายครั้งหลายคราวที่ทนายตั้มแถลงข่าวออกสื่อ ส่วนตัวก็เห็นว่าไม่สมควร เข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ ซึ่งต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป ขณะที่ทนายความคนอื่นก็ต้องวางตัวให้เหมาะสมเช่นกัน
สำหรับการพิจารณาลงโทษทนายความที่ทำผิดมรรยาททนายความ มี 4 ระดับ คือว่ากล่าวตักเตือน , ภาคทัณฑ์ , พักใบอนุญาต ไม่เกิน 3 ปี และโทษหนักสุดคือลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ ส่วนการว่ากล่าวตักเตือน และภาคทัณฑ์ นั้นยังสามารถว่าความได้ แต่ความผิดที่ถูกพักใบอนุญาตและลบชื่อออกจากการเป็นทนายความนั้น ห้ามว่าความโดยเด็ดขาด
ด้าน วัชระ สุคนธ์ กรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า โดยส่วนตัวแล้ว พฤติกรรมของษิทรานั้นถือว่าเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ ซึ่งจะต้องนำคำร้องให้คณะกรรมการมรรยาททนายความพิจารณา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
สำหรับทนายความถูกลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ ทนายความผู้ถูกร้องยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีว่าการยุติธรรม เพื่ออุทธรณ์คำสั่งของสภาทนายความ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยังมีความเห็นเหมือนเช่นเดียวกับสภาทนายความ ก็ยังสามารถฟ้องศาลปกครอง เพื่อพิจารณาต่อไป
และหากครบกำหนด 5 ปี ที่ถูกลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ สามารถยื่นเรื่องขอเป็นทนายความกับสภาทนายความได้ แต่คณะกรรมการจะพิจารณาว่าสมควรจะให้กลับมาเป็นทนายความได้อีกหรือไม่อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถมาร้องที่สภาทนายความได้ หากพบทนายความที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ สภาทนายความพร้อมจะดำเนินการตรวจสอบทันที