ไม่พบผลการค้นหา
เดวิด ฮัตต์ ตั้งข้อสังเกตการวางเฉยของอียู ชี้ประเด็นไม่อยากถูกมองเลือกฝ่ายใดเป็นพิเศษ ทั้งยังต้องการผลักดัน FTA

เอเชียไทมส์ตั้งข้อสังเกตท่าทีของสหภาพยุโรปที่มีต่อการประท้วงในไทย หลังการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เพิ่งจบไปเมื่อ 28 ต.ค.กระทรวงการต่างประเทศของอียู (EEAS) ออกตัวมากสุดเพียงแถลงยืนยันความสำคัญของสิทธิมนุษยชน "ซึ่งรวมเสรีภาพในการรวมตัว แสดงออก และการทำงานของสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการประท้วงในปัจจุบัน" พร้อมย้ำให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมด

เดวิด ฮัตต์ ผู้เขียนบทความ ชี้ว่า ท่าทีนิ่งเงียบของรัฐบาลในประเทศฝั่งตะวันตกทั้ง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงองค์การสหประชาชาติ แท้จริงแล้วเกิดมาก่อนการประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก พร้อมนำประเทศไปสู่การปฏิรูปสถาบันสูงสุด

จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปเมื่อรัฐบาลนานาชาติเหล่านี้เลือกยอมรับผลการเลือกตั้งปี 2562 ว่าเป็นไปด้วยความยุติธรรมและถูกกฎหมายท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนักถึงความเอนเอียงเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลทหารในขณะนั้น 

คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป แถลงเห็นชอบกลับมาสานสัมพันธ์กับประเทศไทยเพิ่มเติมเมื่อ 14 ต.ค. 2562 หลังมีการเลือกตั้งในเดือน มี.ค.ของปีเดียวกัน โดยชี้ว่า "คณะมนตรีฯ เห็นชอบว่าปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับสหภาพยุโรปในการขยายความร่วมมือกับประเทศไทย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการยอมรับความหลากหลายบนหลักประชาธิปไตย"

ทั้งยังเน้น "ความสำคัญในการเดินหน้ากลับมาเจรจานโยบายเขตการค้าเสรี" หลังจากหยุดชะงักไปตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 

แฟลชม็อบอนาคตใหม่

ผู้เขียน ชี้ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ได้รับถึง 6 ล้านคะแนนเสียงจากข้อกล่าวหาเรื่องเงินบริจาคและเงินกู้ผิดกฎหมาย จริงอยู่ที่อียูออกมาแถลงว่าสิ่งที่เกิดขึ้น "เป็นการเดินถอยหลังของความหลากหลายทางการเมืองในประเทศไทย"

ทั้งยังเสริมว่า "เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้มีอำนาจต้องทำให้มั่นใจว่า ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาสามารถดำเนินหน้าที่ในรัฐสภาต่อได้ โดยไม่คำนึงว่ามาจากพรรคการเมืองไหน" ทว่าหลังจากแถลงดังกล่าว กลับไม่มีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมจากอียู 


มือไม่เปื้อน - ดันเรื่องการค้า

ผู้เขียนสะท้อนส่วนหนึ่งของการสงวนท่าที่มาจากความต้องการวางตัวออกห่างจากการตีความว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่มุ่งหมายให้ประเทศมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ยุโรป - เอเอฟพี
  • อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

ช่วงที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษนิยมในไทยเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม อาทิ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ iLaw ได้รับเงินสนับสนุนจากทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ประกอบกับท่าทีของรัฐบาลไทย ที่ใช้ความรุนแรงต่อการชุมนุมน้อยกว่าที่หลายฝ่ายประเมิน แม้มีการจับตัวแกนนำแต่ยอมปล่อยในเวลาต่อมา ทั้งยังไม่มีการสลายการชุมนุมเหมือนวันที่ 16 ต.ค.ผ่านการใช้แรงดันน้ำเกิดขึ้นซ้ำ 

ท่าทีชัดเจนที่สุดซึ่งออกมาจากฝั่งยุโรป เกิดขึ้นจากกรณีที่ไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเยอรมันกล่าวช่วงต้น ต.ค.ที่ผ่านมาว่า "เราแสดงจุดยืนชัดว่าประเด็นการเมืองของประเทศไทยไม่อาจสั่งการจากแผ่นดินเยอรมนีได้" มาสยังเสริมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้การพูดคุยเรื่องเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีอาจถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง 

เดวิด อ้างอิงแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อจากอียูว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สหภาพยุโรปมีท่าทีนิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น (โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาข่าวลือเรื่องโอกาสในการรัฐประหารซ้ำ) เป็นเพราะไม่ต้องการบั่นทอนความสัมพันธ์ให้แย่ลงไปอีก 

ตามตัวเลขในปี 2561 ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 25 ของอียู ด้วยมูลค่าการค้าราว 3.8 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 1.37 ล้านล้านบาท ทั้งยังมียุทธศาสตร์เป็นตัวเชื่อมนโยบายการทูตในภูมิภาค

นอกจากนี้ ผู้เขียนชี้ว่า ดูเหมือนอียูพยายามคงความสัมพันธ์ในการเจรจาเขตการค้าเสรีกับไทยให้สำเร็จ หลังจากปิดความตกลงกับทั้งเวียดนามและสิงคโปร์เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากความตกลงกับประเทศอื่นในภูมิภาค อาทิ ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย ยังมีปัญหาหลายอย่างที่ยังตกลงกันไม่ได้

อ้างอิง; Asia Times, Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;