ไม่พบผลการค้นหา
ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เตือนประชาชนเรื่องสารพิษตกค้างในผักผลไม้ โดยระบุว่าสารตกค้างกว่าร้อยละ 60 ไม่สามารถล้างออกได้ และการสุ่มตรวจของทางราชการทำได้แค่ประมาณร้อยละ 10 ของสารที่ใช้ในประเทศเท่านั้น

ศ. นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thiravat Hemachudha หลังจากสัปดาห์ก่อน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยแพร่รายงานการสำรวจสารพิษตกค้างในผักผลไม้ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย โดยระบุว่าได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผักและผลไม้จากทั่วประเทศ เพื่อตรวจหาสารพิษตกค้าง พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ 'ปลอดภัย' ต่อผู้บริโภค 

อย่างไรก็ตาม ศ. นพ. ธีระวัฒน์ แย้งว่า ยังมีข้อมูลอีกหลายประเด็นที่หน่วยงานรัฐไม่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบ และจำเป็นต้องช่วยกันกระจายให้ทราบกันทั่วประเทศ โดยเนื้อหาในเฟซบุ๊กกล่าวเพิ่มเติมว่า สารที่ตกค้างในผักผลไม้ส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 60.24 นั้น 'ล้างไม่ออก' และทางการไทยไม่ได้บอกว่า ห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์นั้น วิเคราะห์สารพิษกำจัดศัตรูพืชได้กี่ชนิด เพราะความครอบคลุมในการวิเคราะห์จะให้ผลเปอร์เซ็นต์การตกค้างแตกต่างกัน

นอกจากนี้ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมีประมาณ 280 ชนิด แต่การสุ่มตรวจที่ผ่านมาของหน่วยงานราชการส่วนใหญ่ตรวจได้เพียงร้อยละ 10 ของจำนวนสารที่มีการใช้ในประเทศเท่านั้น ส่วนห้องปฏิบัติการที่ไทยแพนใช้ตรวจสอบสารได้มากกว่า 400 ชนิด แต่ครอบคลุมชนิดสารที่ขึ้นทะเบียนประมาณร้อยละ 45 สิ่งที่หน่วยงานราชการแถลงต่อประชาชนเรื่องความปลอดภัยของผัก-ผลไม้จึงเต็มไปด้วยมายาคติหลายชั้น โดยเฉพาะการอ้างว่าแม้จะมีสารพิษตกค้าง แต่เมื่อประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่า 'ปลอดภัย' ถือเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ผักผลไม้และอาหารนั้นก็เป็นอาหารพิษ 

ศ. นพ. ธีระวัฒน์ ระบุด้วยว่า จะต้องเรียกร้องให้หน่วยงานราชการแถลงข้อมูลทั้งหมดต่อประชาชน รวมถึงข้อเท็จจริงว่าสารพิษที่ตกค้างส่วนใหญ่เป็นสารดูดซึม ทำให้วิธีการล้างผักแต่ละวิธีล้างออกได้ไม่เท่ากัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: