ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อทีมชาติเกาหลีใต้ลงแข่งขันฟุตบอลโลก ชาวเกาหลีเหนือจะเชียร์ทีมเชื้อชาติเดียวกันกับพวกเราหรือไม่? สำรวจความสัมพันธ์ของผู้คน 2 ชาติพลังโสม

ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ‘เกาหลีใต้’ เป็น 1 ใน 32 ทีม ที่ฝ่าฟันรอบคัดเลือกได้มาเล่นในรอบสุดท้ายที่รัสเซีย โดยเป็น 1 ใน 5 ของตัวแทนจากทวีปเอเชีย (รวมออสเตรเลีย) ในขณะที่ประเทศที่มีเชื้อชาติเดียวกันอย่าง ‘เกาหลีเหนือ’ ไม่ผ่านรอบคัดเลือกเข้ามาแข่งขันรอบสุดท้ายด้วย

แต่ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีเชื้อชาติและประวัติศาสตร์ร่วมกัน แถมยังเป็นคู่แข่งด้านการเมือง-การทหารกันอีกด้วย ชาวเกาหลีเหนือจะรู้สึกอย่างไรเมื่อทีมชาติเกาหลีใต้ได้โลดแล่นในฟุตบอลโลกครั้งนี้

หลังจากเกาหลีถูกแบ่งเป็น 2 ประเทศในปี 1957 ด้วยพิษสงครามเย็นของสองขั้วความคิดหลักของโลก ตั้งแต่นั้นมา 2 เกาหลีก็ได้แข่งขันกันในทุกด้าน ทั้งการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ รวมไปถึงเรื่องกีฬา

ในด้านฟุตบอล เกาหลีเหนือได้ไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก่อนในปี 1966 และทำผลงานได้ดีเสียด้วย พวกเขาผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ (ขณะนั้นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมีเพียง 16 ทีม) โดยการเอาชนะอิตาลีในเกมสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม เป็นชาติแรกที่ไม่ได้มาจากยุโรปและอเมริกา ที่สามารถผ่านรอบแรกของฟุตบอลโลกไปได้ แต่หลังจากนั้นเกาหลีเหนือก็ไม่สามารถเข้าไปสู่รอบสุดท้ายฟุตบอลโลกอีกถึง 38 ปี จนปี 2010 ที่แอฟริกาใต้

ในช่วงเริ่มแรกของการแยกประเทศเกาหลี ฝั่งใต้เป็นรองฝั่งเหนือที่สามารถพัฒนาประเทศได้รุดหน้ากว่าในทุกๆ ด้าน เกาหลีใต้เพิ่งมาพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดได้ในช่วงปี 1970 นี้เอง หลังจากนั้นเกาหลีใต้สามารถเข้ารอบสุดท้ายได้ครั้งแรกในฟุตบอลโลกปี 1984 ที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพ และจากนั้นเกาหลีใต้ก็ได้เข้าร่วมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายติดต่อกัน 9 ครั้ง จนถึงปัจจุบัน โดยผลงานที่ดีที่สุดคือการจบอับดับ 4 ในฟุตบอลโลก 2002 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น

แต่กระนั้นการแข่งขันกีฬาก็ถูกนำมาเชื่อมความสัมพันธ์ของ 2 ชาติด้วยเช่นกัน โดยก่อนที่เราจะได้เห็นการจับมือกันครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างสองผู้นำเกาหลีที่ 'เส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ' เขตแบ่งเกาหลีเหนือและใต้ สัญญาณแห่งสันติภาพมีมาตั้งแต่ที่ 'คิมจองอึน' ประกาศส่งนักกีฬาและทีมเชียร์เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่ฝ่ายเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งหากมองย้อนไปในอดีต การที่ประเทศเกาหลีใต้ได้จัดมหกรรมกีฬาระดับโลกเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีสำหรับรัฐบาลเกาหลีเหนือ

อย่างในปี 1988 กรุงโซลได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือในเวลานั้นไม่พอใจอย่างหนัก โดยพยายามจะขอเป็น 'เจ้าภาพร่วม' ระหว่างโซลกับเปียงยาง ทั้งพิธีเปิดและพิธีปิด รวมทั้งการแข่งขันก็ต้องจัดคนละครึ่งระหว่าง 2 เมือง แต่เมื่อเกาหลีฝั่งใต้ได้จัดโอลิมปิก 1988 เพียงผู้เดียว เกาหลีเหนือถึงขั้นส่งสายลับไประเบิดเครื่องบินพาณิชย์ของเกาหลีใต้เพื่อสร้างความวุ่นวายในช่วงเตรียมจัดการแข่งขัน (ดูเพิ่มเติม: The North Korean spy who blew up a plane, BBC, 22/4/2013)

ซึ่งการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโซลครั้งนั้นก็ไม่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ของเกาหลีเหนือ ในบทความ North Korea's Olympic Delegation to South Korea is a Huge Deal ของ Eric Stinton ระบุว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือได้ปกปิดเรื่องนี้ โดยบอกกับประชาชนว่า โอลิมปิก 1988 จัดขึ้นที่โตเกียว คำโกหกนั้นอยู่ทั้งในเอกสารทางการและหนังสือประวัติศาสตร์

พักอุยซง หนึ่งในผู้หลบหนีออกจากเกาหลีเหนือ ระบุว่าการรับรู้เรื่องที่รัฐปิดบังการจัดโอลิมปิกที่กรุงโซลเป็นสาเหตุหนึ่งให้เขาหนีออกมา ปัจจุบันเขาเขียนคอลัมน์ที่ชื่อว่า “Ask a North Korean” ลงใน เว็บไซต์ nknews.org 

“มันช็อกเหมือนกันที่รู้ว่าเกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก แต่ผมรู้สึกดีนะที่คนชาติเดียวกันได้จัดงานระดับชาติที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ... ในทางการเมืองรัฐบาลไม่พอใจแน่ๆ ที่ประเทศคู่แข่งได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า แต่พลเรือนอย่างเราถึงแม้จะเป็นเกาหลีใต้เราก็ยังภูมิใจ ที่ชาวเกาหลีได้ไปยืนอยู่บนเวทีระดับโลกแบบนั้น” พักระบุ

แม้เกาหลีทั้งสองจะแบ่งแยกประเทศออกจากกันมานานถึงกว่า 50 ปี มีทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่ต่างกัน แต่พบว่าสำนึกความเป็นชนชาติ ‘เกาหลี’ เดียวกันของทั้งสองฝั่งก็ยังคงอยู่ ความสำเร็จของเกาหลีใต้ก็ได้สร้างความภูมิใจให้คนเกาหลีเหนือด้วยเช่นกัน

ฮงคังชอล ชาวเกาหลีเหนืออีกคนที่แปรพักตร์เข้ามาอยู่กับเกาหลีใต้ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ยืนยันว่าไม่ใช่แค่เขาเท่านั้น แต่ชาวเกาหลีเหนือที่อยู่อีกฝั่งก็จะตามเชียร์พี่น้องเกาหลีในฟุตบอลโลกครั้งนี้ด้วยเช่นกัน และยังบอกว่า การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเป็นรายการโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมเป็นประวัติการณ์ในเกาหลีเหนือ (ดูเพิ่มเติม: North Koreans likely to tune in and support South Korea in World Cup, defectors say, Reuters, 18/6/2018)

ย้อนไปในฟุตบอลโลกปี 2010 เป็นครั้งแรกที่ทีมชาติของทั้ง 2 เกาหลีผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลรอบสุดท้ายด้วยกัน จากรายงานข่าว North Korea TV viewers see World Cup loss ของ BBC ระบุว่าตามบาร์หลายแห่งในกรุงโซลมีชาวเกาหลีใต้ที่ออกมานั่งเชียร์ทีมชาติเกาหลีเหนือ ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการออกมาเชียร์ทีมพี่น้องร่วมชาติเกาหลีด้วยกัน เพราะศัตรูของพวกเขาคือเหล่าผู้นำเกาหลีเหนือต่างหาก ไม่ใช่ประชาชนในประเทศ

เช่นเดียวกับ พักจีซอง กัปตันทัพโสมขาวเวลานั้น ที่ได้ออกมาบอกว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่จะติดตามผลงานของทีมชาติเกาหลีเหนือ โดยเขาหวังว่าฟุตบอลโลกจะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้กับชาวเกาหลีที่ถูกแยกออกจากกัน “ผมจะชมเกมของเกาหลีเหนือ เราทั้งเกาหลีเหนือและใต้พูดภาษาเดียวกัน แน่นอน เราคือประเทศเดียวกัน” อดีตผู้เล่นแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด กล่าว (ดูเพิ่มเติม: Park Ji-sung hopes World Cup can help unite a divided Korea, The Guardian, 28/5/2010)

Smanachan Buddhajak
0Article
0Video
0Blog