ไม่พบผลการค้นหา
มหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษแสดงความกังวลว่าอันดับของมหาวิทยาลัยจะตกลง หากยอมตัดเกรดในคะแนนที่ต่ำลงเพื่อช่วยนักศึกษาที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี ตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของรัฐบาล

มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในอังกฤษแสดงความกังวลว่าชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจะเสียหาย และอาจถูกลดอันดับ หลังรัฐบาลมีนโยบายบังคับให้มหาวิทยาลัยที่เก็บค่าเล่าเรียนมากกว่า 6,000 ปอนด์ หรือประมาณ 260,000 บาทขึ้นไปมี "แผนการเข้าถึงและเข้าร่วม" ของนักศึกษาฐานะยากจน

แผนงานที่มหาวิทยาลัยต้องเสนอต่อหน่วยงานควบคุมดูแลมหาวิทยาลัยอังกฤษจะต้องระบุว่า มหาวิทยาลัยจะคัดเลือกและดูแลให้นักศึกษาจากครอบครัวยากจนเรียนในมหาวิทยาลัยได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งวิธีการที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย คือการลดเกณฑ์การตัดเกรดสำหรับคนที่มีพื้นฐานครอบครัวยากจนที่ยื่นสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในแต่ละแห่ง ให้ต่ำลงกว่านักศึกษาจากครอบครัวที่มีฐานะดี

รายงานล่าสุดของศูนย์ขับเคลื่อนด้านสังคม มหาวิทยาลัยเอ็กซิเทอร์ได้รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ 9 แห่ง รวมถึง อ็อกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ บริสทัล และวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอนหรือ LSE ซึ่งรายงานเปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเหล่านี้กังวลว่าการลดเกณฑ์ตัดเกรดเฉพาะในมหาวิทยาลัยชั้นนำเท่านั้น จะทำให้พวกเขาตกอันดับ และมหาวิทยาลัยชั้นนำไม่ค่อยเต็มใจที่จะช่วยเกรดนักศึกษาที่ยากจน

ก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์อลัน สมิทเธอร์ส หัวหน้าศูนย์การศึกษาและการจ้างงานของมหาวิทยาลัยบักกิงแฮมเคยอ้างว่าแรงกดดันให้ต้องรับนักศึกษาที่มีฐานะยากจนเป็นหนึ่งในสาเหตุให้มหาวิทยาลัยอังกฤษหลายแห่งตกอันดับโลก เพราะมหาวิทยาลัยไม่มีเสรีภาพในการตัดสินใจด้วยตัวเองอีกต่อไป ในกระบวนการคัดเลือกนักศึกษาที่มีพรสวรรค์ที่สุดมาเรียน ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้อยู่ในอันดับสูง

นายสมิทเธอร์สยังมองว่า การกดดันให้ต้องรับนักศึกษายากจน ทำให้ความสนใจของมหาวิทยาลัยถูกเบี่ยงเบนไปจากการให้การศึกษาอย่างเต็มที่ในวิชาและสาขาที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด และดึงดูดนักศึกษาที่ดีที่สุดเข้าไปเรียน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานควบคุมดูแลมหาวิทยาลัยอังกฤษมองว่า มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องวางแผนที่ "ทะเยอทะยาน" กว่านี้ในการรับนักศึกษายากจนเข้าไปเรียนมากขึ้น เพราะความเท่าเทียมทางโอกาสในการเรียนต่อยังเป็นหนทางอีกยาวไกล ในอีกไม่กี่ปีที่จะถึงนี้ มหาวิทยาลัยจึงควรมีแผนที่ดีในการลดช่องว่างทางโอกาสนี้ลง


ที่มา: The Independent